อบรมปัญญา แต่ต่อต้านสมาธิ

 
manawan1234
วันที่  26 ก.ย. 2559
หมายเลข  28233
อ่าน  2,868

กราบเรียนถามท่านผู้รู้ดีและชอบ

ได้ฟังมาจากสำนักที่สอนเน้นด้านปัญญา แต่ต่อต้านการนั่งสมาธิโดยอ้างว่า นั่งไปก็บรรลุไม่ได้ ควรพิจารณาด้วยปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงจะดีกว่า เขาอ้างว่าแค่เดินก็ให้รู้ว่าเดิน จะได้ไม่เตะโน่นนี่ ก็ถือว่าเป็นการทำสมาธิแล้ว

ขอความกระจ่างเรื่องการอบรมสมาธิกับปัญญาด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สาวก แปลว่า ผู้สำเร็จการฟัง ถ้าไม่มีปัญญาขั้นการฟัง บอกให้ไปนั่งสมาธิ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร สมาธิมีอะไรบ้าง จะทำในสิ่งที่ไม่รู้ เป็นสิ่งที่ถูกหรือเป็นสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ความเข้าใจเรื่องอื่นๆ ก็ไม่สามารถจะมีได้ และ สำคัญว่า การปฏิบัติ คือ การนั่งสมาธิ แต่ ในความเป็นจริง ปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนาที่เป็นหนทางการดับกิเลส มีหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน 4 คือ การเจริญวิปัสสนา รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา

ซึ่งจะขอเพิ่มเติม เรื่องสมาธิ ให้เข้าใจถูกว่า สมาธิ ไม่ใช่มีเฉพาะ สิ่งที่ดีเท่านั้น สิ่งที่ไม่ดีก็มีด้วย ที่เป็นมิจฉาสมาธิ ครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่า สมาธิ ว่าสมาธิ คือ อะไร? สมาธิเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมหนึ่งที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้น ดังนั้นทุกขณะมีสมาธิ เกิดแน่นอน แต่ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดกับกุศล ก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเป็นความถูกต้อง ในขณะที่เป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้

แต่เมื่อกล่าวโดยละเอียดลงไปแล้ว สัมมาสมาธิ หมายถึงนัยที่เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญภาวนา ๒ อย่างที่เป็นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา, การอบรมความสงบของจิต ที่รู้ถึงความแตกต่างระหว่างกุศลกับอกุศล พร้อมทั้งรู้ด้วยว่ามีทางที่จะทำให้สงบระงับจากอกุศลได้ ก็เจริญสมถภาวนาเป็นไปในอารมณ์ที่ทำให้เกิดกุศลจิตติดต่อกันไป จนปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นที่เป็นสมาธิ จนได้ฌานขั้นต่างๆ อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ที่เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญสมถภาวนา ซึ่งจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้

ส่วนสัมมาสมาธิที่เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญวิปัสสนานั้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้นสัมมาสมาธิก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่สติระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะเกิดพร้อมกับมรรคองค์อื่นๆ และเจตสิกธรรมประเภทอื่นๆ และเกิดร่วมกับจิตด้วย เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมทั้งหมด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ก็จะไม่เข้าใจผิดว่า ก่อนจะเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องเจริญฌานก่อน แท้ที่จริงแล้วการอบรมเจริญฌาน เป็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่เหมือนกันเลย แม้ไม่ได้เจริญฌาน ก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นการเจริญขึ้นของปัญญาที่เป็นไปในการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย สำคัญที่การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 27 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน
สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป
สมาธิที่ควรอบรมคือสัมมาสมาธิซึ่งเป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา (ภาวนา) ในชีวิตประจำวัน ภาวนาไม่ใช่การท่องบ่น แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญา จากที่ยังไม่มีก็มีขึ้น เมื่อมีแล้วก็อบรมเจริญให้มีมากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ
อีกคำหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตนหรือความติดข้องต้องการ แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงจะเข้าใจ และที่สำคัญ พระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือ จะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 27 ก.ย. 2559

ถ้าปัญญาเกิดขณะนั้นมีสมาธิแน่นอน แต่ถ้าเป็นสมาธิไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้เช่น มิจฉาสมาธิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
manawan1234
วันที่ 29 ก.ย. 2559

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Tommy9
วันที่ 29 ก.ย. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
apichet
วันที่ 29 ก.ย. 2559

ขอบคุณทุกคำตอบ ที่ยืนยันไปในทางเดียวกันเหมือนที่อาจารย์สุจินต์ ฯ บรรยายเลย ขอบคุณครับ ผมดีใจกระจ่างในคำสอนคำตอบนี้มากเลยครับไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิดแล้วจะตั้งใจฟังต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สุณี
วันที่ 29 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
rrebs10576
วันที่ 30 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 2 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Avitathata
วันที่ 3 ต.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ