ลักษณะของศรัทธา

 
asp
วันที่  13 ธ.ค. 2559
หมายเลข  28430
อ่าน  10,559

ผมเข้าใจว่าลักษณะของศรัทธาคือเชื่อถือเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ได้ยิน อ.บรรยายว่ามีลักษณะผ่องใส จึงถามในที่นี้เพือความชัดเจนครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัทธา เป็นภาษาบาลี ส่วน ศรัทธา ก็มีความหมายเดียวกับ สัทธา เพราะมาจากคำเดียวกัน คือ สัทธา ครับ ซึ่ง สัทธา หรือ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และ สัทธา หรือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ 2 อย่างคือ

1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

2. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ส่วน คำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ซึ่ง ปสาทะ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของศรัทธา (ศัทธา) เช่นกัน หรือ บางครั้งก็ใช้เหมือนกันได้ ที่หมายถึง ศรัทธา (สัทธา) แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ ในคำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ยังสามารถใช้ในความหมายอื่นๆ เช่น ลักษณะสภาพธรรมใดๆ ที่ผ่องใส ก็ชื่อว่า ปสาทะ เช่น ใช้ในความหมายของรูป ประเภทต่างๆ เช่น จักขุปสาทรูป ที่ เป็น ลักษณะของรูปที่ผ่องใส กระทบสีได้ โสตปสาทรูป เป็นต้น

ซึ่ง ในการแสดง ถึง ปสาทะ ที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกดังนี้

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑- หน้าที่ 355

ข้อความบางตอนจาก...

อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ ๓ ดังต่อไปนี้. บทว่า สทฺธา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา. ในความว่า สทฺธา นั้น ศรัทธามี ๔ คือ อาคมนีย- ศรัทธา อธิคมศรัทธา ปสาทศรัทธา โอกัปปนศรัทธา. บรรดาศรัทธา ทั้ง ๔ นั้นอาคมนียศรัทธา ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญู. อธิคมปสาท ศรัทธา ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ส่วนเมื่อเขาว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ก็เลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา. ส่วนความปักใจเชื่อ ชื่อว่า โอกัปปน- ศรัทธา.

ซึ่งจากข้อความในพระไตรปิฎก มีศรัทธา หรือ สัทธา 4 อย่าง คือ

1. อาคมนียศรัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. อธิคมศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดจากการบรรลุธรรม

3. ปสาทศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

4. โอกัปปนศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากความปักใจเชื่อ แสดงให้เห็นว่า ปสาทะ ก็เป็นชื่อหนึ่งของศรัทธาด้วย ที่เป็น ปสาทศรัทธา เป็น ความเชื่อ เลื่อมใส ในพระรัตนตรัย


จากคำถามที่ว่า ศรัทธา สัทธาเกิดขึ้นได้อย่างไร เสื่อมไปหมดไปได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

- สภาพธรรมที่เป็น สัทธา สัทธาเจตสิก เป็นสังขารธรรม ที่จะต้องเกิดขึ้น และดับไปเสมอ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็เกิดขึ้น ดังนั้น ขณะใดที่ จิตทีดีเกิดขึ้น จะต้องมีสัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ และ สัทธาเจตสิกนั้นก็ต้องดับไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา ซึ่งเหตุให้เกิดศรัทธา ศรัทธา จะเกิดเพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องมีเหตุ นั่นคือ อาศัยการฟังพระธรรม จากสัตบุรุษ มีการได้อ่าน ได้ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ความศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่า การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดศรัทธาเพิ่มขึ้นนั้น เพราะการฟังศึกษาพระธรรม เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะอาศัยความเข้าใจถูก ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทำให้ละคลายกิเลส ละความไม่รู้ และคิดถูกต้องตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เห็นพระพุทธคุณ หรือ คุณของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริงว่า พระองค์ทรงแสดงพระธรรมที่ถูกต้อง และทรงมีพระปัญญา จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เพราะอาศัยปัญญาที่เกิดจากการศึกษา ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ และเมื่อเข้าใจถูกในพระธรรมที่ได้ศึกษา ก็เกิดความเลื่อมใส เกิดศรัทธาเพิ่มขึ้นในพระธรรม ทำให้เห็นประโยชน์ ในคุณค่าของการได้ศึกษาพระธรรม และศึกษาพระธรรมต่อไป ก็มีศรัทธาในพระธรรมเพิ่มขึ้น เพราะปัญญาที่เพิ่มขึ้น และเมื่อมีความเข้าใจพระธรรม เมื่อเห็นพระภิกษุ ก็เกิดความเลื่อมใส ในพระภิกษุ โดยไม่ได้จำเพาะ เจาะจงว่าท่านจะมีกิริยา อาการอย่างไร แต่น้อมนึกถึงคุณของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็เกิดความเลื่อมใสในพระสงฆ์ด้วย

นี่แสดงถึง เหตุให้เกิดศรัทธา ในพระพุทธศาสนา คือ การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเกิดปัญญาของตนเอง ก็จะทำให้ศรัทธาเพิ่มขึ้้น และที่ละเอียดลงไปอีกในสภาพธรรมที่เป็นศรัทธา คือ ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตที่ดี เช่น กุศลจิต ดังนั้นขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็มีศรัทธาเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นกุศลทุกๆ ประการ คือ ทาน ศีล การฟังธรรม เจริญปัญญา มีศรัทธาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ยิ่งกุศลจิตเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ศรัทธาก็มีมากเท่านั้น กุศลจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเกิดขึ้นของปัญญา ก็กลับมาที่เหตุให้เกิดปัญญา และศรัทธา ก็คือ การฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงเหตุให้เกิดศรัทธา เจริญขึ้นของศรัทธา ดังนี้

เรื่องเหตุให้เกิดศรัทธา

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

ข้อความบางตอนจาก...

ตัณหาสูตร

.... แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร (เหตุ) มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ


เชิญคลิกอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

สัทธา (1)

สัทธา (2)

สัทธา (3)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่ศรัทธาก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ศรัทธาเกิดเมื่อใด อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้เลย การศึกษาพระธรรมประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย แม้แต่คำที่กล่าวถึงคือศรัทธา

ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ดังนั้น ศรัทธา ก็ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ความเป็นจริงของศรัทธา จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ละเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมเกื้อกูลให้ศรัทธาเจริญยิ่งขึ้นได้

ในบางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้าคือเกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วยครับ.

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 13 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Lertchai
วันที่ 15 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tuijin
วันที่ 15 ธ.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 15 ธ.ค. 2559

ศรัทธาที่ใช้ทั่วไปในภาษาไทย ศรัทธาในเรื่องถูกก็ได้ เรื่องผิดก็ได้ แต่ในคำอธิบายข้างบน หมายถึง ศรัทธาเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ