รู้แค่ไหนก็ละแค่นั้น
ผู้ฟัง ฟังที่ท่านอาจารย์กับคุณสุนานได้สนทนากัน ก็พอจะทราบ จำความได้ว่า จิตเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมะที่เกิดขึ้นสลับกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดดับสลับกันอยู่เรื่อย รู้ว่าสภาพธรรมะจากการศึกษา พอเข้าใจว่า มีจิต เจตสิก เกิดขึ้น แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่าเป็นเรากำลังเห็น เรากำลังได้ยิน เรากำลังได้กลิ่น อะไรอย่างนี้ เพราะอะไรครับท่านอาจารย ครับ
ส. ปัญญาไม่พอ ที่จะรู้ความจริง ทั้งๆ ที่บอกว่า ขณะนี้ทางตา สิ่งที่เกิดเป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วจิตที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับ ทั้งๆ ที่ในตำราก็บอกอย่างนี้ อ่านดู ฟังดู ไม่ว่าจะโดยท่านผู้ใดก็ตามก็กล่าวอย่างนี้ แต่ทำไมไม่เห็นอย่างนี้ เพราะว่าอวิชชามีมาก ไม่สามารถจะเห็นความจริงอย่างนี้ได้ เพียงแต่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง คือฟังแล้วก็เข้าใจว่า ในขณะที่เห็นต้องมีสภาพธรรมะอยู่ ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จากการศึกษาเรารู้ แต่เมื่อไรหรืออย่างไร จริงๆ แล้วสภาพธรรมะนั้นถึงจะปรากฏแก่เรา หรือจะเกิดขึ้นกับเรา
ส. เมื่อความรู้เพิ่มขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จุดมุ่งไม่ได้ไปอยู่ที่เมื่อไรเราจะรู้ แต่เมื่อฟังธรรมะแล้วเข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้น ถูกต้องยิ่งขึ้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ทีนี้พอฟังแล้ว พอมีเวลาผมเองก็มักจะคิดเหมือนคุณสุนานว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา จะต้องมีสิ่งๆ หนึ่งที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็มีสภาพรู้อย่างหนึ่งซึ่งไปรู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับไปแล้วถึงจะนึกคิดว่า นี่เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นไมโครโฟน เป็นนายประทีป หรือเป็นคน เป็นพี่เป็นน้อง อะไรอย่างนี้ ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ แล้วเราก็พิจารณาอย่างนี้ จะเป็นประโยชน์ไหมครับท่านอาจารย์
ส. ประโยชน์อยู่ที่อะไรคะ เมื่อกี้นี้
ผู้ฟัง ประโยชน์อยู่ที่ คิดพิจารณา
ส. รู้แล้วละ ถ้ารู้แล้วกังวล ประโยชน์ไหมคะ รู้แล้วก็กลับกังวล
ผู้ฟัง ก็อันนี้ไม่เป็นประโยชน์
ส. แต่รู้แล้วก็ละ คือ ความจริงเป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ ก็ศึกษาต่อไปพิจารณาต่อไป เข้าใจต่อไป
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าเราจะรู้ความจริงว่า สิ่งๆ นี้เป็นโมโครโฟน ทั้งๆ ที่ความจริงสภาพธรรมะที่กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วมีสิ่งที่เรารู้ สภาพรู้อันหนึ่ง รู้ว่าสิ่งๆ นี้ที่กำลังปรากฏเกิดขึ้น ในขณะนั้นจิตเห็นก็ได้ยิน แต่ในขณะที่รู้อย่างนี้ ก็ยังเห็นว่าเป็นไมโครโฟน แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหมครับ
ส. ดีกว่า คือเราดีกว่า หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ไม่ใช่เราดีกว่าครับ
ส. ถ้ารู้แล้วละ นั่นถูก
ผู้ฟัง ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุดเราเริ่มรู้ความจริงว่า ตลอดชีวิตของเราที่ว่า ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส เป็นชื่อโน้น ชื่อนี้ เป็นเมตตา เป็นกุศล เป็นขึ้นรถเมล์ ลุกให้คนนั่งอะไรเหล่านี้ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมะที่เขาทำกิจการงานหน้าที่ของเขา ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นประโยชน์ไหมครับท่านอาจารย์
ส. ถ้ารู้แล้วละ ก็เป็นสภาพธรรมะ ก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้น ไม่ต้องกังวลอะไรอีก เรื่องประโยชน์ไม่ประโยชน์
ผู้ฟัง เราจะรู้สภาพจริงๆ อย่างนี้ได้อย่างไรครับ ก็ฟัง บางคนฟังมาตั้ง ๑๐ ปีก็ยังเข้าใจอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ อย่างนี้
ส. ก็รู้แล้วไม่ละ
ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า รู้แล้วละ หมายความว่า การที่รู้จะเป็นในลักษณะใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง การศึกษา การพิจารณา ถ้ารู้ในขณะนั้นแล้วก็สามารถจะนำไปซึ่งการละได้ก็เป็นประโยชน์
ส. รู้แค่ไหน ก็ละแค่นั้น รู้แล้วกังวล ไม่มีประโยชน์เลย แต่รู้แล้วละ คือ ความจริงเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น แล้วก็รู้ต่อไปอีก ศึกษาต่อไปอีก เข้าใจต่อไปอีก โดยที่ไม่กังวล
ผู้ฟัง ก็ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง การพิจารณา ศึกษาเรียนรู้ในทางใดๆ ก็ได้ ที่จะทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้น
ส. ขณะใดที่ฟังแม้แต่ในขณะนี้ เกิดความเข้าใจขึ้น แล้วค่อยๆ ละ ความจริงเป็นอย่างนี้ก็คือเป็นอย่างนี้ ความรู้ยังไม่พอก็คือยังไม่พอ ก็ฟังต่อไป พิจารณาต่อไป เข้าใจต่อไป
ผู้ฟัง ผมขอเรียนถามคำถามต่อเนื่อง คำว่า “รู้แล้วละ” นี่คือหัวใจพุทธศาสนาหรือเปล่าครับ
ส. ถูกต้องค่ะ เพราะว่ากิจของปัญญา ไม่ใช่กิจติดข้อง
ผู้ฟัง แล้วอย่างเคยถูกอบรมมาว่า ให้ละชั่ว ทำความดี แล้วขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง นั่นคือหัวใจพุทธศาสนา
ส. พระธรรมทั้งหมดเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยดี ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม ไม่มีความเข้าใจเรื่องอนัตตา เหมือนกับสั่ง หรือบอกให้ทำอย่างนั้น ให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เหมือนสั่ง แต่ความจริงทรงแสดงสภาพธรรมะตามความเป็นจริงให้ผู้ฟังพิจารณา เพราะเหตุว่าจะบอกใครก็ตามให้ละชั่ว เขาละได้ไหม บอกไปเถอะ เขาก็ละไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทรงแสดงเหตุผล สิ่งที่ไม่ดีก็เป็นสิ่งที่ควรละ แต่ไม่ใช่ว่าสั่งหรือบอก หรืออยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่า ต้องละ หรือทำให้ได้ แต่ว่าต้องมีความรู้เพิ่มขึ้นอบรมเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าการละนั้นเป็นเรื่องของความรู้ คือ ปัญญา ถ้าไม่มีความรู้ ละไม่ได้