สหชาตาธิปติ และ อิทธิบาท

 
papon
วันที่  1 ธ.ค. 2558
หมายเลข  27276
อ่าน  1,539

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"สหชาตาธิปติปัจจัยและอิทธิบาท" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายในทั้งสองคำด้วยครับว่าทำไมมีรายละเอียดเหมือนกันครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ธ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิปติ หมายความถึงธรรมที่เป็นหัวหน้า เป็นธรรมที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น และเป็นไปตามกำลังของตน

ส่วนคำว่า สหชาตาธิปติ หมายถึง ธรรมที่เป็นหัวหน้า ที่ชักจูงให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นไปตามกำลังของตน

ประโยชน์ ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม คือ เข้าใจความจริง แม้แต่ในเรื่องของปัจจัย ซึ่งละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ก็เพื่อเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญของใครทั้งสิ้น

ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาพิจารณาไตร่ตรองในความเป็นจริงของธรรม ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้ยินได้ฟัง นั้น ก็เพื่อเข้าใจถึงความไม่ใช่เรา คือ เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เท่านั้นไม่ใช่เรา ครับ

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นนั้น เป็นอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ไม่มีปัญญาอย่างแน่นอน ก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้น จะมีฉันทะ เป็นใหญ่ หรือ มีวิริยะเป็นใหญ่ หรือ มี จิตตะ เป็นใหญ่

จิตตะ เป็นจิตที่มีกำลัง เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศล ก็ได้ แต่ถ้าเป็นวิมังสา (ปัญญา) แล้ว เป็นโสภณธรรม เท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตชาติอกุศลเลย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ฯ ได้ที่นี่ครับ

สหชาตาธิปติปัจจัยกับกิจการงานในชีวิต

อิทธิบาท ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด และที่สำคัญไม่ใช่เป็นเรื่องทำหรือเป็นเรื่องใช้ แต่ควรศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แม้แต่ธรรมในหมวดของอิทธิบาท ๔ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริง อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ สภาพธรรมที่พอใจเป็นไปในกุศลธรรม, วิริยะ ความเพียรเป็นไปในกุศลธรรม เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา, จิตตะ ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ วิมังสา คือ ปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง อิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นบาทหรือเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ ความสำเร็จในที่นี้หมายถึง สำเร็จเป็นฌานขั้นต่างๆ ถ้าเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนาสามารถข่มกิเลสได้ แต่ไม่สามารถดับได้ และเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ต่างๆ แต่ถ้าเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถทำให้บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ เพราะอิทธิบาททั้ง ๔ ประการนั้น เป็นฝักฝ่ายในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นธรรมขั้นสูงที่จะต้องเริ่มสะสมอบรมตั้งแต่เบื้องต้นด้วยการสะสมปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การเจริญอิทธิบาทดีแล้วเป็นอย่างไร

อิทธิบาท ๔

ทำไมผู้เจริญอิทธิบาท ๔ ถึงสามารถดำรงชีพได้หนึ่งกัปหรือมากกว่าได้

เรียนถามเรื่องจิตตะและวิมังสาในอิทธิบาท

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สหาชาตาธิปติ คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในหมู่ของสหชาตธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในขณะนั้น จะต้องเป็นสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ในสหชาตาธิปติปัจจัย ๔ คือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (จิตที่มีกำลัง ประกอบด้วยเหตุ ๒ ขึ้นไป) และ วิมังสา คือ ปัญญา

อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ (ฉันทเจตสิก ที่เป็นไปในกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา) วิริยะ (วิริยเจตสิก ความเพียรที่เป็นไปในกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา) จิตตะ (จิตที่มีกำลัง ที่ประกอบด้วยปัญญา) และ วิมังสา (ปัญญาเจตสิก ที่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง) ทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องเป็นกุศล ที่เป็นขั้น สมถภาวนา ที่เป็นฌานขั้นต่างๆ และในขั้นวิปัสสนาภาวนาครับ ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อธิปติปัจจัย กับ อิทธิบาท ๔

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 2 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.พ. 2559

กราบขอบพระคุณมากครับ และขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 16 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ