สติระลึกเป็นปกติเมื่อปัญญามากขึ้น
คือส่วนใหญ่โดยมากที่เข้าใจกันก็คือ คิดว่าจะต้องปฏิบัติ หรือบางคนก็สนใจปฏิบัติ แล้วกล่าวเลยว่า ไม่เรียน เพราะว่าเสียเวลา ปฏิบัติเลยดีกว่า แต่ให้ทราบว่า ความคิดทั้งหมดของเราต้องมีความเห็นถูกตามลำดับขั้นจริงๆ ถ้าใครกล่าวอย่างนี้ จะเห็นถูกไม่ได้เลย เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาขั้นต้น ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ แล้วจะปฏิบัติได้อย่างไร ไม่มีทางเลยที่ใครจะไปปฏิบัติได้
เพราะฉะนั้น จากคำถามข้อแรกของท่านผู้ถามคนแรก ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ส่วนใหญ่คิดถึงสติ แล้วอาจจะไม่ทราบว่าเป็นความกังวล เป็นความต้องการ หรือเป็นความห่วงว่า บางคนก็คิดว่า กุศลอื่นก็ทำ แต่ว่าสติปัฏฐานยังไม่เกิด หรือว่าเกิดน้อย หรือว่าควรจะเกิดมากกว่านี้ คือจุดมุ่ง สังเกตดูว่าไปอยู่ที่สติปัฏฐาน แต่ความจริงเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของการอบรม ต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้ปัญญาเกิดได้โดยเร็ว หรือว่าอยากจะทำก็ทำได้ แต่เป็นเรื่องที่ว่าปัญญา คือ ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเรียนเรื่องปรมัตถธรรม เรียนเรื่องจิต เรียนเรื่องเจตสิก เรียนเรื่องรูป ก็เพราะเหตุว่าขณะนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูป แล้วก็ยังไม่รู้เรื่องจิต เจตสิก รูปเลย แล้วก็ปัญญาเราก็เข้าใจอยู่แล้วว่า เป็นสภาพธรรมะที่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เกิดมาจนตาย กี่ภพกี่ชาติ ก็มีปรมัตถธรรม แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นความจริงว่า เป็นธรรมะ
เพราะฉะนั้น ก็มีความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ขั้นต้น เราต้องทราบว่า ยังไม่ต้องห่วงใย เรื่องสติปัฏฐาน หรือว่าสติยังไม่เกิด หรือว่าอยากจะเจริญสติ แต่ให้เข้าใจความหมายของคำว่า อบรมปัญญา สำคัญที่สุดเลย เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมะกำลังปรากฏ ฟังเรื่องจิต เพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรมะที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ฟังเรื่องเจตสิก ฟังเรื่องรูป ก็ให้ทราบว่า ขณะนี้มีจิต เจตสิก รูปจริงๆ แล้วถ้าปัญญาอบรมมากขึ้นๆ ความรู้เรื่องจิต เจตสิกเพิ่มขึ้น สติก็จะเริ่มระลึกเป็นปกติ
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไปที่ไหนสักแห่งหนึ่งแล้วก็ไปทำเหมือนกับที่ว่าเดินวันสุดท้าย แล้วก็มีอะไรก็ไม่ทราบปรากฏ นี่แสดงให้เห็นว่า เป็นความสงสัย เป็นความไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาจะไม่เป็นในลักษณะนั้นเลย ปัญญาจะไม่สงสัยว่า นี่อะไร นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็คือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นเครื่อง หรือเป็นสิ่ง เป็นสภาพธรรมะที่จะให้สติระลึก ธรรมะในขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้สติระลึก
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยฟังให้เข้าใจ แล้วสติจึงระลึกได้ เมื่อระลึกแล้วไม่ต้องห่วงว่าเร็วมาก สติปัฏฐานเกิดเร็ว หรือว่าอะไรอย่างนั้น ไม่เป็นไรเลย แต่ว่าผู้นั้นจะเริ่มรู้ลักษณะของ หลงลืมสติ กับ เวลาที่สติเกิด
นี่เป็นขั้นต้นทีเดียว แล้วเวลาที่สติเกิดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดว่าเร็ว สติเกิดก็เกิด หลงลืมสติก็หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จากการศึกษาทราบว่า แม้ว่าธรรมจะมีจริงเป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อใดที่สติไม่ระลึก เมื่อนั้นเป็นเพียงเรื่องราวที่ได้ศึกษา เช่นเรื่องราวของจิต เรื่องราวของเจตสิก เรื่องราวของรูป แต่ขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่ว่ามีสภาพปรมัตถธรรม ความรู้ทั้งหมดจากการศึกษา จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่สติระลึก จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด เพราะฉะนั้น คือการอบรมความรู้ ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปกติจริงๆ เพราะว่าสภาพธรรมะขณะนี้เป็นปกติอย่างนี้ โดยการศึกษาทราบว่า ดับเร็วมาก แต่เมื่อสภาพธรรมะไม่ได้ปรากฏการดับอย่างเร็ว ก็จะไปสนใจจุดที่ว่าดับอย่างเร็วไม่ได้ เพราะว่าขั้นแรกที่สุด ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม แล้วต้องสอดคล้องกับการที่ได้ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด เช่น จิตเป็นสภาพรู้ แค่นี้ค่ะ แล้วก็ยังมีคำอธิบายต่อไปว่า เป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าถึงอรรถ หรือว่าลักษณะของจิตจริงๆ ซึ่งเราก็ชินกับคำว่า ตั้งแต่เกิดจนตายมีจิตเกิดดับ แล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง
นี่ค่ะ ค่อยๆ ไตร่ตรองว่า ขณะนี้จิตสามารถเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของจิต คือ กำลังเห็น เป็นสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่ได้ยิน เสียงมี เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้เสียงที่กำลังปรากฏ
นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งการฟังเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ แต่เวลาที่สติเกิด ก็จะต้องมีการรู้ลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้อย่างนี้จริงๆ คือ ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าลักษณะของธาตุรู้จะปรากฏว่าเป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ ในการรู้อารมณ์ที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตื่นเต้นไม่มี เพราะว่าถ้าเรื่องตื่นเต้นโดยไม่รู้นั่นคือผิด เพราะไม่รู้จึงได้ตื่นเต้น แต่ว่าสภาพธรรมะขณะนี้ เห็นเป็นปกติ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นปกติ เห็นแล้วเกิดดีใจเป็นปกติ เห็นแล้วเกิดเสียใจเป็นปกติ ก็สามารถจะรู้จักลักษณะของนามธรรมเพิ่มขึ้นว่า นามธรรมไม่ใช่มีแต่เห็น แต่เห็นแล้วดีใจ ถ้าสติเกิด ก็รู้ว่า ลักษณะสภาพที่ดีใจก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ นามธรรมจะมากมายสักเท่าไร ผ่านไปแล้วก็จริง ผ่านไปอีกเรื่อยๆ ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า นั่นเป็นธรรมะประเภทต่างๆ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา ก็ไม่ห่วงเรื่องที่ว่า สติจะเกิดมากหรือจะเกิดน้อย จะลดละโลภะ คือ ความต้องการให้สติเกิดมากๆ หรือความต้องการให้จะให้ปัญญาเกิดเร็วๆ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตัวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏแต่ไหน ไม่ต้องถามใครเลย สภาพธรรมะกำลังปรากฏทางตา มีความเข้าใจมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมะแค่ไหน ขณะนั้นถ้ามีความเข้าใจรู้ ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วยแน่นอน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องไปปฏิบัติ หรือว่าจะทำ หรือจะปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องการอบรม
เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายทั้งหมดต้องอยู่ที่ปัญญาที่รู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ตามที่ได้ศึกษาตรงกัน
เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องลมหายใจ ขณะนี้ลมหายใจของใครปรากฏ เป็นธรรมดา อย่าลืมว่าเป็นธรรมดา ขณะนี้ลมหายใจของใครไม่ปรากฏ ก็เป็นธรรมดาอีก ทุกอย่างเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น ถ้าลมหายใจปรากฏ แล้วตื่นเต้น ไม่ธรรมดาแล้ว คือไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วจิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธาน ขณะที่มีลมปรากฏนั้นมีจิตที่กำลังรู้ลมนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นปัญญาจริงๆ จะแยกไม่ออกเลยว่า ขณะนั้นมีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ แล้วขณะนั้นโลกอื่นไม่มีเลย ขณะนั้นจะมีแต่ธาตุลม แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้ธาตุลมเท่านั้น นี่จึงจะเป็นการรู้สภาพธรรมะว่า เป็นธรรมะ หรือจะใช้คำว่า เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมะในธรรมะ เพราะว่าเป็นธรรมะ แต่เห็นธรรมะในธรรมะหรือยังว่าเป็นธรรมะ จิตก็มีขณะนี้กำลังเห็น แล้วเห็นจิตในจิต คือเห็นความเป็นจิต เป็นสภาพรู้ในจิตที่กำลังเห็นนี้หรือยัง เพราะว่าจิตขณะนี้กำลังเห็น แต่ปัญญาจะต้องเห็นถูกต้องว่า เห็นจิตคือความเป็นสภาพรู้ในจิตที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นเรื่องผิดปกติ หรือว่ากำลังจะผิดปกติ เพราะความตื่นเต้น เพราะความต้องการ ขณะนั้นให้ทราบว่า หวั่นไหวแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงจะต้องมั่นคง แล้วก็ที่จะมั่นคงได้ เพราะสติระลึก แล้วรู้ความจริงของสภาพธรรมะนั้นจนกว่าจะเป็นความมั่นคง มิฉะนั้นแล้วก็หวั่นไหวไป ตอนต้นๆ หรือว่าการอบรมก็จะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ก่อน จนกว่าปัญญาจะเห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นชื่อว่าไม่หวั่นไหว แต่ต้องอบรมกว่าจะถึงระดับนั้น