เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้


    ส. จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาธรรมะ ก็เพื่อที่จะเข้าใจสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะว่าทุกคนก็ได้ศึกษากันมาแล้วส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือว่าบางท่านก็ได้อ่านพระไตรปิฎกแล้ว แต่ก็ต้องทราบว่าจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมะนั้นคือ รู้ว่าธรรมะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ว่าธรรมะอยู่ในหนังสือ ขณะนี้เป็นธรรมะ แต่ตำรับตำราแม้พระไตรปิฎกก็เป็นพระธรรมที่ทำให้เราสามารถจะเข้าใจตัวธรรมะจริงๆ ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นคงไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเรียนเรื่องอะไรก็ตาม คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งควรที่จะต้องเข้าใจขึ้น อย่าคิดว่าเป็นแต่เพียงตัวหนังสือ หรือว่าตัวเลข แต่ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งหมด วันนี้เป็นการสนทนาธรรม ก็ขอเชิญผู้ที่มีคำถามค่ะที่จะสนทนา

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่า มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือ สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติต่อท่าน พวกที่ตายไปหมดจะทำอย่างไร ดิฉันยืนอยู่ตรงนี้ ตายหมดแล้ว ดิฉันควรจะปฏิบัติอย่างไร ถึงจะปฏิบัติกับท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้

    อ.สมพร การปฏิบัติพระคุณของแม่ เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ก็อย่างหนึ่ง เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็อีกอย่างหนึ่ง การที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เราก็บำรุงเลี้ยง บำรุงเลี้ยงทั้งกาย และใจ ทางใจก็เลี้ยงด้วยธรรมะ ทางกายก็ตามธรรมเนียมของโลก ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่าเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว เราก็ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นบุญ ที่เรานึกว่าเป็นของประเสริฐ แล้วก็อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ท่าน ไม่มีวิธีอื่นที่เราจะกระทำได้ นอกจากบุญ แล้วอีกอย่างหนึ่งเพราะว่าการที่เรากระทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญให้ท่านนั้น ประโยชน์นั้นได้แก่เราด้วย และได้แก่ท่าน ถ้าหากว่าท่านสามารถที่จะรับรู้อนุโมทนา อย่างอื่นนอกจากบุญแล้วไม่มี ถ้าหากว่าท่านล่วงลับไปแล้ว ไม่มี นอกจากบุญแล้วไม่มี

    คุณอดิศักดิ์ ผมขอเพิ่มเติมอาจารย์สมพรนิดหนึ่ง คือสำหรับที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างที่ดี คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านปฏิบัติมารดาท่านโดยการให้ธรรมะแก่มารดาท่าน เป็นเรื่องที่สูงส่งที่สุด จนกระทั่งมารดาของท่านก็ได้เป็นพระโสดาบัน นี่มีตัวอย่างในพระไตรปิฎก ส่วนที่ท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน จะเป็นทาน ศีล ภาวนา เมื่อเราไปฟังธรรมมา อะไรมา เราก็ได้บำเพ็ญกุศลใดๆ เราก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านไป สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ปัญหามันมีอยู่ว่า เราก็เรียนจากท่านอาจารย์มาแล้วว่า หลังจากที่จุติ คือเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น เขาก็จะต้องไปปฏิสนธิทันที ก็อยากจะเรียนถามอาจารย์สุจินต์ คำนี้อีก จะแผ่กุศล จะแผ่เมตตา จะอุทิศส่วนกุศล ๓ ตัวนี้ มันต่างกันอย่างไรคะ แล้วจะถึงท่านได้อย่างไร ในเมื่อท่านไปปฏิสนธิแล้ว แล้วเราก็ไม่รู้ว่าท่านไปปฏิสนธิอะไร เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์

    ส. นั่นก็เป็นเรื่องไกล แต่ทุกคนคงจะไม่ลืมว่า ผู้ที่หวังดีต่อบุตรที่สุดก็คือ มารดาบิดา เพราะฉะนั้น ถ้าบุตรเป็นคนดี เป็นการตอบแทนมารดาบิดาแล้ว เพราะเหตุว่าท่านต้องหวังให้บุตรเป็นคนดี

    การเป็นคนดี ไม่ใช่เป็นง่าย เพราะเหตุว่าถ้าจะดีพร้อมตั้งแต่ละชั่ว แล้วก็ทำความดี แล้วก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ดีเท่าไรก็ไม่พอ ใครก็ตามที่ทำดี แล้วดีขึ้น ก็คือการบูชาคุณของมารดาบิดา เพราะเหตุว่าท่านหวังที่จะให้เราเป็นอย่างนั้น สำหรับเรื่องที่คุณสุรีย์บอกว่า มีการอุทิศส่วนกุศลเวลาที่ท่านสิ้นชีวิตแล้ว เราก็อุทิศได้ทุกครั้งที่เราทำความดี เพื่อว่าท่านจะได้อนุโมทนา ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วลูกดี แม่ก็คงจะมีความสุข ปลาบปลื้ม ดีใจฉันใด เวลาที่ท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว แล้วท่านก็ทราบว่า ลูกก็ยังทำสิ่งที่ดี แล้วก็ยังอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย ท่านก็จะอนุโมทนามาก

    ผู้ฟัง มักจะเข้าใจผิด และสับสนระหว่างอุทิศส่วนกุศล บางคนก็บอกแผ่กุศล บางคนก็บอกแผ่เมตตา ดิฉันอยากจะให้อาจารย์ให้ความคิดที่ถูกต้องว่า ในกาลไหนจะใช้คำใด และต่างกันอย่างไร เช่น อุทิศส่วนกุศล กับแผ่กุศล เหมือนกันไหม อุทิศส่วนกุศล แผ่กุศลกับแผ่เมตตา เหมือนกันไหม

    ส. ถ้าทราบแล้วคงจะใช้คำอุทิศส่วนกุศล ไม่ได้ใช้คำว่าแผ่กุศล เพราะว่า อุทิศ หมายความว่าเจาะจง เพราะฉะนั้น การที่เราทำกุศล แล้วก็เราเจาะจงอุทิศกุศลนี้ ให้ท่านล่วงรู้ และอนุโมทนา นั่นก็เป็นการอุทิศส่วนกุศล

    เพราะฉะนั้น เมื่อทำความดีแล้ว เราก็อุทิศกุศลนั้นแล้วแต่ว่าเราจะเจาะจงบุคคลใด ซึ่งความจริงแล้วเราก็เจาะจงได้กว้าง ไม่ใช่แต่เฉพาะมารดาบิดาหรือผู้ที่มีพระคุณเท่านั้น แต่ว่าเราสามารถที่จะอุทิศกับทุกท่านที่สามารถที่จะรู้ และอนุโมทนาได้ นี่ก็เป็นคำที่ถูกต้อง คือ ใช้คำว่าอุทิศส่วนกุศล จะใช้คำว่าแผ่ได้ไหมคะ อาจารย์คะ

    อ.สมพร คำว่าแผ่ โดยมากเขาใช้ถึงเมตตา ถ้าคนที่ตายไปแล้วก็อุทิศกุศล ส่งไปให้ ไม่ใช่แผ่ ปกติเราต้องอุทิศ อุทิศส่วนกุศล คือ เจาะจงบุคคลนั้น บุคคลนี้ บุคคลที่เป็น แม่ผู้ที่มีบุญคุณอย่างมากเลย

    ก่อนอื่นผมขอโทษนิดหนึ่งก่อน ครั้งแรกที่บอกว่า อาหุเนยยะ อาหุ แปลว่า บูชา เนยยะ แปลว่าควรบูชา ที่ผมสับสนไปหน่อย ต้องขอแก้ใหม่ อาหุเนยยะ อาหุ แปลว่า บูชา เนยยะ แปลว่าควร คนที่ควรบูชา ที่อาจารย์บอกเมื่อครู่นี้ ท่านอาจารย์ก็เข้าใจดีแล้วว่า คนที่ตายไปแล้วต้องอุทิศอย่างเดียว ส่วนแผ่ แผ่เมตตาสำหรับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ คนที่ตายไปแล้ว เขาไม่นิยมแผ่เมตตา สำหรับคนที่ตายไปแล้ว ไม่มีเลย มีแต่ว่าผู้นั้นต้องมีชีวิตอยู่แล้วก็แผ่ไป แผ่เมตตา คือ หมายความว่าแผ่ความไม่โกรธของเรา จิตตั้งมั่นแล้วเราก็ไม่โกรธในสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นเหมือนกัน เหมือนอย่างเราไม่โกรธตัวเราเอง


    หมายเลข 10004
    16 ก.ย. 2567