ความฝันคืออะไร
ท่านอาจารย์ ความต่างกันของสิ่งที่เราเรียกว่า ฝัน หรือไม่ฝัน ก็คือว่า ธรรมดาของภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และวิถีจิตคือขณะที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่ก็มีภวังคจิตคั่นแต่ละวาระที่รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด เช่นในขณะนี้ หลังจากจักขุทวารวิถีจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นก่อนจะมีวิถีจิตที่ได้ยินเสียง
เพราะฉะนั้น ความต่างกันของฝันกับไม่ฝัน คือ ในขณะนี้ที่ภวังคจิตเกิด แต่ก็มีอารมณ์จริงๆ กระทบทางตา กระทบทางหู กระทบใจที่ทำให้มโนทวารเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ แต่ในขณะที่ฝันเป็นเพราะการสะสมของสิ่งที่เคยเห็นบ้าง เคยได้ยินบ้าง เป็นสุข เป็นทุกข์กับสิ่งที่เคยเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทำให้อารมณ์กระทบกับมโนทวาร คือภวังคุปัจเฉทะ แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็เป็นความฝัน แต่ต้องเป็นระยะที่สั้นมาก
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฝันก็จะมีภวังค์เกิดคั่นกับวิถีจิต โดยไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ กระทบ แต่ในขณะที่ไม่ฝันจะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ กระทบมากกว่า
เพราะฉะนั้น เวลาตื่นขึ้นก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความฝัน เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีรูปกระทบตาจริงๆ ไม่ใช่มีเสียงกระทบหูจริงๆ ไม่ใช่มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะกระทบจริงๆ
ผู้ฟัง เป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลจิตก็ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ที่ว่าเป็นบุญ เป็นบาป
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ เพราะคำว่า อกุศลกรรมบถก็ดี กุศลกรรมบถก็ดี คำว่า ปถ แปลว่า ทาง เมื่อกุศลนั้นถึงความเป็นทางที่จะไปสู่คติหนึ่งคติใด หรือทำให้วิบากจิตเกิด จึงจะครบองค์ แต่ในขณะที่ฝันนั้นไม่ครบองค์ เป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต
ผู้ฟัง ตอนนอนหลับสนิท สติเกิดได้ไหม
ท่านอาจารย์ อย่างที่ได้เรียนให้ทราบ ตอนหลับสนิทไม่ใช่วิถีจิต คือไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรู้อารมณ์ ถ้าขณะนั้นเป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ก็ดี หรือมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ก็ดี ขณะนั้นต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นชาติวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลที่ไม่พิการแต่กำเนิด หรือทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดในขณะที่กำลังเป็นวิบาก เป็นพื้นฐานของจิตที่ทำให้สามารถเจริญเติบโตขึ้น เมื่อมีโอกาสอบรมปัญญาต่อๆ ไป
ผู้ฟัง อย่างนี้ก็คือไม่มีสติเกิด ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ทำไมถึงจะเรียกว่าไม่มีสติ สติเกิดกับโสภณจิต แม้วิบากจิตซึ่งเป็นโสภณ เป็นมหาวิบากจิต ก็เป็นกามาวจรโสภณจิต แต่โดยชาติ สติเป็นชาติวิบาก แต่สติเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ระลึก
เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นแม้โดยสภาพที่เป็นวิบาก ก็ระลึกในอารมณ์ของมหาวิบากนั้นเอง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ก็ทรงนอนหลับ แต่นอนหลับด้วยสติ ก็โดยนัยนี้ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ หมายความถึงพร้อมจะลุกขึ้นด้วยสัมปชัญญะ ไม่เหมือนคนที่หลงลืมสติตื่น หลงลืมสติหลับ
เพราะฉะนั้น อายตะมีโทษมากเมื่อไม่รู้ แต่มีประโยชน์มากเมื่อสติเกิด