สมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ


    ผู้ถาม ที่ท่านจำแนกออกมาว่าปรมัตถสัจจะกับสมมุติสัจจะ เรียนถามว่าธรรมคือสัจจะทั้งสองหรือเฉพาะปรมัตถสัจจะ

    อ.วิชัย ความจริงสัจจะมี ๒ คือโดยความเป็นสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ อย่างเช่นถ้าเรากล่าวว่ามีบุคคลนี้จริงไหม ก็จริง แต่ว่าจริงโดยสมมุติ อย่างเช่นถ้าเราจะกลับบ้านๆ มีจริงไหม ก็มีจริงแต่ว่าจริงโดยสมมุติเท่านั้น แต่ถ้าโดยปรมัตถ์แล้ว ถ้าไปจับต้องก็มีสภาพแข็งที่ปรากฏ หรือว่ามีเสียงดังที่ปรากฏ อันนี้ก็เป็นปรมัตถสัจจะ

    ผู้ถาม ธรรมที่ท่านอาจารย์พูดเป็นสัจจะอะไร

    อ.วิชัย เห็นเป็นสิ่งที่มีจริงไหม มีจริง ขณะนี้ก็กำลังปรากฏ แม้ไม่เรียกชื่อต่างๆ เลยก็ต้องเป็นปรมัตถสัจจะแน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    อ.สมพร ปรมัตถสัจจะหมายความว่า เป็นปรมัตถ์ เป็นของจริงอย่างแท้จริงไม่เปลี่ยนแปลง จิตหนึ่ง เจตสิกหนึ่ง รูปหนึ่ง นิพพานหนึ่ง เป็นปรมัตถสัจจะ นอกจาก ๔ อย่างนี้แล้ว เป็นสมมุติสัจจะ

    ผู้ถาม สงสัยอยู่ว่าธรรมคืออะไร

    สุ. ก็ต้องถามถึงขณะนี้ว่าคุณวิจิตรเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูป

    สุ. รูปอะไร

    ผู้ฟัง รูปคน รูปดอกไม้

    สุ. ขณะที่พูดถึงคนเป็นธรรรมหรือเปล่า เพราะทีแรกคุณวิจิตรบอกว่าเห็นธรรม เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริงใช่ไหม ก็ขอเพิ่มเติมเรื่องสมมุติสัจจะ กับปรมัตถสัจจะ เพื่อให้เข้าใจขึ้น ถ้าจะบอกคุณวิจิตรว่า ขอธรรมหน่อย คุณวิจิตรจะรู้ไหมว่าขออะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้ว่าขออะไรอยู่

    สุ. นั่นสิคะ แต่ถ้าบอกว่าขอเสื้อ ขอน้ำปลา ขอข้าว คุณวิจิตรเข้าใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับ

    สุ. เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีชื่อ สำหรับเรียกให้เข้าใจ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลยว่าหมายความถึงสิ่งใด ถูกต้องไหม แต่แยกได้ ว่าถ้าเป็นคำสมมุติเรียกให้เข้าใจกัน เป็นที่เข้าใจกัน นั่นคือสมมุติสัจจะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175


    หมายเลข 10001
    3 ก.ย. 2567