พอตื่นขึ้นมาก็เอาบุญมาฝาก
ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์เข้าใจอุทิศแล้ว ใช่ไหมคะ ใช้เฉพาะเรื่องขณะที่เราทำกุศลแล้ว แล้วเราก็อุทิศกุศลนั้นให้กับบุคคลใดก็ตาม
ผู้ฟัง หมายความว่าคำที่ถูกต้อง คือ อุทิศกุศล หรืออุทิศส่วนกุศล ทีนี้เวลานี้สับสนกันมาก นี้ฉันก็แผ่เมตตา ไปทำบุญมา แผ่เมตตา หรือไปทำบุญมาแล้ว เอาบุญมาฝาก อันนี้อยากจะเรียนท่านอาจารย์สมพร เอาบุญมาฝากนี้ ฝากกันได้ไหมคะ
อ.สมพร คือเมื่อเราทำบุญไปแล้ว อย่างพ่อแม่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็บอกว่า กระทำบุญมาแล้ว ขอแบ่งส่วนกุศลนี้ให้พ่อแม่หรือให้ใครก็แล้วแต่ ถ้าเขาอนุโมทนา เขาก็ได้รับส่วนบุญนั้น แต่ถ้าไม่อนุโมทนา ถึงเราจะบอกให้สักร้อยครั้ง กุศลก็ไม่เกิดกับเขาเลย เราต้องการให้กุศลเกิดกับเขา เราจึงบอกว่า ขอแบ่งส่วนกุศลที่กระทำแล้วให้แก่พ่อหรือแม่ อะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นการจัดอยู่ในพรหมวิหารส่วนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าหากว่าท่านอนุโมทนา คือยินดีในกุศลที่เรากระทำแล้ว เหมือนยินดีในลาภ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคนอื่นได้ เราก็ยินดีด้วย แต่เมื่อเราทำกุศลแล้ว เราได้สิ่งที่ประเสริฐแล้ว เราบอกพ่อแม่แล้วพ่อแม่ก็ยินดีด้วย ก็จัดอยู่ในประเภทกุศลของพรหมวิหารส่วนหนึ่ง
ผู้ฟัง ถามอาจารย์สุจินต์ ผู้ที่จะรับอนุโมทนาได้ จะต้องเป็นสัตว์โลกประเภทไหน อย่างเรารับอนุโมทนาได้ไหม หรือคนที่ตายไปแล้วประเภทใดที่จะรับอนุโมทนาได้
ท่านอาจารย์ เรื่องธรรมะต้องเป็นเรื่องค่อยๆ เข้าใจ อย่าเพิ่งคิดว่าจะข้ามตอนนั้นตอนนี้ เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องของการอุทิศส่วนกุศลซึ่งเข้าใจไปแล้ว วันนี้ก็จะถึงเรื่องของเมตตา แต่เมื่อกี้นี้ยังค้างอยู่นิดหนึ่งที่ว่า ฝาก เอาบุญมาฝาก ตั้งแต่เช้ามีใครเอาบุญมาฝากใครบ้างหรือยัง เชื่อว่าทุกคนฟังธรรมะแล้วตอนเช้าแน่นอน บางคนก็อาจจะฟังตั้งแต่ตี ๕ ตี ๕ ครึ่ง ๖ โมงเช้า แล้วเจอหน้ากัน เอาบุญมาฝากกันหรือเปล่า ก็ฟังดูเป็นเรื่องที่แปลก เพราะเหตุว่าถ้าเราจะคิดถึงการที่เราจะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วก็เข้าใจได้ เผื่อว่าท่านจะล่วงรู้ และอนุโมทนา แต่สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจะทำอย่างนี้ไหมคะว่า เอาบุญมาฝาก เพราะว่าไม่ได้ทำกัน ควรจะทำหรือเปล่า หรือว่าเพราะรู้อัธยาศัยว่า ทุกคนอนุโมทนาเวลาที่ใครก็ตามทำดี อย่างเราตื่นเช้าขึ้นมา เราก็ฟังวิทยุ คนในบ้านเขาก็ได้ยินเสียง แล้วเขาก็รู้ว่า เรากำลังทำสิ่งที่ดี คือกำลังฟังธรรมะ ใจของเขาเป็นกุศลหรือเปล่า เป็นเรื่องที่เราไม่จำเป็นที่ต้องบอกว่า พอตื่นขึ้นมาก็เอาบุญมาฝาก เมื่อกี้นี้ฉันฟังวิทยุแล้ว หรือว่าฉันไปทำอะไรมา ก็เอาบุญมาฝาก
เพราะฉะนั้น บางคนก็รู้สึกว่า ต้องการกุศลมาก เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อยากจะทำ แต่ว่าลืมคิดถึงเหตุผลว่า ควรหรือไม่ควร เพราะเหตุว่าไม่ยากที่จะบอกใครว่า เอาบุญมาฝาก หรือว่าไปทำอะไรมาแล้วที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าคนนั้นที่ฟังจะเกิดกุศลจิตหรือไม่เกิด เราไม่สามารถจะรู้สภาพจิตของเขาได้ แต่ว่าถ้าเขาเป็นคนที่อนุโมทนาเสมอ เวลาที่ใครทำกุศล แม้เราไม่บอก เขารู้ เขาก็อนุโมทนา
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องรู้อัธยาศัยด้วย อย่าคิดว่าเราต้องการกุศล เพราะฉะนั้น เราก็จะบอกเขา เพราะเป็นกุศลของเรา แต่เขาจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา นั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่ตามความจริงแล้ว คิดถึงชีวิตจริงๆ ว่า เราทำความดี ถ้าใครรู้เขาก็อนุโมทนา แต่ถ้าเขาไม่รู้ เราก็อาจจะให้เขารู้ แต่ว่าไม่ใช่ในเชิงที่หวังที่จะให้เป็นกุศลของเรา จึงได้บอกเขา แต่ว่ามีทางอะไรที่จะช่วยให้จิตใจของเขาเกิดกุศล แล้วเรารู้อัธยาศัยของเขา เราก็บอกได้ แต่ว่าไม่ใช่เพราะว่า เราต้องการให้เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่งของเรา เพราะว่าพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ที่ว่าต้องทราบจุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่อรู้ถูกต้องแล้วละ ไม่ใช่เพื่อรู้แล้วจะได้มีมากๆ หรือว่าจะได้เพิ่มกุศลมากๆ แต่รู้เพื่อที่จะละ เพื่อที่จะขัดเกลา เพราะว่าขณะใดที่เป็นความต้องการ หรือความติดข้อง ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วความติดข้องเป็นเรื่องที่เห็นยาก รู้ยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะรู้ได้โดยง่ายเลย อย่างตื่นขึ้นมา ความติดข้องเวลาที่เห็น เวลาที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสในชีวิตประจำวันมีมากแค่ไหน ยังไม่ทราบ แล้วก็ยังไปติดข้องต้องการกุศลก็เป็นได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของโลภะ ติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากโลกุตรธรรม
เรื่องของอุทิศส่วนกุศลคงเข้าใจแล้วนะคะ
ผู้ฟัง อย่างสมมุติว่าการเจริญเมตตา สมมุติว่าเมตตา คือ มิตตะ คือความเป็นเพื่อน เพราะฉะนั้น การที่เราก็ฝึกที่จะเป็นเพื่อนกับคน คือแทนที่จะไปโกรธเขาหรืออะไร จะมีโทสะ ก็หมั่นเจริญ คือ หมั่นช่วยเหลือเขา จนเป็นอุปนิสยปัจจัย อย่างนั้นจะเป็นการอบรมเจริญเมตตาไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์มีเมตตาเพิ่มขึ้น คุณสุรีย์ก็ทราบ
ผู้ฟัง แต่แรกเราไม่คิดจะช่วย แต่พอเรามาเรียนธรรมะ เมตตานี้เป็นธรรมะที่ดี เราก็เป็นมิตรกับคน เราก็ช่วยเหลือคน การที่เราช่วย ช่วย ช่วย ก็คือการสะสมเมตตา ก็คือการเจริญเมตตา ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์จะสะสมเมตตา หรือคุณสุรีย์จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง มีเมตตาเพิ่มขึ้น
อ.สมพร คือเรื่องเมตตามี ๒ อย่าง ถ้าหากว่าคนที่มีความสามารถ เรียกว่าเจริญเมตตา สามารถทำให้ได้ถึงฌาน นั่นเฉพาะพวกที่มีความสามารถ ติเหตุกบุคคล แต่พวกเรา บางคนก็เป็นทวิเหตุกะ ก็สามารถมีความหวังดี แต่ไม่สามารถจะแผ่ได้อย่างพวกติเหตุกะ ทำเมตตาถึงฌาน พวกเรานี้ไม่รู้ว่าเราปฏิสนธิด้วย ทวิ หรือ ติ สมมุติว่าถ้าเป็นทวิเหตุกบุคคล บุคคลผู้เกิดมาด้วยเหตุ ๒ เราก็มีความหวังดี มีความเมตตาปกติ เรียกว่า กามาวจระ กามาวจร เมตตาของเราไม่มีกำลังเหมือนพวกที่ได้ฌาน กำลังอ่อนกว่าครับ