ศีลห้าในพระไตรปิฏก

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  24 ส.ค. 2559
หมายเลข  28121
อ่าน  4,391

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ในพระไตรปิฏกแสดงศีลห้าไว้ในส่วนใดบ้าง และโดยสรุปเป็นสภาพธรรมอย่างไร

๒. สมัยพุทธกาลคงมีแต่ฟังธรรม สนทนาธรรม คงไม่มีพิธีการ ขอศีล รับศีล รักษาศีล หากมี เป็นไปในลักษณะใด ช่วยแสดงว่าปรากฏในส่วนใดด้วยค่ะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงไว้ว่า ศีล ๕ ได้แก่ .-

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)

๒. อทินนาทานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

๔. มุสาวาทา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ)

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

ศีลเป็นเรื่องปกติจริงๆ ไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปทางกายทางวาจา ของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นกุศลหรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากิเลสหนาแน่นมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบ และจะได้ตรวจสอบตนเองว่า มีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามี ของผู้อื่น มีการพูดเท็จ มีการดื่มสุราเมรัยของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่? ซึ่งเป็นการตรวจสอบในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม

ศีล ๕ นั้นเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ดังนี้ คือ ศีลข้อที่ ๑ การเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นการให้ชีวิต ให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัย แก่สัตว์ทั้งหลาย ศีลข้อที่ ๒ การเว้นจากการลักทรัพย์ ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ศีลข้อที่ ๓ การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่บุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น ศีลข้อที่ ๔ การเว้นจากการพูดเท็จ ชื่อว่า ให้ความจริง แก่ผู้อื่น และศีลข้อที่ ๕ การเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วย

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สัพพลหุสสูตร .. เสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓

จึงกล่าวสรุปได้ว่า ศีล 5 ก็คือ กุศลศีล ที่เป็นปกติที่เป็นไปในกาย วาจาที่ดี ที่งดเว้นจากบาปซึ่งไม่ต้องมีตัวตนต้องไปรับศีล เพราะ ศีล กุศลศีลเกิดขึ้นจากใจที่เห็นประโยชน์ ด้วยความเข้าใจถูกในขณะนั้น ศีลจะบริสุทธิ์ก็เพราะมีปัญญา การบรรลุเป็นพระโสดาบัน ปัญญาเป็นสำคัญ ส่วน การไม่ล่วงศีล 5 อีกเลย เป็นผลมาจากการบรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งเป็นผล ไม่ใช่เหตุ ซึ่งธรรมดาของปุถุชน ย่อมมีโอกาสล่วงศีล ได้เป็นธรรมดา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม แม้พระโพธิสัตว์ก็ล่วงศีลได้ แม้ ชาติสุดท้ายของพระอริยสาวก ก็ล่วงศีล 5 เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก่อนบรรลุ แสดงถึงความเป็นไปของสภาพธรรม ที่ถ้าไม่ใช่พระโสดาบันแล้ว ก็มีโอกาสล่วงศีลได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมจะต้องละเอียดรอบคอบ แยกระหว่างเหตุและผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อะไรคือเหตุ ให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน คือ การเจริญอบรมปัญญา คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น พร้อมด้วยศีล คือ อินทรียสังวรศีล และ พร้อมด้วยสมาธิ และ ด้วยปัญญา เป็นไตรสิกขาในขณะนั้น

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเข้าใจเบื้องต้น คือ พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด ไม่ใช่เรื่องของพิธีกรรมที่ทำสืบๆ ต่อกันมาด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องการกล่าวคำที่ไม่รู้จักตามๆ กัน, ผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีการฟัง มีการศึกษาสนทนาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้น คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น เมื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ก็เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม อื่นๆ ด้วย รวมถึง ศีล (ที่เป็นกุศลศีล) ด้วย ก็คล้อยตามปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก สิ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก

พุทธศาสนิกชน คือ ผู้ที่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาในส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล และ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน

สำหรับศีลที่เป็นกุศล ๕ ข้อ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น นั้น ก็จะพิจารณาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรละเว้นจริงๆ ได้แก่

๑. ละเว้นการฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์ทุกชีวิต ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า และที่น่าพิจารณา คือ จะต้องไม่มีการเบียดเบียนด้วย ไม่ใช่ละเว้นเพียงการฆ่าอย่างเดียว

๒. ละเว้นการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แม้เพียงความคิด ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนชอบของของคนอื่น แต่ลองคิดดู สิ่งที่ท่านชอบ เจ้าของเขาต้องชอบด้วยเช่นกัน ในเมื่อท่านยังชอบของของเขา เขาก็ต้องชอบของของเขาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้ความคิดก็ไม่ควรที่จะคิดต้องการถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของคนอื่นมาเป็นของตน

๓. ละเว้นการประพฤติผิดในกาม ไม่ประพฤติผิดในบุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น ถ้าเว้นได้ ก็เป็นการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างแท้จริง

๔. ละเว้นจากการพูดมุสาวาท คือ คำพูดที่ไม่จริง เพราะเหตุว่าคำพูดที่ไม่จริง ไม่มีใครชอบเลย แม้แต่ธรรมที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผล ก็เป็นมุสาวาท เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความจริง พูดสิ่งที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม ทุกเรื่องที่เป็นมุสาวาท คือ คำไม่จริง แม้เพียงเล็กน้อย ต้องเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ แล้วก็มีวิริยะที่จะงดเว้น ไม่พูดคำที่ไม่จริง แม้เป็นเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นว่า ไม่เป็นโทษกับคนอื่น แต่ว่าการเสพคุ้นบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้คุ้นเคยกับการกล่าวมุสาวาทได้ง่าย และยิ่งเห็นว่า ไม่เป็นโทษเป็นภัย ก็ยิ่งกล่าวไปเรื่อยๆ พอกพูนอกุศลเป็นเรื่อยๆ จนหนานแน่นขึ้น เป็นผู้ไม่ตรงต่อความจริง

๕. ละเว้นการดื่มสุรา หรือว่าของเสพติด ของมึนเมาทุกประเภท เพราะเห็นโทษว่า ผู้ที่ขาดสติ ย่อมทำสิ่งซึ่งปกติแล้วจะทำไม่ได้ แม้แต่การฆ่ามารดาบิดาก็ทำได้ เป็นต้น นั่นต้องเป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มึนเมาและไม่มีความรู้สึกตัว เพราะโดยปกติชีวิตปุถุชนหนาแน่น มากไปด้วยกิเลสอยู่แล้ว ยิ่งเติมเชื้อที่จะเป็นเหตุให้เกิดความมัวเมาขึ้น ก็ยิ่งส่งเสริมให้กระทำในสิ่งที่ผิด ได้ง่าย

นี้คือชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นผู้รักษาศีล ๕ เพราะเห็นโทษ ไม่ใช่เพราะคิดว่า เมื่อเป็นข้อห้ามก็จะไม่ทำ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำใดที่เป็นข้อห้ามเลย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุและผลของธรรมทุกอย่าง เพื่อจะให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น ขัดเกลากิเลสของตน เป็นผู้ที่นับถือในเหตุผล และเข้าใจในเหตุและในผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องกลับมาที่เหตุที่สำคัญ คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะอุปการะเกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ และน้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะปัญญา ไม่นำพาไปในทางที่ผิด ไม่นำพาไปสู่ความเสื่อม มีแต่จะนำพาไปสู่ความดีทั้งปวงเท่านั้น

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 26 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kukeart
วันที่ 31 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.ย. 2559

ศีลเกิดขึ้นเป็นปกติแม้ไม่สมาทานวิรัติเฉพาะหน้าก็ได้ เช่น ขณะที่กุศลจิตเกิดงดเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็รู้ว่าแม้ขณะนั้นก็ไม่มีใครงดเว้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 1 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 2 ก.ย. 2559

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ