ตั้งใจ - เจตนา - พยายาม

 
pdharma
วันที่  26 พ.ค. 2558
หมายเลข  26579
อ่าน  949

ตั้งใจรักษาศีล - เจตนาระลึก - เจตนาให้มีสติ - พยายามระลึกหรือให้มีสติ เหล่านี้ ถือเป็นความเพียรหรือวิริยเจตสิกที่เป็นกุศลหรือไม่ หรือว่าทั้งหมดเป็นอกุศลด้วยความติดข้องว่าเป็นตัวตน ทั้งนี้ เข้าใจว่าธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย ความตั้งใจรักษาศีล - การมีเจตนาระลึก - การมีเจตนาให้มีสติ ก็ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยด้วย ซึ่งอาจเป็นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดตามปกติ ตามที่สะสมมา เช่นนี้ก็ยังถือเป็นอกุศล ความเห็นผิดใช่หรือไม่แม้จะตั้งใจ เจตนา พยายามในทางกุศล ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นสำคัญ และที่สำคัญความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

เบื้องต้น ควรที่จะได้เข้าใจถึงคำที่กล่าวถึง คือ เจตนา กับ พยายาม

เจตนา เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายกระทำกิจตามประเภทของเจตนาและสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นๆ เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ทั่วไปกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา จะไม่ปราศจากเจตนาเจตสิกเลย เพราะฉะนั้น โดยชาติของเจตนา ซึ่งอาจจะเคยเข้าใจเพียงในลักษณะที่ว่า เป็นกุศลเจตนา หรือเป็นอกุศลเจตนา แต่ตามความจริงแล้ว เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพของเจตนาเจตสิก โดยชาติ (ความเกิดขึ้น) จึงมี ทั้ง ๔ ชาติ คือ เจตนาที่เป็นอกุศล ก็มี เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบาก ก็มี เจตนาที่เป็นกิริยาคือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก ก็มี ขึ้นอยู่กับว่า เจตนาจะเกิดกับจิตประเภทใด ก็มีความเสมอกันกับจิตประเภทนั้น ถูกต้องตามเหตุผล ในเมื่อเจตนาเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกก็ต้องมีครบทั้ง ๔ ชาติ คือ ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี โดยไม่ปะปนกัน เพราะฉะนั้นเจตนาไม่ใช่มีแต่กุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาเท่านั้น

พยายาม หรือ วิริยะ (ความเพียร) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นเจตสิกที่อุตสาหะค้ำจุนธรรมที่เกิดร่วมกันให้ไม่ท้อถอย ความพยายามหรือความเพียรนั้นเกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท [เว้นไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวารราวัชชนจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง เพราะจิต ๑๖ ดวงนี้กระทำกิจของตนๆ ได้ โดยไม่มีวิริยะเป็นปัจจัยเลย] ในขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ หรือ ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย ดังนั้น ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นกุศล และเพียรที่เป็นอกุศล ด้วย

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงพอที่จะเข้าใจในเบื้องต้นได้ว่า ธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ากล่าวถึงว่า ตั้งใจที่จะรักษาศีล ถือเอาเป็นข้อปฏิบัติด้วยดี ที่จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ขณะนั้นเจตนาก็มี วิริยะ ก็มี เป็นไปในทางทางฝ่ายกุศล และที่น่าพิจารณาต่อไปถึงประเด็นพยายามที่จะให้มีสติ พยายามที่จะระลึก ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องมั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความอยาก ความต้องการ เป็นอกุศลธรรมที่เป็นโลภะ และยิ่งถ้ามีความเห็นว่าต้องไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้ระลึกรู้สภาพธรรม ก็เป็นความเห็นผิด ในขณะนั้น ทั้งเจตนาและวิริยะก็เป็นอกุศลธรรมด้วย เพราะเกิดร่วมกับอกุศลจิต สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจธรรมเข้าใจในเหตุในผลว่า ที่จะมีการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องมีเหตุหรือมีรากฐานที่สำคัญมาจากการฟังพระธรรม ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไรก็ตาม ก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นตามใจชอบหรือด้วยการบังคับบัญชา

พระธรรม เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จึงต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เพราะไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ไม่พ้นจากธรรม ซึ่งถ้าไม่ตั้งต้นที่จะศึกษา ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 28 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pdharma
วันที่ 28 พ.ค. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 30 พ.ค. 2558

เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตได้ทั้ง 4 ชาติ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา ถ้าเจตนาที่เป็นกุศลก็เกิดกับกุศลจิต ขณะที่สติเกิดระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้แต่เจตนาก็เป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ใช่เรา เกิดแล้วดับทุกขณะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 4 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ