ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sports Club) ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ 

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  5 มิ.ย. 2561
หมายเลข  29790
อ่าน  2,999

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันพุธ ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากร อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจากแผนกชี่กงและโยคะ ราชกรีฑาสโมสร โดย ผศ.ดร.สุธีรพันธ์ กรลักษณ์ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๓๗๑๔ ผู้ประสานงาน เพื่อไปสนทนาธรรมที่ ราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sports Club) ถนนอังรีดูนังต์ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๕.๐๐ น.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธีรพันธ์ กรลักษณ์ ผู้ประสานงานในการจัดสนทนาธรรมครั้งนี้ เป็นอดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองเทนนิสในกีฬาแหลมทองหรือเซียพเกมส์ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์ ครั้งแรกปี 2502 และ แชมป์ชายเดี่ยวประเทศไทย 9 สมัย เป็นนักเทนนิสทีมชาติไทยร่วมสมัยเดียวกันกับคุณย่าสงวน สุจริตกุล สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๓ กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งสองท่านเคยลงแข่งขันเทนนิสคู่กันจนได้เหรียญทองอีกด้วย

ผศ.ดร.สุธีรพันธ์ ได้พบและฟังธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ โดยการเชิญของครอบครัวคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา เพื่อไปร่วมฟังและสนทนาธรรมที่บ้านพักย่านถนนประดิพัทธิ์ เมื่อหลายปีก่อน และได้ติดตามฟังการสนทนาธรรมจากท่านอาจารย์โดยสม่ำเสมอตลอดมา ท่านเคยกราบเรียนท่านอาจารย์ในที่สนทนาว่า ก่อนที่ท่านจะได้มาฟังธรรมะจากท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ชอบทำบุญทำทาน เฉพาะอย่างยิ่งการถวายเงินแก่ภิกษุ

แต่เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมวินัยที่ท่านอาจารย์นำมาแสดงแล้ว ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ถวายเงินแก่ภิกษุอีกเลย ทั้งยังบอกกล่าวแก่ลูกๆ หลานๆ และญาติสนิทมิตรสหายของท่าน ถึงพระธรรมวินัยที่ถูกต้องตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เพื่อเป็นการปกป้องรักษาพระศาสนาให้ดำรงมั่นคงถูกต้องสืบไป

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐
พระบัญญัติ
๓๗. อนึ่ง ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด ทุกคนก็รู้ว่า ฟังแล้วก็ลืม ใช่ไหม? ทั้งวันเราฟังอะไรมาบ้าง? ตั้งแต่เช้า ตื่นขึ้นมา เราพูดอะไรบ้าง? เรื่องอะไรบ้าง? ลืมหมดใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ฟังแล้วก็ลืม โดยเฉพาะคำที่ลึกซึ้ง เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ลืมก็หมายความว่า เห็นคุณค่าอย่างยิ่งที่ว่า เกิดมาแล้ว ขอให้ได้เข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักคำ พอเข้าใจแล้ว เห็นค่ามากขึ้น ก็ต่อไปอีกสักคำ เรื่อยๆ ไป

แต่ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เพื่อให้เพียงฟัง แต่ประโยชน์จริงๆ ก็คือ เข้าใจ แล้วก็เข้าใจจริงๆ ด้วย แล้ว "เข้าใจ" นั้นใช้คำในภาษาบาลีว่า "ปัญญา" หรือ "สัมมาทิฏฐิ" ความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง ของสิ่งที่มีจริง

แสดงว่า ก่อนฟังธรรมะ เราคิดว่า สิ่งนั้นก็จริง สิ่งนี้ก็จริง นั่นก็คือ คนที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่รู้อะไรเลย แต่ว่า เมื่อเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำ เป็นคำที่ฟังแล้วไม่ควรลืม คือ ฟังแล้วคิด ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณา เช่น เดี๋ยวนี้ฟังแล้วเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ลองคิด "หิว" เป็นธรรมะหรือเปล่า? แค่นี้ ตั้งแต่ต้น ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าใจธรรมะคือ ต้องเป็นธรรมะแน่นอน มีจริงๆ ด้วย เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม นี่ต้องเป็นการไตร่ตรอง

เพราะเหตุว่า ฟังแล้วว่ารูปธรรมคืออะไร นามธรรมคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ ชื่อต่างๆ ไม่มีความหมายเลย เพราะว่า เพียงจำ เหมือนคนนั้นชื่อนี้ คนนี้ชื่อนั้น ไม่พบกันบ่อยๆ ก็ลืม ธรรมะก็เช่นเดียวกัน ฟังแล้ว มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย หิวทุกวัน แต่ หิวไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นธรรมะ แต่ว่าเป็นธรรมะอะไร? เห็นไหม? แค่ธรรมะ ทุกคนตอบได้ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ขอให้ทราบว่าเป็นธรรมะ แต่จะรู้จักมากน้อย นั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเราฟังมาก เรายิ่งรู้ธรรมะนั้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น เพราะว่าทรงแสดงไว้ถึง ๔๕ พรรษา แต่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมะ ฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ คือ ที่ตัว มีครบทุกอย่าง แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรมะ หิวก็หิวทุกวัน แล้ว "หิว" เป็นอะไร?

ฟังแล้วไม่ทิ้งเปล่า ถ้าทิ้งเปล่าคือลืม ชาตินี้ลืม ชาติหน้าจะได้ฟังอีกหรือเปล่า ฟังแล้วจะเข้าใจแค่ไหน แต่ถ้าไม่ลืม ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็จะติดตามสืบต่อไปด้วย เหมือนเราเรียนหนังสือ ตั้งแต่เด็ก ทีละตัว พอไปพบที่ไหน จำได้เลยว่าตัวนั้น อ่านออกได้ด้วย

ชาติไหนก็ตาม ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ความเข้าใจที่เข้าใจแล้ว ไม่สูญหาย เพียงแต่เราคิดน้อย ลืมมาก พอฟังอีกก็ต้องทบทวน หรือว่า ถ้าคิดบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ จำได้บ่อยๆ เพียงแค่ได้ฟังก็เข้าใจได้มากกว่าคนที่ไม่เคยฟังเลย

ความรู้สึกมี ๕ อย่าง ไม่เกินกว่านั้น ถ้าเป็นทางกาย จะมีความรู้สึกสองอย่างคือ สุขหรือทุกข์ เวลาที่กระทบสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเย็นหรือร้อน ธาตุไฟ อ่อนหรือแข็ง ธาตุดิน ตึงหรือไหว ธาตุลม ที่กายจะนำมาซึ่งความรู้สึก เมื่อมีการรู้สึกที่กาย เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่าง คือ สุขหรือทุกข์

เพราะฉะนั้น "หิว" เป็นความรู้สึกใช่ไหม ความรู้สึกมี ๕ อย่าง ทางกายอย่างหนึ่งอย่างใด สุขหรือทุกข์ ทางใจ แม้ว่าร่างกายเป็นทุกข์ แต่ใจไม่เป็นทุกข์ก็ได้ หรือว่าร่างกายสบายดี มีทรัพย์สมบัติ มีเงินทอง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น มีทุกข์กายกับทุกข์ใจ สุขกายกับสุขใจ ถ้ากาย พระอรหันต์ยังต้องเจ็บปวด เพราะว่ายังมีกาย แต่ไม่มีทุกข์ใจ คนธรรมดามีทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ ๔ แล้วใช่ไหม? สุขทางกาย ทุกข์ทางกาย สอง สุขทางใจ ทุกข์ทางใจ สอง เป็นสี่ ความรู้สึกอีกประเภทหนึ่งคือ เฉยๆ ภาษาบาลีใช้คำว่า อทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ เดี๋ยวนี้มีไหม?

เห็นไหม? ธรรมะไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ตัว แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรมะ ก็เข้าใจเวลาที่สภาพธรรมะหนึ่งสภาพธรรมะใด กำลังปรากฏ แล้วไม่ใช่เรียกชื่อ แต่ความรู้สึกนั้นมี และไม่ใช่เราด้วย!! ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แสดงความเป็นอนัตตา จนกว่าจะหมดความเป็นเรา แต่ทุกวันนี้ เวลาหิว "เราหิว" ใช่ไหม? แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกขเวทนาทางกาย ถ้าไม่มีกาย จะหิวไหม? ไม่หิว

อ.คำปั่น ก็ชัดเจนนะครับ ในคำอธิบายที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาเมื่อสักครู่ เพราะว่า รูป หิวไม่ได้ เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่ที่หิวเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกที่ไม่สบาย จึงมีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ แสดงไว้ชัดเจนว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเยียวยา จะต้องรักษาอยู่บ่อยๆ เพราะวันหนึ่งๆ ก็หิวบ่อย ทุกขเวทนาก็เกิดบ่อย ก็ต้องเยียวยารักษา ต้องมีการบริโภคอาหาร ที่จะทำให้ความหิวนั้นหายไป เพราะฉะนั้น ความหิวก็เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ที่เป็นความไม่สบายทางกาย ซึ่งก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ถ้าใส่ชื่อก็เป็น เวทนา เป็นเจตสิก ที่ได้ศึกษา ได้ฟัง ก็เป็นธรรมะที่มีจริงที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต นี่คือชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เพราะว่ามีจริงทุกขณะ แต่จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ในคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่คำเดียวที่ได้ฟัง คือคำว่า "หิว" มีมาตั้งแต่เกิด แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะที่มีจริง แต่พอได้เริ่มฟัง เริ่มศึกษาก็คือ เป็นธรรมะที่เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ของธรรมะ ไม่ใช่เรา!!

ดร.สุธีรพันธ์ กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพครับ ผู้ฟังที่นี่ดูเผินๆ ไปแล้วก็สูงวัยทั้งนั้น รู้สึกว่าจะหมกมุ่นสนใจในเรื่องทำบุญทำทานพอสมควร อยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์อธิบายเรื่องทำบุญทำทาน จะได้ผลอย่างไร? เพราะตอนนี้มีบางคนเชื่อว่า เอาเงินไปสร้างโบสถ์แล้วขึ้นสวรรค์แน่ อะไรอย่างนี้ เป็นความเชื่อของพวกเรา ก็อยากให้ท่านอาจารย์ให้ความสว่างเรื่องนี้ครับ เพราะสูงวัยกันแล้วทั้งนั้นครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพียงแค่คำตอบคงไม่พอ แต่ถ้าเป็นคำ "ให้คิด" จะเป็น "ความเข้าใจของตนเอง" ดีกว่า เพราะว่า จะต้องมีธรรมะอีกมากมายในชีวิต ซึ่งควรจะเข้าใจว่าเป็นธรรมะอะไร มิฉะนั้น ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ "เป็นเรา" เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ธรรมะทุกอย่างใช่ไหม? บุญหรือบาป เป็นธรรมะหรือเปล่า?

ดร.สุธีรพันธ์ เป็นครับ
ท่านอาจารย์ เป็น เป็นธรรมะอะไร? เห็นไหม? ต้องรู้ก่อน ธรรมะเมื่อกี้นี้ มี หนึ่ง ทุกอย่างเป็นธรรมะ มี สอง คือ นามธรรมกับรูปธรรม มีสาม คือ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น บุญ เป็นธรรมะแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ตัวก็ธรรมะหมดเลย ข้างนอกตัวก็ธรรมะทั้งนั้น เพราะฉะนั้น "บุญ" เป็นธรรมะอะไร?

ดร.สุธีรพันธ์ เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรมนะคะ เป็นจิตหรือเจตสิก นี่คือการฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ ถ้าไม่ไตร่ตรอง ไม่คิด ก็เป็นเราทำบุญหรือเรามีบุญ ใช่ไหม? แต่ว่า "บุญ" เป็นธรรมะอะไร? รูปเป็นบุญได้ไหม? รูปไม่รู้อะไร รูปดีชั่วไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ดีชั่ว ต้องเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม นามธรรมมีสองอย่าง คือ จิตกับเจตสิก ให้แน่ใจเลย ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แค่รู้

ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ที่เห็น เป็นจิต รู้ว่าที่นี่มีอะไร เวลา "เสียง" ปรากฏ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือ รู้แจ้งเสียงนั้น จะเป็นเสียงเล็ก เสียงใหญ่ หรือเสียงเครื่องดนตรี หรือเสียงอะไรในครัว ที่ไหนก็ตาม จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง จึงสามารถที่จะรู้ว่า แต่ละเสียง ต่างกัน เพราะจิตหนึ่งขณะรู้ได้เพียงหนึ่งอย่าง

วันนี้ขอเพิ่มอีกคำหนึ่ง จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมณะ แต่คนไทยพูดสั้นๆ ว่า อารมณ์ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจแต่พูดกันบ่อย วันนี้อารมณ์ดี แต่หารู้ไม่ว่า ที่ว่าอารมณ์ดี เพราะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ สิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกเห็น ดี เสียงที่ได้ยิน ดี กลิ่นหอม รสอร่อย อากาศดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏให้จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิต

เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ใช้คำว่า อารัมณะหรืออารัมภณะ แต่คนไทยนิยมใช้คำว่า อารมณ์ แต่ไม่เข้าใจว่า อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้น ได้ยินเป็นจิต อะไรเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน? เสียง จิตรู้อะไร สิ่งที่ถูกจิตรู้เป็นอารมณ์ของจิต

ตอนนี้ก็เพิ่มอีกหนึ่งคำ พอได้ยินคำว่า "จิต" ต้องมีคำว่า "อารมณ์" มีจิตไม่มีอารมณ์ได้ไหม?
ดร.สุธีรพันธ์ ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ เห็นไหม มีอารมณ์ ไม่มีจิต ได้ไหม? มีเสียงได้ แต่จิตไม่เกิดขึ้นรู้ เสียงก็เป็นเสียงที่ไม่ปรากฏ แต่เสียงที่ปรากฏ เพราะจิตรู้ เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เฉพาะสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด และข้อสำคัญคือ จิตรู้ได้ทุกอย่าง แม้สิ่งที่ขณะนี้ไม่มี ไม่ปรากฏ คือ นิพพาน จิตก็รู้ได้!!

เพราะฉะนั้น จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ชีวิตประจำวันที่เหลืออื่นๆ เป็นเจตสิกทั้งหมด ขยันก็เป็นเจตสิก ง่วงก็เป็นเจตสิก เบื่อก็เป็นเจตสิก อะไรทั้งหมด นอกจากรูป นอกจากจิต สิ่งที่มีจริงนั้นเป็นเจตสิก

ด้วยเหตุนี้ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภทโดยประเภทใหญ่ๆ เพราะเหตุว่า แม้แต่ความโกรธ ก็มีตั้งแต่ ขุ่นใจ ไม่ชอบ จนกระทั่งถึงอาฆาต พยาบาท ก็เป็นลักษณะของความไม่ชอบ ชื่อว่า โทสเจตสิก โกรธ ก็เป็นอีกคำหนึ่ง ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า โกโธ หรือ โกธะ ก็ได้ โทสะ ก็ได้ นี่คือ คำต่างกัน แต่สภาพธรรมะเหมือนกันหมด จะใช้ภาษาอะไร หรือไม่เรียกชื่อเลย ก็เปลี่ยน "ลักษณะของสภาพธรรมะ" นั้น ไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ แต่ละคำที่เคยพูด ต้องรู้ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร? บุญ-บาป ไม่ใช่รูป เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ ดี-ชั่ว ที่เกิดกับจิตในขณะนั้น เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น ความหมายของบาป กับความหมายของบุญค่ะ เชิญคุณคำปั่น

อ.คำปั่น ก็มีคำสองคำ บาปกับบุญ บาป ภาษาบาลีคือปาปะ ความหมายของบาปหมายถึงธรรมะที่ชั่ว ธรรมะที่ไม่ดี ธรรมะที่ให้ผลเป็นทุกข์ และธรรมะที่บุคคลผู้เป็นบัณฑิตหลีกออกห่าง นี่คือความหมายของบาป เป็นธรรมะที่ไม่ดีแน่นอน ธรรมะที่ตรงกันข้ามกัน ก็คือคำว่า บุญ ภาษาบาลีจะออกเสียงเป็น ปุน-ยะ (ปุญญะ) หมายถึงสภาพธรรมะที่ดีงาม ที่ชำระจิตให้สะอาด ปราศจากอกุศล ปราศจากสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น บุญก็เป็นธรรมะที่ดีงาม ที่เกิดขึ้นเป็นไป เกิดกับจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ทำให้จิตเป็นจิตที่ประกอบด้วยธรรมะที่ดีงาม ก็กล่าวเรียกว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ที่ทำบุญ แต่จริงๆ ไม่มีคนที่ทำ แต่ว่าเป็นธรรมะที่ดีงามที่เกิดขึ้น เป็นไป ที่ชำระจิตให้สะอาด เพราะในขณะที่บุญเกิดขึ้น ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือความเป็นจริงของธรรมะสองอย่าง บาปกับบุญ บาปคือความชั่วทั้งหลาย บุญก็คือธรรมะที่ดีงามที่เกิดขึ้น เป็นไปครับ

ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจนแล้วใช่ไหม? ไม่ใช่เพียงแค่ "คำตอบ" แต่ยังรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมะที่ "ไม่ใช่เรา" และเป็น "เจตสิก" ที่ต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท "ความไม่รู้ความจริง" ว่า "เป็นธรรมะ" บุญหรือบาป? ไม่รู้ค่ะ ดีไหม?
ดร.สุธีรพันธ์ ไม่ดีครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บาปใช่ไหม?
ดร.สุธีรพันธ์ ใช่ครับ
ท่านอาจารย์ บาปเยอะไหม? วันนี้!! บาปทั้งหมด มาจาก "ความไม่รู้" คือ "อวิชชา" เพราะฉะนั้น อวิชชา ภาษาบาลีใช้คำว่า "โมหเจตสิก" เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท เพราะธรรมดา จิตเองไม่เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ไม่ดีงามหรือชั่ว แต่เป็น " ปัณฑระ" หมายความว่า ผ่องแผ้ว จิตเองแค่เกิดขึ้นรู้ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่เจตสิกซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ฝ่ายดีก็มี ฝ่ายชั่วก็มี ทั้งหมดมี ๕๒ ประเภทโดยประเภทใหญ่ๆ

โลภะ มีตั้งแต่ชอบธรรมดาๆ ในห้องนี้มองไปก็ชอบ แต่ชอบอะไรมาก? ระดับของโลภะความติดข้องก็ต่างกัน ไปที่ร้านอาหาร มีขนมเยอะ ชอบอะไรมาก? ซื้อกลับบ้าน นี่ก็แสดงให้เห็นถึง ระดับของธรรมะต่างๆ กันไป ตั้งแต่ อวิชชาหรือโมหะ ไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดความติดข้องต้องการ ไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็ทำให้เกิดโทสะหรือความขุ่นเคืองใจ ก็หมุนเวียนไปตามลำดับของความไม่รู้ เพราะฉะนั้น "ความไม่รู้" ก็เป็นอกุศลหรือเป็นบาป!!

วันนี้มีอกุศลมากไหม? ถ้ารู้ก็บอกว่ามาก ถ้าไม่รู้ก็บอกว่า ไม่เห็นไปทำบาปที่ไหน ใช่ไหม? แต่ความจริง เพียงไม่รู้ความจริง ขณะนั้นก็เป็นอกุศล (เป็นบาป) ไม่ดี ใครจะว่าดี?

เพราะฉะนั้น ธรรมะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ จริง ตรง มีข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า ผู้ที่เป็นผู้ที่ตรงเท่านั้น จึงจะได้สาระจากพระธรรม คือ ผิดจะเป็นถูกไม่ได้ และ ถูกก็จะเป็นผิดไม่ได้!!

เจตสิกมีทั้งฝ่ายดีและไม่ดี และยังมีเจตสิกกลางๆ ที่สามารถที่จะเกิดกับจิตได้ทุกประเภท เพราะว่าจิตเองจะเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยเจตสิก ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าจิตที่เกิดดับ ไม่ว่าในสังสารวัฏที่ยาวนานหรือต่อไปข้างหน้าหรือภพภูมิใดก็ตาม จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างน้อยที่สุดต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทเกิดร่วมด้วย ไม่น้อยกว่านั้น แสดงว่าหนึ่งขณะที่จิตเกิด ต้องมีเจตสิกปรุงแต่งเป็น "สังขารธรรม" อาศัยกันเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา!!

ยิ่งฟังก็ยิ่งเห็นความเป็นธรรมะ ซึ่ง ไม่ใช่เรา จึงจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะค่อยๆ เข้าใจ ธรรมรัตนะ ประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ เพราะเหตุว่า เงินทองไม่สามารถที่จะซื้อความเข้าใจได้เลย แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ เมื่อเข้าใจก็จะนำมาสู่ความเข้าใจยิ่งขึ้น!!!

ตอนนี้ บุญ - บาป ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม?
ดร.สุธีรพันธ์ ครับ ฟังดูก็ค่อยๆ เข้าใจครับ แต่ท่านอาจารย์ต้องมาบ่อยๆ แล้วละครับ
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ละเอียด จะละเอียดขึ้นเมื่อเข้าใจขึ้น จนกระทั่งมั่นคงว่า ธรรมะเป็นธรรมะ ขั้นฟัง!! ยังมีขั้นต่อไปอีก!!

แสดงว่าปัญญาต้องเจริญเท่าไหร่ กว่าจะรู้จักพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า ธรรมะที่ทรงแสดงกับเรา อุปมาเหมือนใบไม้สองสามใบในกำมือ ในฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ แต่ส่วนพระปัญญานั้น เหมือนใบไม้ในป่า เพราะฉะนั้น ทรงแสดงกับ "ผู้ที่สามารถเข้าใจได้"

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ ผศ.ดร.สุธีรพันธ์ กรลักษณ์ และสมาชิกแผนกชี่กงและโยคะ ราชกรีฑาสโมสร
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 5 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
rrebs10576
วันที่ 6 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thilda
วันที่ 6 มิ.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บุญธรรม
วันที่ 6 มิ.ย. 2561

สภาพธรรม อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตนเรา

อยากทราบว่า แล้วมีสภาพธรรมอะไร ที่เป็นเรา หรือมันไม่มีเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 6 มิ.ย. 2561
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 4 โดย บุญธรรม

สภาพธรรม อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตนเรา

อยากทราบว่า แล้วมีสภาพธรรมอะไร ที่เป็นเรา หรือมันไม่มีเลยครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม (สิ่งที่มีจริง) ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ นั้น ไม่มีอะไรที่เป็นเราหรือเป็นของของเราเลย เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรมกับรูปธรรม เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อเป็นธรรม แล้ว จะเป็นเรา หรือ เป็นของของเราได้อย่างไร จึงต้องอดทนที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไปอย่างไม่ท้อถอย เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา หรือ เป็นของของเรา ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 7 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chvj
วันที่ 10 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ