การแผ่เมตตาเป็นเรื่องของสภาพจิต


    ผู้ฟัง ขออนุญาตถามนิดหนึ่ง คือ ที่กล่าวว่า พรหมที่แผ่เมตตานั้นมาเปรียบเทียบกับการอุทิศส่วนกุศล ที่เข้าใจการอุทิศส่วนกุศลนั้นจะต้องมีผู้ให้ แล้วก็มีผู้รับ แต่สำหรับการแผ่เมตตานั้น นึกไม่ออกว่า สมมุติพรหมแผ่ให้กับสัตว์โลก ผู้รับ สัตว์โลกจะรับอย่างไร คืออย่างอุทิศส่วนกุศล เราก็ทราบว่า รับทราบแล้วก็อนุโมทนา จิตเป็นกุศลตาม แต่ในการแผ่เมตตาของพรหมนั้น แผ่ให้สัตว์โลกแล้ว อย่างเช่นแผ่ให้พวกเรา เราจะทราบได้อย่างไรว่า นั่นเป็นเมตตาที่ท่านแผ่มา หรือว่าเมตตาเป็นเพียงสภาพจิตของพรหมเองซึ่งมีความเมตตากว้างไกลออกไป จึงเรียกว่าแผ่เมตตา เรียนถามอาจารย์สุจินต์ คะ

    . คุณพันทิพาเข้าใจความต่างกันของคำว่า อุทิศกับคำว่าแผ่แล้ว ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว

    ส. แผ่ไม่ใช่การกระทำแบบทางกาย แต่เป็นเรื่องสภาพจิตที่มีเมตตากว้างทั่วไปหมด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอุทิศ การอุทิศนั่นคือเจาะจงให้บุคคลอื่นได้รู้แล้วอนุโมทนา แต่ว่าเรื่องของเมตตาไม่ใช่เรื่องของอุทิศ เป็นเรื่องของสภาพจิตซึ่งมีเมตตากว้างมาก เพิ่มขึ้น ตลอดจักรวาลหรืออะไรก็แล้วแต่สภาพจิตของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคอยรับเมตตาว่าใครแผ่มาให้เรา ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเรื่องสภาพจิตของคนนั้น

    อ.สมพร พวกเราควรจะพูดว่า “กระทำเมตตา” มากกว่า เช่นกระทำการงานช่วยเหลือคนอื่น เมตตา กรุณา ๒ อย่างเกิดพร้อมกัน เช่นคนกำลังป่วย เจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ช่วยเหลือเขา นี่ก็เมตตากับกรุณาก็เกิดสลับกันไป สลับกันมา คือก็ทำกุศล กระทำกุศลนั่นเอง เราไม่ต้องใช้คำว่าแผ่ ถ้าแผ่จิตของเราต้องมีกำลังสูงขึ้นถึงมหัคคตะ อันนี้เป็นกามาวจร เป็นกุศลธรรมดา เรียกว่ากระทำกุศลทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เหมือนเราที่เราช่วยคนป่วย นี่ก็เช่นเดียวกัน เมตตากับกรุณา สลับกันไป สลับกันมา ช่วยเขาให้พ้นจากทุกข์ เขาจะพ้นจากทุกข์จริงหรือไม่ ก็แล้วแต่เขา แต่เจตนาของเรามีอยู่ นั่นก็เป็นกรุณาเจตสิก คือ กรุณาในพรหมวิหาร ๔ ขณะที่เรามีความรักต่อเขา รักสัตว์ทั้งโลก ก็เป็นสภาพเดียวกัน มีความรักไม่ประกอบด้วยโลภะ นั่นก็เป็นเมตตา เมตตากับกรุณามักจะเกิดสลับกันเสมอ บางครั้งเราก็แยกแยะไม่ได้ แต่ว่าสำหรับคนที่มีความรู้แล้ว ก็พยายามแยกได้ ควรจะเรียกว่ากระทำกุศล สำหรับกามาวจร ทำกุศล เช่นเราสนทนาธรรม เมตตาทางวจี อย่างพระพุทธเจ้าเทศนาสั่งสอน ก็คือกรุณา ช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ สัตว์โลกกำลังมีทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรม อันนี้ก็เป็นกรุณา แล้วก็คู่กับเมตตาเช่นเดียวกัน แต่มีกรุณาเป็นที่ตั้ง การที่เขาไม่รู้ธรรมก็เพื่อให้รู้ธรรม เช่นปัจจุบันเราสนทนาเรื่องธรรม เพื่อให้ธรรมนี้แจ่มแจ้งมากขึ้นๆ อย่างอาจารย์ก็นำแรื่องปฏิบัติมา ปฏิบัติ กับปริยัติ เป็นของคู่กัน การที่สนทนาเป็นปริยัติ แต่ว่าขณะหนึ่งต่อไปอาจจะเป็นปฏิบัติได้ติดต่อกันนั้น นี้ก็เป็นเมตตาเหมือนกัน เมตตาทางวจีกรรม แล้วก็ควรจะใช้คำว่ากระทำ แผ่มันต้องมีกำลังมากกว่า พวกเรากามาวจรจิต จิตเกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว เกิดดับ เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เดี๋ยวก็เป็นเมตตา เดี๋ยวก็เป็นกรุณา เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ควรจะใช้คำว่ากระทำ เหมาะสม


    หมายเลข 10012
    22 ส.ค. 2567