การเจริญเมตตา


    ผู้ฟัง กระผมขอเรื่องเมตตาต่อนิดหนึ่ง วิธีการเจริญเมตตาอย่างที่ท่านอาจารย์ได้พูดขึ้นมาเจริญอย่างไร ขั้นต้นควรจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้เจริญเมตตา เพราะว่าหลายๆ ท่านที่มา เช่นอย่างทางผมเป็นครั้งแรกที่ได้มาฟัง แล้วไม่ทราบเลยว่า ความที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนควรจะต้องทำตัวอย่างไร

    ส. ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง ทำไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจ ถูกไหมคะ แม้แต่เมตตา ถ้าไม่ทราบว่า เมตตาคืออะไร แล้วจะเจริญได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องมาที่การตั้งต้นว่า เมตตาคืออะไร ซึ่งเมื่อกี้นี้ได้กล่าวถึงแล้วว่า เมตตาคือความเป็นเพื่อน ความหวังดี มีจิตคิดจะอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลใด ขณะนั้นเป็นเมตตา ไม่ใช่มีวิธีเจริญที่เราจะต้องไปหาหนังสือมาเลย แต่หมายความว่าจะต้องเข้าใจลักษณะสภาพจิตเราว่า ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า เคยมีเพื่อนไหม

    ผู้ฟัง ครับ มีเพื่อนครับ

    ส. เคยมีเพื่อน รักเพื่อนไหมคะ

    ผู้ฟัง รักครับ

    ส. ขณะที่รักเป็นเมตตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางทีไม่แน่ใจครับ

    ส. รักไม่ใช่เมตตา นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วเราไปหาหนังสือมาอ่าน แล้วพยายามจะทำให้เกิดเมตตา เป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่า เมตตาไม่ใช่โลภะ โลภะเป็นอกุศล แต่เมตตาเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ๒ อย่างนี้ต่างกัน โลภะเป็นลักษณะของการติดข้อง ต้องการ แต่เมตตาเป็นการที่เป็นมิตร ช่วยเหลืออนุเคราะห์ ถ้าเคยมีเพื่อนก็พอที่จะทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นรักเพื่อน แล้วก็ขณะไหนเมตตาเพื่อน แต่ว่าเมตตาเพื่อนก็ยังจำกัด คือน้อย เฉพาะเพื่อน ซึ่งอาจจะปนกับความรักเพื่อน แต่ถ้าเมตตาจริงๆ แม้คนซึ่งเราไม่รู้จัก แต่เราก็สามารถจะมีความเป็นมิตรกับเขาได้ คือไม่มีความเป็นศัตรู สามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลได้ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปหาตำราอะไร เพียงแต่ว่าให้ทราบว่าเมตตาคืออะไร แล้วขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เมตตาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะเห็นความต่างกันของเมตตากับโลภะ เมื่อเห็นความต่างกัน เวลาที่มีเมตตาเกิดขึ้น ก็สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นเมตตา แล้วก็ถ้ามีเมตตาก็ยังน้อยอยู่ เพราะว่าไม่สามารถจะมีเมตตากับคนทั่วไปได้ ก็เจริญเมตตา หมายความว่า มีเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้าต้องการเจริญเมตตาก็คือว่า เป็นผู้ที่เห็นว่า เมตตาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น เป็นความคิดในทางฝ่ายกุศลที่จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ครับ ผมก็พอทราบมาว่า การเจริญเมตตานี้ค่อนข้างจะทำยากมาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่นอย่างบางท่านผู้รู้ก็เคยแนะนำว่า การจะเจริญเมตตา สิ่งแรกที่ควรจะเริ่มเจริญ คือเจริญเมตตาให้ตัวเอง เพราะมันไม่มีโทสะ เป็นอโทสะ อันนี้ไม่ทราบว่าจะเป็นพื้นฐานอย่างแรกดีไหมครับ หรืออย่างไร ผมฟังมาผิดหรือเปล่า เพราะอย่างที่ฟังท่านอาจารย์ ใช่ครับ แต่เรามองทุกท่านในห้องประชุมนี้ บางท่านอาจจะเกิดปีติ เหมือนกับเคยเจอกันมาก่อน บางท่านอาจจะมองว่า เหมือนกับไม่ค่อยถูกชะตา อันนี้อาจจะเป็น อันนี้ผมยกตัวอย่าง ดังนั้นการที่เราจะอบรมตัวเราให้มองท่านใดท่านหนึ่งให้เหมือนกันเลย ควรจะใช้อุบายอะไรอย่างไรครับ

    อ.สมพร เมตตาเป็นการขัดเกลากิเลส เรามีเพื่อนฝูงมาก เรารักเพื่อนฝูงมาก ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ ถ้าเป็นการขัดเกลากิเลส กิเลสไม่เกิดขึ้นในจิตของเรา เรามีเพื่อนฝูงมาก ก็ประกอบด้วยกุศลมากเหมือนกัน แต่ว่าปกติขณะนั้นจิตของเราเป็นอย่างไร ขัดเกลากิเลสหรือเปล่า กิเลสอย่างหยาบสำคัญที่สุดคือ โทสะ หยาบที่สุด ขณะนั้นเรามีหรือเปล่า เมื่อไม่มีแล้ว มีโลภะไหม เมื่อโลภ ะ โทสะ ๒ ตัวที่มันเกิดบ่อยๆ นี้ไม่มีแล้ว เมตตาก็เกิดได้เหมือนกัน แต่บางทีโลภะก็เกิดแทน เพราะว่าเราไม่ได้ขัดเกลา ต้องเข้าใจว่าเมตตานี้คือ การขัดเกลากิเลส สำหรับตัวเราฝึกหัดขัดเกลากิเลส ทุกวัน ทุกวันบ่อยๆ ก็เพิ่มกุศลมากขึ้น ไม่ใช่ว่าประกอบด้วยโลภะ เมตตากับโลภะ มันใกล้กันมาก คือมีความรักเหมือนกัน โลภะก็รัก เมตตาก็รัก แต่ว่ามันต่างกัน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นถ้าจะสรุปในข้อนี้ ก็คือจะต้องเข้าใจคำว่า “โทสะ” เสียก่อน ก่อนที่จะเจริญเมตตาได้ใช่ไหมครับ

    ส. พูดเหมือนกับว่า คุณกอบพงศ์ไม่เคยมีเมตตาเลย หรืออย่างไรคะ

    ผู้ฟัง มิได้ครับ ครั้งหนึ่งในชีวิต เรามั่งมีมาก เรามีเพื่อนเยอะมาก เขาเป็นเพื่อนกับเราเพราะเรามีสตางค์

    ส. อันนั้นคงไม่เกี่ยวกับใจของเรา คือใจของเรามีเมตตาขณะใด เรามีความเป็นมิตร เป็นเพื่อนที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือคนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณกอบพงศ์เคยมีเพื่อน หรือว่าเคยช่วยเหลือใคร ขณะที่เป็นศัตรู คิดว่าคุณกอบพงศ์คงไม่ช่วย หรือเคยช่วยศัตรูเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ขณะนี้ช่วย

    . ขณะใดที่ช่วย ขณะนั้นทำไมช่วยล่ะคะ

    ผู้ฟัง ไม่ต้องการจะมีเวรซึ่งกัน และกัน

    ส. ก็เป็นเรื่องที่ ถ้าคิดจริงๆ เราอาจจะต้องไปหาเหตุผล แต่จริงๆ แล้วขณะใดจิตที่เมตตาเกิดขึ้น เราไม่ต้องหาเหตุผลอะไรเลย เรารู้แต่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่ดี ที่ต้องการให้คนนั้นมีสิ่งที่ดี หรือว่าได้รับสิ่งที่ดีเท่านั้น มีความเป็นเพื่อนจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่เห็นน่าจะสงสัย คำว่าเพื่อนหรือว่าเมตตา เพราะเหตุว่าทุกคนก็เคยมี แต่ว่ามีไม่มาก ข้อสำคัญก็คือมีไม่มาก เคยมีอาหารอร่อยๆ ไหม

    ผู้ฟัง เคยครับ

    ส. รับประทานคนเดียวหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ทานคนเดียว

    ส. บางคนเขาสามารถจะให้อย่างอื่นได้ แต่อาหารอร่อย ให้ไม่ได้ ขออย่างเดียว คือว่าจะเอาอะไรก็เอาไป แต่ความติดในรส ทำให้เขาไม่สามารถจะแบ่งอาหารนั้นให้คนอื่นได้ ขออะไรได้หมด แต่อาหารจานนี้ต้องขอให้เขาได้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นไม่มีจิตที่เมตตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราต้องมานั่งท่องว่า ให้มีเมตตาต่อตัวเอง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ใช่ไปอ่านหนังสือ แล้วก็ไม่เข้าใจความหมาย แล้วก็ตามตัวหนังสือ แล้วก็คิดว่า ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงขณะที่กำลังรับประทานอาหารอร่อย เฉพาะตัว แล้วก็มีอีกคนซึ่งนั่งข้างๆ เกิดคิดไหมคะว่า เขาคงอยากจะรับประทานอาหารอร่อยนั้นเหมือนกับเรา เพราะว่าอาหารนี้อร่อย หรือว่าบางทีเรามีคนในบ้าน แล้วเราก็มีอาหารอย่างดีซึ่งเราจะเก็บไว้รับประทาน แต่ถ้าเกิดคิดว่า เขาก็คงอยากจะรับประทานเหมือนเรา แล้วสามารถที่จะแบ่งปันให้ได้ ขณะนั้นต่างกับจิตที่คิดจะเก็บไว้ รับประทานคนเดียว หรือว่าจะเก็บไว้รับประทานต่อไป

    เพราะฉะนั้น การที่บอกว่ามีตนเป็นพยาน ก็หมายความถึงว่า เราฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น ขณะนั้นเมตตาไม่เกิด เมตตาอาจจะเกิดตอนอื่น ขณะอื่น แต่พอถึงเรื่องซึ่งไม่เคยเกิด คือเป็นเรื่องอาหารอร่อย ซึ่งไม่ค่อยจะแบ่งให้ใคร แต่ว่าถ้าเกิดคิดขึ้น ขณะนั้นมีจิตเมตตาเกิดขึ้น แบ่งให้ได้ทันที นั่นคือการมีเมตตาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง กราบเรียนอาจารย์ ฟังแล้วก็เข้าใจเรื่องเมตตาว่า เราเจาะจงใครไม่ได้ เพราะว่าเราต้องมีแก่ทุกคนๆ ความหวังดี ความรู้สึกนึกคิดอะไร อยากให้เขาเป็นสุข อะไรอย่างนี้ เราจะเจาะจงว่าจะให้ญาติพี่น้อง พ่อแม่เราไม่ได้ หมายความว่าให้ต้องให้ทั่วไป แล้วก็ในบุคคลปุถุชนนี้ อย่างพวกเรานี้ ไม่มีทางที่จะแผ่เมตตา ใช้คำว่าแผ่อีกครั้ง

    ส. ทำไมไปคิดไกลถึงจะแผ่ให้กว้าง เอาเพียงแค่มีเมตตาบ่อยๆ แล้วเพิ่มขึ้น ดีไหมคะ

    ผู้ฟัง แน่นอน แต่อยากทำความเข้าใจ คือแปลว่าเราไม่มีสิทธิแล้ว ว่าอย่างนี้ คือคนที่จะมีสิทธิพวกชั้นพรหม ใช่ไหมคะอาจารย์

    ส. คือเราสับสนเรื่องคำ แล้วเราไม่เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น เราเริ่มเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ไม่ต้องไปคิดเรื่องแผ่อีกต่อไปแล้ว แต่ควรจะคิดว่าควรมีเมตตาเพิ่มขึ้น จะถูกต้องกว่า คนที่ไม่มีเมตตา ต้องเป็นคนที่ใจร้ายมาก คือไม่เคยมีเมตตาเลย แต่มี อาจจะไม่รู้ว่าชื่อเมตตาก็ได้ หรือว่าเป็นสภาพของ

    อโทสเจตสิก เพราะเหตุว่าแม้แต่คำว่าเมตตา ก็ไม่ใช่ภาษาไทย เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะคิดถึงคำว่าเมตตา เราก็จะงงว่า เมตตานี้คืออะไร แล้วก็เมื่อไร แล้วถ้าพูดถึงภาษาไทยง่ายๆ ก็คงจะไม่มีปัญหา ใจดี หมายความว่าอย่างไรคะ ทุกคนรู้จักคนใจดี คนที่ใจดีคือคนที่มีเมตตา อาจารย์สมพรท่านใจดี ใช่ไหมคะ ทุกคนยอมรับไหมคะ ที่ใจดีขณะใด ขณะนั้นเมตตา ไม่ได้ใจร้าย ไม่ได้หวังร้ายต่อใครเลย

    เพราะฉะนั้น เราก็ทราบว่า ถ้าพูดถึงคำว่า มีเมตตา ไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ว่าจิตนั้นมีเมตตาแล้ว แต่ส่วนการที่จะรู้ลักษณะของเมตตา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าเราพูดถึงชื่อ พูดถึงสภาพธรรมะโดยชื่อ แต่ว่าไม่ใช่ถึงโดยการประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมะนั้น

    เพราะฉะนั้น เราก็พอจะทราบได้ว่า ใครมีเมตตา คือคนที่ใจดี ส่วนคนที่ไม่มีเมตตาขณะไหน เราก็บอกว่าใจร้าย ขณะนั้นก็คือไม่มีเมตตา


    หมายเลข 10011
    22 ส.ค. 2567