น้ำหนึ่งใจเดียวกัน


    แม้แต่คำว่า “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ซึ่งเป็นข้อความในพระไตรปิฎก ก็น่าพิจารณาว่า หมายความถึงขณะไหน

    สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อจะขจัดกิเลส ขัดเกลา กิเลสเพื่อไปสู่ทางเดียวกันคือรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั่นเป็นผู้ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะว่ามีจุดประสงค์อันเดียวกัน ฟังพระธรรมเพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลา กิเลส เพื่อไปสู่ทางที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทแต่ถ้าเป็นอกุศลไม่ใช่น้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเหตุว่านำไปสู่คติต่างๆ ซึ่งไม่นำไปสู่พระนิพพาน

    เพราะฉะนั้นแต่ละท่านซึ่งฟังพระธรรมก็พอจะพิจารณาขึ้นมาอีกว่า จิตใจของท่าน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่น้ำหนึ่งใจเดียว กันจะถึงพระนิพพานไหมคะ เพราะว่ายังมีกิเลสอยู่ และไม่รู้ และไม่ขัดเกลาด้วย

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ละเอียดแล้วก็พิจารณาธรรม แม้เพียงข้อธรรมบางประการ ซึ่งอาจจะคิดว่า เล็กน้อย แต่แม้ข้อธรรมเพียงคำว่า “เป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ก็ทำให้ระลึกได้ว่า ในขณะนี้ท่านเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับใครบ้าง หรือว่าสำหรับบางบุคคลยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่ได้ ถ้ายังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่ได้ เป็นความผิดของใคร

    เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ถึงจะได้ประโยชน์ เป็นความผิดของคนอื่นหรือ ว่าเป็นความผิดของท่านเอง เพราะในขณะที่กำลังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนอื่น ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล


    หมายเลข 4914
    8 ก.ย. 2567