มารผู้มีบาป

 
yai93
วันที่  15 ธ.ค. 2548
หมายเลข  592
อ่าน  5,079

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัครบัญญัติ (บัญญัติกันว่าเยี่ยมยอด) ๔ นี้ อัครบัญญัติ ๔ คืออะไร คือ ที่เยี่ยมยอดทางเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ได้แก่ มารผู้มีบาป ไม่ทราบว่าคือใคร หรือเป็นอะไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 16 ธ.ค. 2548

พญามารผู้มีบาปได้แก่ ท้าววสวัตตี ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นที่ ๖ (ปรนิมมิตวสวัตตี) มารผู้นี้ในสมัยครั้งพุทธกาลมักจะมารบกวนพระพุทธองค์ และพระพุทธสาวกเสมอ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 16 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 80

ท้าวปชาบดี คือ พญามาร

ก็ในบทว่า ปชาปติ นี้ มาร พึงทราบว่า ปชาบดี ส่วนพญามารนั่นแล ท่านประสงค์เอาว่า ปชาบดี ในที่นี้ โดยความเป็นใหญ่กว่า ปชา กล่าวคือหมู่สัตว์

ถามว่า พญามารนั้น ย่อมอยู่ ณ ที่ไหน

ตอบว่า ย่อมอยู่ในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี จริงอยู่ พญามารวสวัตตี ครองราชย์อยู่ในเทวโลกนั้น อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พญามารประทับครองความยิ่งใหญ่ในบริษัทของตน ณ ส่วนหนึ่ง (ของเทวโลกนั้น) ดุจราชโอรสของพระราชาผู้เรืองนามประทับอยู่ ณ ปลายแดนราชอาณาจักรฉะนั้น ก็ในข้อนี้ พึงทราบว่า ท่านจัดเอาบริษัทมารเข้าไว้ด้วย มาร ศัพท์นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 16 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 17

๖. สัปปสูตร

มารนิรมิตเพศเป็นพระยางู

[๔๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีอันมืดสนิท ทั้งฝนก็ลงเม็ดประปรายอยู่

[๔๓๒] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้าม ขนลุกขนพองแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงนิรมิตเพศเป็นพระยางูใหญ่เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ กายของพระยางูนั้นเป็นเหมือนเรือลำใหญ่ที่ขุดด้วยซุงทั้งต้น พังพานของมันเป็นเหมือนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ สำหรับปูตากแป้งของนักผลิตสุรา นัยน์ตาของมันเป็นเหมือนถาดสำริดขนาดใหญ่ของพระเจ้าโกศล ลิ้นของมันแลบออกจากปากเหมือนสายฟ้าแลบขณะ เมฆกำลังกระหึ่ม เสียงหายใจเข้าออกของมัน เหมือนเสียงสูบช่างทองที่กำลังพ่นลมอยู่ฉะนั้น

[๔๓๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้ จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า มุนีใดเสพเรือนว่างเปล่าเพื่ออยู่อาศัย มุนีนั้นสำรวมตนแล้ว สละความอาลัยในอัตภาพนั้นเที่ยวไป เพราะการสละความอาลัยในอัตภาพแล้วเที่ยวไปนั้น เหมาะสมแก่มุนีเช่นนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 16 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 30

๑. ปาสาณสูตร

มารกลิ้งศิลาขู่พระพุทธเจ้า

[๔๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในที่แจ้ง ในเวลากลางคืนเดือนมืด และฝนกำลังตกประปรายอยู่

[๔๔๗] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปต้องการจะยังความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเข้าไป ณ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ครั้นแล้ว กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ๆ ไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า

[๔๔๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาปจึงตรัสสำทับกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้วโดย ชอบแน่แท้

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง รู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ