อุทิศส่วนกุศล - แผ่เมตตา


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ มีคำถามอยู่ ๒ คำถาม คำถามแรกคือว่า คำว่า แผ่ กับอุทิศ อุทิศแปลว่า เจาะจง ที่อาจารย์ได้กรุณากล่าวตั้งแต่แรก แต่คำว่าแผ่นี้แผ่อย่างไร ครับ หมายความถึงว่าเผื่อแผ่ เผื่อแผ่กับเพื่อนฝูง เรามีอะไรก็เผื่อแผ่กับเพื่อนฝูง

    อ.สมพร อุทิศกับแผ่ ต่างกัน แผ่ แปลว่า ขยายไป อุทิศ แปลว่า เจาะจง กุศลนี้จงถึงแก่ญาติ จงถึงแก่เทวดา จงถึงแก่คนนั้นคนนี้ เจาะจง อุทิศ ถ้าแผ่ ขยายเมตตาที่เรามีอยู่ คือความไม่โกรธ จิตใจเราเบิกบานแช่มชื่น แล้วก็อยากขยายความสุขอันนี้ให้สัตว์อื่นบ้าง ขอสัตว์อื่นจงมีความสุขบ้าง อะไรเหล่านี้ ขยายออกไป

    ผู้ฟัง อาการขยายเป็นลักษณะคล้ายๆ กับว่าเรา ก็เหมือนกับเราบอกให้เขาทราบ หรือว่ามันออกไปเป็นสาย เป็นพลังงาน หรืออะไรอย่างนี้ หรือว่าไม่ทางที่จะเข้าใจได้จนกว่า จะต้องถึงขั้นฌานจิต

    อ.สมพร ถ้าเรามีกำลังจิตอ่อน ก็ไม่สามารถที่จะขยาย จะแผ่ไปได้ ต้องทำจิตให้มีสมาธิ มีกำลังพวกได้ฌานครับ เพราะว่า พรหมวิหาร เกี่ยวกับฌานโดยมาก เป็นสภาวะ ส่วนน้อยสำหรับคนที่รู้ สามารถจะเจริญสติปัฏฐานได้เหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ได้เอาบัญญัติเป็นอารมณ์ เมตตาพรหมวิหาร พรหมวิหารทั้ง ๔ ปกติเป็นบัญญัติอารมณ์ แต่พวกเรานี้เข้าใจเรื่องบัญญัติอารมณ์ดี คราวนี้เรื่องพรหมวิหาร ๔ ก็สามารถเป็นปรมัตถอารมณ์ได้เหมือนกัน ถ้าเราจะพูดเฉพาะบัญญัติอารมณ์อย่างเดียว กุศลก็ต่างกับปรมัตถอารมณ์ ก็ขอให้เข้าใจว่าแผ่กับอุทิศ ต่างกันอย่างที่กล่าวแล้ว

    ผู้ฟัง ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในเรื่องแผ่ แผ่นี้ ถ้าสมมุติผมมีเพื่อนนั่งอยู่ใกล้ๆ ผมก็นึกถึงว่าให้เขามีความสุข ความสบายใจอย่างนี้ ก็คงเป็นลักษณะคล้ายๆ กับอุทิศใช่ไหมครับ ไม่ใช่แผ่ เพราะว่าเพื่อนของผม ผมเจาะจงเพื่อนผม สมมุติ ๔ คน อยู่แต่ละทิศ แต่ละทิศ ๔ ทิศ นั่งอยู่ใกล้ๆ เลย ผมไม่ได้ว่าจะโกรธเขา ผมไม่ได้ว่าจะอิจฉาริษยาเขา ผมเพียงแต่ว่าขอให้เขามีความสุข ความสบายมีความเจริญ อะไรก็แล้วแต่ หรือนั่งตรงนี้ ก็ขอให้สบาย ผมได้รับแอร์เย็นๆ ก็อยากให้เขาสบายด้วยอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้เป็น เจาะจง หรือว่า แผ่ ผมจะเรียนถามถึงอาการ ท่านอาจารย์สุจินต์ครับ

    ส. โดยมาก เรามักจะคิดถึงคำที่เราได้ยินได้ฟัง โดยที่เรายังไม่เข้าใจจริงๆ อย่างคำว่า “แผ่เมตตา” แล้วที่ทำกันอยู่อย่างที่คุณวีระพูดว่า นั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็มีเพื่อนอยู่ข้างๆ ก็บอกว่าขอให้เขาจงมีความสุข ถูกไหมคะ ก่อนนี้ที่คุณวีระจะได้ยินประโยคนี้ เคยมีเพื่อนไหมคะ

    ผู้ฟัง เคยมีครับ

    ส. แล้วยังไม่เคยได้ยินประโยคนี้เลย คุณวีระหวังดีต่อเพื่อนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเพื่อน หวังดีครับ

    ส. เมื่อใช้คำว่าเพื่อน คำว่าเพื่อนคำนี้มีความหมายมาก ตรงกันข้ามกับศัตรู คือศัตรูเป็นผู้ที่ประทุษร้าย แต่เพื่อนตรงกันข้าม เพื่อนจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนเลย แม้แต่คิดไม่ดี แม้แต่แข่งดี หรือแม้แต่พูดในสิ่งที่ไม่ดี หรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าเป็นเพื่อนจริงๆ หมายความว่า มีความหวังดี มีเมตตาต่อคนนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าคุณวีระยังไม่ได้ยินคำว่า ขอให้คนที่อยู่ข้างๆ จงมีความสุข แต่คุณวีระมีความหวังดีต่อคนนั้น ไม่ว่าจะพูดหรือจะคิดที่จะช่วยเหลือ ไม่ใช่ท่องเป็นคำออกมาว่า ขอให้ผู้ที่นั่งอยู่ข้างๆ เราจงมีความสุข นั่นเป็นเรื่องไปจำเอามา แล้วก็เป็นเรื่องที่พูด แต่ว่าใจจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะว่าใจจริงๆ ทุกคน ถ้ามีเพื่อนแท้ หรือว่าเพื่อนจริงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะเหตุว่าเขาจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นจากคนนั้น ไม่ว่าด้วยความคิดนึก ด้วยการกระทำ หรือว่าด้วยคำพูด

    เพราะฉะนั้น บางทีเราจะรู้ได้เลยว่า ตรงกับความหมายของคำว่าเมตตา เพราะว่าขณะใดที่มีเมตตา มีความเป็นมิตรต่อคนนั้น ในขณะนั้นจะไม่มีภัยกับคนนั้นเลย เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า เรามีเพื่อนตลอดเวลา หรือว่าเรามีเมตตาตลอดเวลา ขณะใดก็ตามที่จิตของเรามีความหวังดีอนุเคราะห์ต่อใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ต้องมานั่งท่อง ซึ่งแต่ก่อนนี้ก็ไม่เคยมีใครนั่งท่อง แต่ก็มีความเป็นเพื่อนได้ มีความหวังดีต่อคนอื่นได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เมตตาเกิด ไม่ใช่ไปนั่งท่อง แล้วอย่าคิดว่า ขณะที่นั่งท่องเป็นเมตตาแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นความจำที่เพียงแต่พูด แต่ใจจริงๆ ขณะนั้นเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าคนนั้นเกิดมีความเดือดร้อน เราช่วยหรือเปล่า หรือว่ามีเหตุการณ์อะไรที่เป็นสิ่งไม่ดีต่อคนนั้น เรามีความคิดที่จะอนุเคราะห์ที่จะช่วยให้เหตุการณ์นั้นผ่านไปหรือเปล่า นี่คือเมตตาจริงๆ ซึ่งเป็นเพื่อนจริงๆ เป็นความหวังดีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น เลิกคิดที่จะใช้คำตามที่ได้ยิน แต่ว่ารู้จักสภาพจิตที่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ ว่า ขณะไหนบ้างที่เป็นเมตตา

    ผู้ฟัง ขณะนั้นถ้าอาการเช่นนี้เกิดขึ้น ก็คือมีเมตตา มีลักษณะอาการของสภาพธรรมของเมตตาอยู่แล้ว

    ส. อาการอย่างนี้คืออะไรคะ

    ผู้ฟัง อาการอย่างนี้คืออาการที่เป็นเพื่อนกับคนข้างเคียง

    ส. ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นคำที่ท่อง

    ผู้ฟัง แล้วก็ไม่ใช่เป็นการรู้สึก เป็นอาการของการแผ่ด้วย เป็นแต่เพียงลักษณะของเมตตา

    อ.นิภัทร คุณวีระครับ เลิกใช้คำว่าแผ่ได้แล้ว เพราะว่าท่านอาจารย์ ท่านก็บอกแล้วว่า ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ต้องเป็นผู้ที่ได้ฌาน จิตต้องเป็นอัปปนาแล้ว เรานี้ยังไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือเจริญเมตตา แผ่นี้เลิกได้แล้ว ในตำราท่านบอกว่า สัพเพ สัตตา นั่นท่านพูดสำหรับใคร พูดสำหรับเราหรือเปล่า แต่เราก็เอามาท่องจนทั่วไปหมด เข้าใจผิดจนทั่วไปหมด

    อ.สมพร เอาอย่างนี้ ขณะนี้เราก็มีการกระทำ ๓ อย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ประกอบด้วยเมตตา ทางวาจา เราก็แนะนำสิ่งที่ควร อันนี้เรียกว่าเมตตาไปทางวจีกรรม การอนุเคราะห์เพื่อนฝูง โดยที่เราไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน สิ่งนั้นก็เป็นเมตตาทางกายกรรม และในความหวังดีทางจิตใจก็มีส่วนประกอบด้วย เป็นไปทั้งต่อหน้า และลับหลัง มีความเสมอภาคในความหวังดี ก็เป็นเมตตาประกอบด้วยมโนกรรม ขณะนี้เราไม่ได้แผ่ เพราะว่าเราไม่มีกำลังจิตถึงฌาน เรากระทำ ๓ อย่างนี้ก็เป็นเมตตา เมตตาเหมือนกันทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม พร้อมบริบูรณ์ ขณะที่เรามาสนทนาธรรมกันได้ในวันนี้ก็ประกอบด้วยเมตตาทางกายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง มโนกรรมบ้าง พร้อมเลยทั้ง ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง ครับ กราบขอบพระคุณ มีหลายคำถามเหลือเกิน อีกคำถามหนึ่งก็คือว่า ในเรื่องของอุทิศส่วนกุศล เราทำไมจะต้องพิจารณากันเฉพาะที่จะอุทิศส่วนกุศลในชาติที่เรารู้ คือ หมายความว่าคุณพ่อ คุณแม่ อะไรก็แล้วแต่ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ล่วงลับไปแล้ว เทพยดา อมนุษย์ ที่เขาสามารถจะล่วงรู้ที่เกิดกุศล ของเราได้ คือเราแสดงออกด้วยกาย หรือวาจา ทำไมจะต้องพิจารณาเฉพาะสิ่งที่เรารู้ในชาตินี้ หรือว่าไม่จำเป็นขอให้อดีตอนันตชาติด้วย อันนี้เป็นคำถามที่ว่า จำเป็นไหมจะต้องเจาะจงเฉพาะสิ่งที่เรารู้ในชาตินี้ ความรู้ในชาตินี้ ถ้าเผื่อเราไม่รู้ในชาตินี้ เราไม่รู้คือเรื่องการอุทิศส่วนกุศล ก็คงจะไม่มีการอุทิศส่วนกุศลอย่างนั้น ใช่ไหมครับ

    ส. ทำไมคุณวีระใช้คำว่า จำเป็น คะ

    ผู้ฟัง คือจำเป็นต้องพิจารณาถึงวันนี้ วันนี้ก็วันแม่ ถึงจะคิดถึงคุณแม่ของผม ส่วนที่ผมจำไม่ได้ ก็ไม่เข้ามาเกี่ยว หรือไงครับ

    ส. ก็แล้วแต่ หมายความว่า คุณวีระจะอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง ได้หมด ไม่มีการบอกว่าคนนี้ไม่ได้ คนนั้นไม่ได้ อยากจะอุทิศให้ใครได้หมดเลย อุทิศไปเลย ไม่ว่า อดีตอนันตชาติ ผู้มีพระคุณ ตั้งแต่อดีตอนันตชาติก็ได้

    ผู้ฟัง ใช่ครับ แต่ ผมจะไปคิดถึงคุณแม่ผมคนแรก อยากให้คุณแม่ผมรู้มากๆ

    ส. ก็อุทิศไป

    ผู้ฟัง ไม่มีลำดับว่า ผู้ใดจะ

    ส. ไม่มีค่ะ แล้วแต่อุทิศใครได้หมด

    ผู้ฟัง คุณแม่ก่อน คุณพ่อ แล้วคนที่ต่อๆ ไปได้น้อย

    ส. ไม่ค่ะ ไม่ต้องเรียงลำดับ แล้วแต่ใจของคุณวีระ ก็คุณวีระลำดับของคุณวีระเอง เมื่อกี้นี้ก็บอกแล้ว คิดถึงคุณแม่ก่อน ก็เป็นเรื่องที่ใครจะไปเปลี่ยนแปลง ว่าคุณวีระ อย่าไปอุทิศให้คุณแม่ก่อน อุทิศให้คนนั้นก่อนไม่ได้ แล้วแต่ใจ

    ผู้ฟัง คือที่จริง เกรงว่าจะนึกถึงคุณแม่ก่อน ก็คนอื่นที่รักเหมือนกัน ก็จะไม่ได้

    ส. ไม่เกี่ยว ใจคุณวีระเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น


    หมายเลข 10010
    16 ก.ย. 2567