ทรัพย์สินเงินทองกับภิกษุ : เรื่องที่ชาวพุทธต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ม.ค. 2560
หมายเลข  28530
อ่าน  4,130

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

* * ทรัพย์สินเงินทองกับภิกษุ :

เรื่องที่ชาวพุทธต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ * *

โดย คุณจักรกฤษณ์ เจนเจษฎา

สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๗๓

เข้าใจผิด
๑. ภิกษุสามารถมีทรัพย์สินได้ตามสมควรเพื่ออยู่ได้ในสังคมอย่างเหมาะสม

เข้าใจถูก

๑. ตามพระธรรมวินัย เครื่องใช้สอยของพระภิกษุที่ทรงอนุญาต มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ เท่านั้น ดังนั้น ภิกษุไม่อาจสะสมทรัพย์สมบัติได้เกินไปกว่านี้

เข้าใจผิด

๒. ภิกษุรับเงินและทอง และสะสมไว้เพื่อใช้สอยเท่าที่จำเป็นได้ เช่น ซื้อของใช้จำเป็นส่วนตัว ใช้ทำธุระส่วนตัวต่างๆ

เข้าใจถูก

๒. พระวินัยบัญญัติว่า “ภิกษุรับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเข้าเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” ดังนั้น ภิกษุไม่อาจรับเงินทองได้ แม้จะรับไว้เพื่อใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น หรือทำธุระที่จำเป็นก็ตาม ถือว่าผิดพระวินัยเป็นอาบัติ ส่วนเรื่องที่อ้างว่าจำเป็นนั้น จำเป็นจริงหรือไม่ หากจำเป็นจริงๆ ก็ควรหาวิธีเหมาะสมที่ไม่ทำให้ละเมิดพระวินัยเป็นหลัก ชีวิตภิกษุย่อมไม่สะดวกสบายเช่นคฤหัสถ์ เพราะท่านสละสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งในเพศนี้ ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า เงินทองควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณควรแก่ผู้นั้น นี้คือคำเตือนที่สำคัญที่สุด

เข้าใจผิด

. ภิกษุรับเงินทองได้ หากไม่ได้ติดข้องในเงินและทองนั้น และมีไว้เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา

เข้าใจถูก

๓. พระวินัยบัญญัติทรงห้ามรับหรือแม้แต่ยินดีในเงินและทอง ไม่ว่าจะติดข้องหรือไม่ติดข้อง เพราะเงินและทองเป็นวัตถุอนามาส คือ วัตถุต้องห้ามจับต้อง ไม่สมควรแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง โดยไม่มีเหตุให้ยกเว้นเลย

เข้าใจผิด

๔. ภิกษุมีทรัพย์สินจำเป็นในการดำรงชีวิตได้ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้สอยต่างๆ เครื่องนุ่งห่มที่จำเป็น ฯ

เข้าใจถูก

๔. ทรัพย์สินที่จำเป็นอื่นๆ นอกจากอัฐบริขารที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตนั้น ควรเป็นของสงฆ์โดยรวม ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวที่สะสมไว้ใช้เอง เพราะแม้จีวรและบาตร พระวินัยยังบัญญัติให้มีได้จำกัด เป็นต้น ดังนั้น ทรัพย์สินอื่นๆ จึงไม่ควรที่ภิกษุจะสะสมไว้เป็นของตน

เข้าใจผิด

๕. ภิกษุมีทรัพย์สินที่จำเป็นในการติดต่อสื่อสารหรือเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่พระธรรมได้ เช่น มีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ วิทยุ ทีวี เป็นต้น

เข้าใจถูก

๕. ทรัพย์สินในลักษณะนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินจำเป็นของภิกษุ เพราะโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารต่างๆ เปรียบเสมือนการพูดคุยส่วนตัวระหว่างภิกษุกับฆราวาส การมีไว้ส่วนตัวเป็นการคลุกคลีโดยไม่จำกัดกาละ นำไปสู่สิ่งที่ไม่ควรตามพระวินัย การจะใช้ก็ควรกระทำโดยเฉพาะตามพระธรรมวินัยเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สำหรับคอมพิวเตอร์ วิทยุ ทีวี เป็นอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น ข่าวสารบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องของภิกษุ และนำมาซึ่งความวุ่นวายต่างๆ ดังนั้น จึงไม่ควรมีไว้เป็นของส่วนตัว

เข้าใจผิด

๖. ภิกษุมีทรัพย์สินที่ญาติโยมนำมาฝากไว้ได้

เข้าใจถูก

๖. ภิกษุไม่อาจรับฝากเงินทองทรัพย์สินสิ่งของของฆราวาสได้ ไม่ใช่กิจของภิกษุ การรับฝากไว้เป็นอาบัติปาจิตตีย์

เข้าใจผิด

๗. ภิกษุมียานพาหนะและใช้ยานพาหนะที่จะให้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อทำธุระที่จำเป็นได้

เข้าใจถูก

๗. การใช้พาหนะหรือยานของภิกษุตามพระธรรมวินัยที่ทรงอนุญาตเมื่อภิกษุนั้นป่วยเท่านั้น ภิกษุจึงไม่อาจมีพาหนะของตนเองได้เลย แม้แต่การใช้พาหนะก็เป็นอาบัติ

เข้าใจผิด

๘. ภิกษุรับเงินมาใช้จ่ายจำเป็นภายในวัดได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น

เข้าใจถูก

๘. ภิกษุไม่อาจรับเงินได้ไม่ว่ากรณีใด สำหรับค่าใช้จ่ายภายในวัด ควรเป็นภาระของไวยาวัจกรของวัดเป็นผู้ดูแล ฆราวาสควรบริจาคเงินให้ไว้แก่ไวยาวัจกรเพื่อจัดการดูแลคณะสงฆ์ในวัด ไม่ควรถวายเงินให้ภิกษุ ไม่ว่าโดยการถวายใบปวารณาก็ตาม เพราะเป็นการให้เงินแก่ผู้อื่นเก็บไว้แทน ไม่ต่างไปจากการถวายเงินไว้ให้ผู้อื่นแทนเช่นกัน ยังทำให้ภิกษุยุ่งเกี่ยวกับเงินและทองอยู่

เข้าใจผิด

๙. วัดหลายแห่งไม่อาจหาไวยาวัจกรได้ หรือไวยาวัจกรไม่น่าเชื่อถือและไว้ใจ เจ้าอาวาสจึงต้องรับผิดชอบดูแลเงินของวัดแทน

เข้าใจถูก

๙. ภิกษุกับฆราวาสต่างเป็นพุทธบริษัทที่ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน วัดวาอารามย่อมตั้งอยู่ในชุมชนชาวพุทธที่มีความเลื่อมใสศรัทธา การดูแลเรื่องภายในวัดที่จำเป็นสำหรับภิกษุ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะภิกษุต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย วัดที่ภิกษุประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ย่อมนำศรัทธาและความเลื่อมใสทำให้ชุมชนสรรหาและจัดหาไวยาวัจกรช่วยดูแลเหล่าภิกษุสงฆ์ในวัดนั้นๆ ให้เหมาะสมได้

เข้าใจผิด

๑๐. ภิกษุต้องหาเงินมาก่อสร้างอาคารสถานที่ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป ประติมากรรม เพื่อการเคารพบูชาได้ เป็นการเผยแพร่พระศาสนา

เข้าใจถูก
๑๐. พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า มหาวิหาร เจดีย์ เป็นร้อยเป็นพัน ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้ แม้แต่วันหนึ่งบ้าง แม้ชั่วดื่มข้าวยาคูครั้งหนึ่งบ้าง แต่การที่พุทธบริษัทมีสัมมาปฏิบัติ จึงจะชื่อว่าเป็นการบูชาที่สมควร ชื่อว่า ดำรงอยู่แห่งพระศาสนาไว้ได้ งานก่อสร้างสิ่งต่างๆ จึงไม่ใช่การเผยแพร่พระศาสนา ส่วนจะมีการก่อสร้างสถานที่จำเป็นใดๆ ก็เป็นเรื่องของฆราวาส ไม่ใช่กิจของภิกษุ โดยเฉพาะเรื่องการเงินนั้นภิกษุยุ่งเกี่ยวไม่ได้โดยเด็ดขาด

เข้าใจผิด

๑๑. ภิกษุต้องหาเงินทองมาเพื่อจัดงานประเพณี งานบุญ งานปฏิบัติธรรมให้แก่ฆราวาส เพื่อการเผยแพร่พระศาสนา

เข้าใจถูก

๑๑. พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ธุระของภิกษุมีเพียง ๒ ประการ คือ คันถะธุระ การศึกษาเล่าเรียน และวิปัสสนาธุระ การอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น งานตามประเพณีนิยม งานบุญตามเทศกาล เป็นเรื่องของฆราวาสที่ไม่เกี่ยวกับสงฆ์ ส่วนการเผยแพร่พระธรรมคำสอนนั้น ภิกษุทำได้ตามความเหมาะสมแก่พระธรรมวินัย มิใช่จัดเป็นงานใหญ่โตเป็นสำนักปฏิบัติมีพิธีรีตองมากมาย มีการพักค้างแรมอาศัยในวัด จนเป็นเรื่องวุ่นวาย เป็นการคลุกคลี และต้องใช้เงินใช้ทองอันนำมาซึ่งการละเมิดพระวินัย

เข้าใจผิด

๑๒. ภิกษุหาเงินมาทำประโยชน์แก่สาธารณะได้ เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ช่วยเหลือชาวบ้านที่ขัดสนยากจน ฯลฯ

เข้าใจถูก

๑๒. การทำสาธารณะประโยชน์ไม่ใช่กิจของสงฆ์ตามพระธรรมวินัย เพราะธุระของภิกษุมีเพียง ๒ ประการ คือ คันถะธุระ และวิปัสสนาธุระ กิจธุระอื่นๆ เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ทั้งสิ้น การทำกิจดังกล่าวทำให้ภิกษุต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทองทำให้หมองมัวในพระศาสนา แม้จะได้การสรรเสริญทางโลก แต่นั่นไม่ใช่พระพุทธประสงค์ของพระศาสดาแม้แต่น้อย

เข้าใจผิด

๑๓. มหาเถรสมาคมรับรองการก่อสร้างพุทธสถาน หรือทำสาธารณะประโยชน์โดยมอบสมณศักดิ์ให้แก่ภิกษุที่เป็นผู้ทำประโยชน์นั้น

เข้าใจถูก

๑๓. กฎมหาเถรสมาคมในเรื่องการสนับสนุนให้ภิกษุทำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง หรืองานสาธารณประโยชน์ต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะใช้เรื่องนี้เป็นการให้ยศให้ตำแหน่งยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นเหตุภิกษุต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินและทองเพื่อใช้ไปในกิจที่ไม่ใช่ของสงฆ์ และทำให้เป็นการแสวงหาลาภยศ

เข้าใจผิด

๑๔. มหาเถรสมาคมอนุญาตให้มีการเรี่ยไรเงินได้เพื่อนำมาทำประโยชน์แก่พระศาสนา

เข้าใจถูก

๑๔. การอนุญาตและส่งเสริมให้ภิกษุเรี่ยไรเงินทองจากฆราวาสเป็นการทำให้ภิกษุต้องอาบัติละเมิดพระธรรมวินัย เป็นการไม่ถูกต้อง ทำให้หมองมัวแก่พระศาสนา เป็นที่เอือมระอาแก่ชาวบ้าน เสื่อมเสียต่อสงฆ์ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขทันที

เข้าใจผิด
๑๕. พระสังฆาธิการต้องปกครองสงฆ์ จึงต้องมีทรัพย์สินเงินทองเพื่อใช้ในการบริหารและปกครองสงฆ์

เข้าใจถูก

๑๕. การปกครองสงฆ์ตามพระธรรมวินัยไม่มีการใช้เงินและทองแต่อย่างใด ธุระจัดหาจัดการต่างๆ มีหน่วยงานของรัฐดูแลอยู่แล้ว

เข้าใจผิด

๑๖. กรรมการมหาเถรสมาคมต่างมีทรัพย์สมบัติเงินทองมากมาย

เข้าใจถูก

๑๖. กรรมการใดที่มีและสะสมทรัพย์สินเงินทองย่อมละเมิดพระธรรมวินัย ไม่เคารพต่อพระศาสดา เป็นตัวอย่างที่ผิดและไม่ดี ทำให้ภิกษุเอาแบบอย่าง

เข้าใจผิด

๑๗. แม้แต่รัฐบาลยังจัดเงินนิตยภัตให้ภิกษุที่มีสมณศักดิ์

เข้าใจถูก

๑๗. เงินนิตยภัตเป็นเงินค่าอาหารของภิกษุที่มีสมณศักดิ์ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาต้องดูแลนำเงินนี้ไปจัดการจัดหาภัตตาหารถวาย ไม่ใช่มอบเงินให้แก่ภิกษุไปโดยตรง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ไม่เป็นการเอื้อเฟื้อพระวินัย ทำให้ภิกษุต้องอาบัติที่รับเงินดังกล่าวไว้โดยตรงอีกด้วย

เข้าใจผิด

๑๘. งานประเพณีกฐินหรือผ้าป่า ก็มีการถวายเงินให้แก่ภิกษุสงฆ์

เข้าใจถูก

๑๘. กฐินและผ้าป่าเป็นกิจของสงฆ์ ไม่ใช่กิจของฆราวาส กิจนี้เป็นไปตามพระพุทธประสงค์เกี่ยวกับจีวรเครื่องนุ่มห่มของภิกษุ ไม่เกี่ยวข้องกับเงินทองทรัพย์สินใดๆ การที่ฆราวาสนำเรื่องกฐินและผ้าป่ามาเป็นงานพิธีที่ฆราวาสเข้าร่วมและมีการถวายเงินและทองให้แก่ภิกษุสงฆ์เป็นการไม่ชอบ และทำให้ภิกษุต้องละเมิดพระธรรมวินัยอีกด้วย กลายเป็นกฐินบาป ไม่ใช่กฐินตามพระธรรมวินัยแต่อย่างใด

เข้าใจผิด

๑๙. ประชาชนศรัทธาถวายเงินทองเพื่อทำบุญบูชาตามประเพณีที่ทำกันมานานแล้ว

เข้าใจถูก

๑๙. เป็นเรื่องของความไม่รู้พระวินัย และทำบุญแบบมักง่าย จึงกระทำผิดและทำให้ภิกษุต้องอาบัติไปด้วย เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง มิใช่ปล่อยให้เป็นประเพณีที่ผิดและทำลายพระธรรมวินัยต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้

เข้าใจผิด

๒๐. ภิกษุไม่มีทรัพย์สินเงินทองแล้วไม่อาจอยู่ในสังคมปัจจุบันได้แน่

เข้าใจถูก

๒๐. หากภิกษุดังกล่าวอยู่ไม่ได้ก็ควรที่จะลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสดีกว่า เนื่องจากหากปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ แต่ยังละเมิดพระวินัยรับเงินและทอง และใช้จ่ายเงินและทองเช่นนี้ ย่อมมีโทษแก่ตน ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปาปภิกษุไว้หลายนัยจากการละเมิดพระวินัย และเป็นภัยแก่พระศาสนาอย่างร้ายแรงอีกด้วย

เข้าใจผิด

๒๑. ภิกษุที่ผิดพระธรรมวินัยบ้างเล็กน้อย แต่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม ดีกว่าไม่มีพระภิกษุสงฆ์เลย

เข้าใจถูก

๒๑. การที่มีภิกษุกระทำละเมิดพระธรรมวินัยไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือหนักเบาเพียงใด พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษไว้ด้วยประการทั้งปวง ทรงตำหนิว่าเป็นภิกษุที่ไม่ละอาย เป็นภิกษุอลัชชี เป็นมหาโจรปล้นศรัทธาจากชาวบ้าน มีโทษต่อตนเอง อีกทั้งเป็นการทำลายพระสัทธรรมที่มั่นคงให้เสื่อมสูญไป แม้ภิกษุนั้นจะทำประโยชน์มากมายให้แก่สังคม แต่ก็เป็นเรื่องทางโลก ไม่ใช่หน้าที่ภิกษุ ผลเสียย่อมตกแก่พระศาสนา

เข้าใจผิด

๒๒. ไม่มีภิกษุเท่ากับไม่มีพระศาสนา

เข้าใจถูก

๒๒. มีภิกษุทุศีล ไม่ละอายต่อบาป กระทำย่ำยีต่อพระวินัย ไม่มีภิกษุเช่นนี้เลยยังดีเสียกว่า

...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pdharma
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
rrebs10576
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 16 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Lertchai
วันที่ 16 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 17 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ม.ค. 2560

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nok
วันที่ 29 ก.ค. 2560

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สุรธัชนุกูล
วันที่ 18 มิ.ย. 2561

อนุโมทนาครับ ชัดเจนในหลักพระธรรมวินัย ทุกวันนี้ ชาวพุทธไปวัดทีไร เหมือนกับไปแล้วถูกปล้น

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jirat wen
วันที่ 12 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ