วิปัสสนาภาวนา
วิปัสสนาภาวนา
วิ (วิเศษ แจ้งฯ) + ปสฺสนา (เห็น) + ภาวนา (การอบรม การเจริญ)
การอบรมเพื่อความเห็นแจ้ง การเจริญปัญญาเพื่อเห็นอย่างวิเศษ หมายถึง การเจริญปัญญาเพื่อเห็นแจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามลำดับขั้น จากขั้นต้น คือ การอบรมสติปัฏฐาน เป็นการเจริญวิปัสสนาเพื่อเห็นแจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนสติปัฏฐานถึงความสมบูรณ์ วิปัสสนาญานซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นพร้อมกับมหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ จึงเกิดขึ้นเห็นสภาพธรรมอย่างวิเศษ คือประจักษ์แจ้งไตรลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับขั้นของปัญญาที่เจริญยิ่งขึ้น ตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ (นามรูปปริจเฉทญาณ) จนถึงวิปัสสนาญาณที่๑๒ (อนุโลมญาณ) จะมีสังขารคือนามธรรมและรูปธรรมเป็นอารมณ์
วิปัสสนาญาณที่ ๑๓ (โคตรภูญาณ) วิปัสสนาญาณที่ ๑๔ (มรรคญาณ) วิปัสสนาญาณที่ ๑๕ (ผลญาณ) มีวิสังขารคือพระนิพพานเป็นอารมณ์
วิปัสสนาญาณที่ ๑๖ (ปัจจเวกขณญาณ) มีมรรคจิต ผลจิต พระนิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลืออยู่เป็นอารมณ์