สนทนาธรรมไม่ชื่อว่าคลุกคลี


    ผู้ฟัง ก็ในเมื่อติดตามเสด็จ ก็ศึกษาพระธรรมเพื่อปฏิบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายอยู่ร่วมกัน จับกลุ่มกัน ถ้าสนทนาธรรมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปปฏิบัติ ก็ไม่เห็นมีโทษอะไรนี่ครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีโทษแน่ค่ะ ถ้าเป็นการฟัง การศึกษา และการปฏิบัติตาม ไม่ใช่การชอบ ยินดีคลุกคลีในหมู่คณะ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะบวชถึงจะพิจารณาตัวเองจริงๆ โดยรอบคอบว่าบวชเพื่อจุดประสงค์อะไร และเมื่อบวชแล้วยังต้องประพฤติตามจุดประสงค์นั้น ซึ่งเป็นการต่างกันระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพราะเหตุว่าก็เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ไม่บวชก็บรรลุได้ เป็นที่รู้ค่ะว่า ผู้ที่ไม่บวชก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะบวช ต่างกับผู้ที่แม้ไม่บวชก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยอัธยาศัยของตนเอง ซึ่งต้องการอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต ซึ่งสละทั้งหมด ทั้งบ้านเรือน ทั้งวงศาคณาญาติ ทั้งทรัพย์สมบัติ ต้องมีอัธยาศัยอย่างนั้น เพราะเหตุว่าถึงแม้ไม่สละอย่างนั้น ก็ยังรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นผู้มีสัจจะ ความจริงใจในการบวช

    ผู้ฟัง ก็ในเมื่อสนทนาธรรมไม่มีโทษแล้ว ทำไมพระพุทธเจ้าจึงยังตำหนิละครับ

    ท่านอาจารย์ ทรงตำหนิการคลุกคลีค่ะ ไม่ใช่ทรงตำหนิเรื่องการสนทนาธรรม

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าขณะที่สนทนาธรรม ขณะนั้นไม่ชื่อว่า คลุกคลี อย่างนั้นหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ชื่อว่า “คลุกคลี” เพราะเป็นการอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ต้องปฏิบัติให้คล้อยตามปริยัติที่ได้ศึกษาด้วย เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดเรียนปริยัติแล้ว ไม่ปฏิบัติคล้อยตามให้เหมาะสมแก่ปริยัตินั้น ผู้นั้นชื่อว่า ไม่มีอาวุธ

    ผู้ฟัง แล้วที่ว่า คลุกคลี คลุกคลี หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชอบที่จะอยู่ สนุกดี

    ผู้ฟัง เท่านั้นหรือครับ

    ท่านอาจารย์ มีความพอใจที่จะคลุกคลี ที่จะอยู่ด้วยกัน เป็นความพอใจที่จะอยู่ร่วมกัน เหมือนอย่างมิตรสหาย คฤหัสถ์มีมิตรสหาย เพราะอะไร เพราะอยู่ด้วยกันสบาย ยืนสบาย นอนสบาย พูดสบาย รับประทานอาหารสบายกับบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นสหาย

    ผู้ฟัง พระก็เหมือนกัน ก็มีสหายเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จะเหมือน ก็ไม่ต้องเป็นพระซิคะ ก็เป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็ยังรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้


    หมายเลข 5274
    5 พ.ค. 2567