“คำเดิม ความเปลี่ยน”
คำเดิม แต่ไม่ใช่ความหมายเดิม (เพราะไม่ได้ศึกษา)
ปรารภ
คำในภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่บันทึกพระธรรมคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้ามาอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมากหลังจากที่คนไทยรับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินับพันปีมาแล้ว
ในปัจจุบัน คำบาลีจำนวนมากคงใช้อยู่ในการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยที่ความหมายของคำไม่เปลี่ยนไปจากเดิมตามที่พระองค์ทรงใช้เมื่อสองพันหกร้อยปีมาแล้ว ในขณะเดียวกันคำบาลีที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยในกิจกรรมต่าง ๆ มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ความหมายเดิมพอให้เห็นเป็นเค้า ๆ เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นกฎธรรมดาของภาษาที่ยังมีชีวิต ความหมายของคำ ทั้งคำดั้งเดิมและคำยืมจากภาษาอื่นจะเปลี่ยนไปตามความนิยมใช้ของเจ้าของภาษา ยิ่งเวลาเปลี่ยนไปนานเข้า การแปรเปลี่ยนความหมายของคำก็ยิ่งมีมากขึ้น จนคนส่วนหนึ่งไม่อาจรู้ได้ว่า คำนั้น มีความหมายเดิมว่าอย่างไร ที่ไม่รู้เพราะไม่ได้สนใจศึกษา ความไม่รู้ดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด สำคัญผิด เมื่อได้พบได้เห็น ได้อ่าน ได้ฟังจากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ คำบรรยาย ปาฐกถา เทศนา การสนทนา ในเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนของพระอรัหนตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นพระพุทธพจน์โดยตรง และที่ถอดความสืบทอดกันมา
ปรารภเหตุข้างต้น ชมรมบ้านธัมมะ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่แล้วที่จะมีส่วนช่วยเพื่อนชาวไทยผู้สนใจ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาถ่องแท้มาก่อนในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ได้มีโอกาสเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำรายการผ่านเครือข่ายนี้ นำเสนอคำศัพท์ที่อยู่ในข่าย “คำเดิม ความเปลี่ยน” เป็นคำ ๆ ไปตามลำดับ ในชั้นต้นจะเลือกคำนำเสนอตามดุลยพินิจของผู้จัดทำก่อน ต่อไปในอนาคตหากท่านใดเห็นคำใดที่น่านำเสนอ อาจส่งเข้ามาให้พิจารณา และหากจะให้ข้อสังเกตของท่านเกี่ยวเนื่องกับคำนั้น ๆ ด้วยก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์แก่คณะผู้จัดทำยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะเป็นประโยชน์กว้างขวางต่อไป