สิกขาบทที่ ๘ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์ - ภิกษุห้ามรับทองเงิน

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  21 มิ.ย. 2559
หมายเลข  27900
อ่าน  2,138

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

สิกขาบทที่ ๘ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามรับทองเงิน)

เจ้าของบ้านที่พระอุปนนทะ ศากยบุตร เข้าไปฉันเป็นนิตย์ เตรียมเนื้อไว้ถวายเวลาเช้า แต่เด็กร้องไห้ขอกิน ในเวลากลางคืน จึงให้เด็กกินไป รุ่งเช้าจึงเอา กหาปณะ (เงินตรามีราคา ๔ บาท) ถวาย พระอุปนนทะก็รับ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุรับเอง ใช้ให้รับทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้ เพื่อตน ๑ ทรงปรับอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

สิกขาบทที่ ๙ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ)

ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖) ทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ (ทอง เงิน หรือสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงิน ที่กำหนดให้ใช้ได้ทั่วไปในที่นั้นๆ) มนุษย์ทั้งหลาย พากันติเตียนว่า ทำเหมือนเป็นคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

สิกขาบทที่ ๑๐

โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามซื้อขายโดยใช้ของแลก)

ปริพพาชกผู้หนึ่ง เห็น พระอุปนนทะ ศากยบุตร ห่มผ้าสังฆาฏิสีงาม จึงชวนแลกกับท่อนผ้าของตน ภายหลังทราบว่าผ้าของตนดีกว่า จึงขอแลกคืน พระอุปนนทะไม่ยอมให้แลกคืน จึงติเตียนพระอุปนนทะ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทำการซื้อขาย ด้วยประการต่างๆ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (หมายถึงซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างนักบวชในพระพุทธศาสนาทำได้)

(๑. ภายหลัง ทรงอนุญาตให้ยินดีปัจจัย ๔ ได้ คือ ทายกมอบเงินไว้แก่ไวยาวัจจกร เพื่อให้จัดหาปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่ง ยารักษาโรค ภิกษุต้องการอะไร ก็บอกให้เขาจัดหาให้ จึงมีประเพณีถวายใบปวารณาปัจจัย ๔)

ขอเรียนถามว่า ที่ว่า ภายหลัง ทรงอนุญาตให้ยินดีปัจจัย ๔ ได้มีหลักฐานอยู่ที่ไหน อย่างไร ในพระไตรปิฎก กรุณายกขึ้นแสดงด้วย / อย่างนี้ ก็เป็นข้ออ้างให้ รับเงินทองไว้ได้ รับได้ไม่จำกัดจำนวนเสียด้วยกระมัง

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 มิ.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


เงินทอง ไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง เพราะผู้มีอัธยาศัยที่จะบวชเป็นพระภิกษุจะต้องสละทรัพย์สมบัติก่อนแล้วจึงบวช เมื่อบวชเข้าไปแล้ว จึงไม่สามารถรับเงินและทองได้ ซึ่งจะต้องมีกิจที่สำคัญคือ ประพฤติตามพระวินัย และจะต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจด้วย เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ส่วนประเด็นที่กล่าวถึงนั้น มีข้อความแสดงไว้ชัดเจนว่า พระภิกษุ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทอง โดยประการทั้งปวง คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธา นำเงินไปมอบไว้ให้กับไวยาวัจกร (คฤหัสถ์ผู้ขวนขวายทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์) แล้วไวยาวัจกรจัดหาปัจจัย ๔ (จีวร อาหาร เสนาสนะ และยารักษาโรค) ด้วยเงินดังกล่าวนั้น แล้วนำสิ่งของที่ได้มา ไปถวายแก่พระภิกษุ อย่างนี้ เป็นสิ่งที่กระทำได้ โดยที่ไม่ใช่การนำเอาเงินที่คฤหัสถ์มอบไว้ไปให้พระภิกษุ

ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้ภิกษุรับและยินดีในเงินและทอง ถ้าภิกษุรูปใดรับเองก็ดี ให้คนอื่นรับแทนก็ดี ซึ่งเงินและทอง และยินดีในเงินและทองที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ต้องสละเงินนั้นก่อน จึงจะปลงอาบัติและพ้นจากอาบัติดังกล่าวได้ ถ้าประมาท ไม่สละแล้วปลงอาบัติ เป็นผู้มีอาบัติติดตัวอยู่ ถ้าหากมรณภาพไป ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไม่ว่าจะบวชนานหรือไม่นาน ก็ตาม ครับ

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ ๘๖๒

สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส มนุษย์เหล่านั้น ย่อมมอบหมายเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้กระทำในสิ่งที่เหมาะควร) ทั้งหลาย สั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควรถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเงินและทองนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะ (สมควร) จากเงินและทองนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ "

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pulit
วันที่ 25 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ