ความละอาย และ ความเกรงกลัวต่อบาป

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  4 ก.ค. 2558
หมายเลข  26726
อ่าน  35,900

หิริ (ความละอายต่ออกุศล) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) ต่างก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีด้วยกันทั้งคู่ เกิดพร้อมกันทุกครั้ง เป็นความละอาย และความเกรงกลัวต่ออกุศล กลัวต่อผลของบาปอกุศลที่จะเกิดขึ้น เพราะบาปอกุศลนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลัง ขณะใดที่เว้นจากความชั่ว บาป อกุศล ทุจริตทั้งปวง แม้ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงใด ขณะนั้นก็เป็นเพราะหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่รังเกียจ ละอาย กลัว และเกรงโทษของบาป เป็นสิ่งที่พอจะเห็นได้ว่าแม้ว่าทั้งหิริและโอตตัปปะจะเกิดร่วมกันก็จริง แต่ว่าขณะใดที่เกิดละเว้นอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด ขณะนั้นก็พอที่จะสังเกตสภาพของจิตได้ว่าในขณะนั้นจริงๆ ละเว้นเพราะรังเกียจ หรือว่าละเว้นเพราะกลัว เกรงโทษเกรงภัยของอกุศล

ถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นระดับของหิริโอตตัปปะว่ามีหลายขั้น ขณะที่ละเว้นจากทุจริต ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะขั้นหนึ่ง ระดับที่ละเว้นทุจริตกรรมเป็นหิริ โอตตัปปะขั้นหยาบขั้นหนึ่ง แต่ว่าขั้นละเอียดกว่านั้นอีก คือเห็นโทษของอกุศล คือ แม้ว่าจะไม่กระทำทุจริตกรรม แต่ก็ยังเห็นว่าอกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรละอาย ควรรังเกียจ

เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะของแต่ละบุคคล ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าในระดับไหน ในขั้นไหน ตามกำลังของปัญญา สำหรับผู้ที่ไม่กระทำชั่ว มีเหตุที่จะให้ละเว้นความชั่วซึ่งเป็นภายในเป็นสมุฏฐาน คือ มีตนเป็นใหญ่ ดังต่อไปนี้

ประการที่ ๑ คือ ไม่ทำชั่ว เพราะนึกถึงชาติ คือ การเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม ย่อมเป็นผลของกุศลกรรม และรู้ได้ว่า บุญญกิริยาวัตถุ (การกระทำความดีประการต่างๆ ) เป็นมนุษยธรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการระลึกถึงชาติ คือ การเกิดเป็นมนุษย์ ในขณะนั้นก็เป็นเหตุที่จะให้ละการกระทำทุจริต เพราะเห็นว่าการกระทำทุจริต การทำชั่ว เป็นการกระทำที่ต่ำทราม ไม่ใช่เป็นธรรมของมนุษย์ เมื่อระลึกได้อย่างนี้ ก็จะไม่ทำทุจริต ไม่ล่วงศีล

ประการที่ ๒ คือ ไม่กระทำชั่วเพราะระลึกถึงวัย เห็นว่าการทำชั่วเป็นเรื่องของเด็กหรือว่าผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่สามารถมีสติปัญญาพิจารณาความถูก ความควรได้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พ้นจากวัยเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องที่ควร ไม่ควรแล้ว ก็ควรจะเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า สิ่งใดไม่ควรจะกระทำ ในขณะนั้นก็เว้นความชั่ว เพราะระลึกถึงวัย รู้ว่า สิ่งใดที่เหมาะ สิ่งใดที่ควรแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทำสิ่งซึ่งเด็กที่เยาว์วัยกระทำได้เลย

ประการที่ ๓ คือ ไม่กระทำชั่วเพราะระลึกถึงความแกล้วกล้า เพราะเหตุว่า คนขลาดย่อมทำอกุศล แต่ว่าคนแกล้วกล้านี้ กล้าที่จะทำกุศลและไม่ทำอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนกล้าหาญ ที่จะไม่ทำอกุศล คนขลาดทำอกุศล เพราะเหตุว่ากลัวลำบากบ้าง กลัวยากจนบ้าง กลัวความทุกข์ต่างๆ บ้าง จึงเป็นเหตุให้กระทำทุจริต แต่คนกล้าหาญ แม้ว่าจะลำบาก แม้ว่าจะขัดสน แม้ว่าจะยากจน แต่ก็จะไม่ทำทุจริต คนแกล้วกล้านั้นกล้าละเว้นทุจริตได้ โดยไม่กลัวความลำบากต่างๆ

ประการที่ ๔ คือ ไม่กระทำชั่ว เพราะเห็นว่า คนทำชั่วเป็นคนไม่ฉลาด บุคคลใดก็ตามที่ทำชั่ว บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ฉลาด ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ ระลึกได้อย่างนี้ ก็จะไม่มีการทำทุจริตกรรมใดๆ เลย ธรรม ๒ ประการนี้ คือ หิริ และ โอตตัปปะ จึงเป็นธรรมคุ้มครองโลก เป็นเครื่องเกื้อกูลให้สัตว์โลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบร่มเย็น ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกันโดยประการทั้งปวง. ...ฯลฯ...


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kukeart
วันที่ 13 มี.ค. 2559

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 16 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 16 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
p.methanawingmai
วันที่ 27 ต.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สุดาทิพย์
วันที่ 8 ม.ค. 2563

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 20 มี.ค. 2566

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 20 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ