จิต และ อารมณ์

คำเดิม

จิต  มาจากภาษาบาลีว่า จิตฺต  เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏให้รู้ สิ่งที่จิตรู้เป็นอารมณ์ของจิต  คือ  เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้  เช่น ขณะเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะขณะนั้น จิตเกิดขึ้นรู้แจ้ง(เห็น)สิ่งที่ปรากฏจริง ๆ  สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่เห็น ขณะที่เสียงปรากฏ  จิตเกิดขึ้นรู้แจ้ง(ได้ยิน)เสียงนั้นจริง ๆ  เสียงที่ปรากฏทางหู ก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ยินคำที่กล่าวถึงจิต (สภาพที่รู้แจ้ง)  มีหลายคำ เช่น คำว่า วิญญาณ มโน หทัย 

วิญญาณ  คือ จิตเห็นสีที่ปรากฏทางตาต้องอาศัยตาจึงเรียกจิตนั้นว่า  จักขุวิญญาณ  จิตได้ยินเสียงทางหูต้องอาศัยหู จึงเรียกจิตนั้นว่า  โสตวิญญาณ จิตได้กลิ่นทางจมูกต้องอาศัยจมูก จึงเรียกจิตนั้นว่า ฆานวิญญาณ  จิตลิ้มรสทางลิ้นต้องอาศัยลิ้น  จึงเรียกจิตนั้นว่า ชิวหาวิญญาณ   จิตรู้เย็น ร้อน  อ่อน  แข็ง  ตึง ไหว ต้องอาศัยกาย  จึงเรียกจิตนั้นว่า  กายวิญญาณ 

มโน  หมายความว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์จึงเรียกจิตว่า มโน  เพราะจิตเป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์หรือน้อมไปรู้อารมณ์เท่านั้น ไม่ไปที่อื่น 

หทัย มาจากภาษาบาลีว่า หทย  หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายในที่สุด

จิต เป็นสิ่งที่มีจริง  ไม่เปลี่ยนแปลง  เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่ออยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย และแม้ตายแล้ว ก็มีจิตเกิดดับสืบต่อเป็นภพชาติต่อ ๆ ไป  

 

ความเปลี่ยน

เพราะไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจพระธรรมคำสอน  จึงเข้าใจว่า เป็นตัวตนที่เป็นคนมีจิตอย่างนั้น อย่างนี้  มีจิตซึ่งไม่เกิดดับ เที่ยง ยั่งยืน ซึ่งจิตอยู่ไหน ก็ไม่รู้ ได้แต่พูดโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย 

และเข้าใจผิดว่าวิญญาณเป็นพวกผี  หรือ สิ่งที่ล่องลอยออกจากร่างของคนตาย และ ส่วนคำว่า  หทัย ก็เข้าใจว่าเป็นก้อนหัวใจ  เท่านั้น

สำหรับคำว่า อารมณ์ ก็กล่าวที่ปลายเหตุว่าอารมณ์ดี อารมณ์เสีย อารมณ์ไม่ดี โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่า  ทุกขณะไม่เคยปราศจากอารมณ์เลย เพราะทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น  ต้องรู้อารมณ์

การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เห็นผิดไม่ให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรม

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

อารมณ์

วิญญาณ

ไม่มีเรา


หมายเลข 4