ภาษาไม่ใช่อุปสรรค
ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามว่าเกี่ยวกับธรรมะ หรือพระพุทธศาสนา จะมีคำบาลี สันสกฤตเยอะมาก อยากจะให้อาจารย์สรุปสั้นๆ สำหรับคนที่อยู่ในวัยรุ่นหรือว่า วัยหนุ่มสาว หรือว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานให้เข้าใจถึงตรงนี้ ตรงธรรมะที่สามารถจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจได้ง่ายๆ อย่างบางทีคำว่า โทสะ โมหะ โลภะ อนัตตา อะไรพวกนี้ คือบางทีวัยรุ่นจะไม่เข้าใจคำพวกนี้ หรือเขาฟังแล้วจะเบื่อ ไม่อยากจะฟังธรรมะ
ส. ความจริงคนไทยเราหนีไม่พ้นภาษาบาลี แน่นอนค่ะ
ผู้ฟัง คือภาษาทั่วๆ ไป เราจะได้ยินอยู่บ่อยๆ
ส. แล้วยังไปเพิ่มภาษาบาลีซึ่งเขาไม่เข้าใจขึ้นมาอีก เช่น รูปธรรม หรือ โลกาภิวัฒน์ นั่นก็ภาษาบาลี ทำไมไม่ปฏิเสธคำเหล่านี้ แต่พอถึงคำที่สามารถจะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงชัดเจน แล้วเราก็ใช้คำนั้นอยู่แล้ว เช่น คำว่าจิต เคยรู้จักใช่ไหมคะคำนี้ จิตคืออะไร
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นสภาพจิตใจของเรามากกว่า
ส. ภาษาไทยคือใจ เพราะว่าภาษาบาลีไม่มีคำว่าใจ แต่ภาษาบาลีมีคำว่า จิต เพราะฉะนั้น เราจะหนีภาษาบาลีพ้นไหม เพียงแต่ว่าเรามีปฏิกิริยา คล้ายกับว่าเป็นคำที่เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน แต่ว่าศาสนาของพระผู้มีพระภาคเป็นการตรัสรู้จากที่บำเพ็ญพระบารมีมา เพราะฉะนั้น วิชาอื่นเราเรียนได้ แล้วทำไมนี้เป็นวิชาซึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ แล้วก็ทรงแสดง ทำไมเราเรียนไม่ได้ ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศเราเรียนได้ ตั้งแต่ต้นเลยจนกระทั่งจบ นี่ภาษาไทยก็มีคำภาษาบาลีแทรกอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าขอให้เข้าใจคำนั้นให้ถูกต้อง คำว่า “ธรรมะ” เป็นภาษาอะไรคะ เป็นภาษาบาลี นี่เริ่มที่จะเห็นแล้วว่า เราใช้ภาษาบาลีโดยตลอด แต่ไม่เข้าใจความหมายหรืออรรถ หรือสภาพจริงๆ
เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มที่จะเข้าใจคำที่เราใช้ อย่างคำว่า “ธรรมt” มีความหมายหลายอย่าง แต่ความหมายหนึ่งก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง แข็งเป็นธรรมหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ เป็นธรรมชาติ
ส. เสียงเป็นธรรมะหรือเปล่า
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ส. เพราะฉะนั้น ก็มีธรรมะอยู่ตลอด นี่ก็คือการศึกษาธรรมะให้เข้าใจว่า ธรรมะคืออะไร ไม่เห็นยากนี่คะ ก็ใช้อยู่แล้ว เพิ่มคำอีกนิดๆ หน่อยๆ เหมือนกับคำใหม่ในภาษาอื่นที่เรารับรอง เช่น คอมพิวเตอร์อย่างนี้ ก็เป็นภาษาใหม่ ทำไมเรายอมรับ แต่พอถึงเจตสิก เราจะไม่ยอมรับหรือคะ ถ้าเรารู้ว่าแท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมะที่เกิดกับจิต แต่ว่ามีลักษณะต่างกัน จิตไม่ใช่เจตสิก แต่เจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกครั้ง หรือโลภะ เราเคยเข้าใจว่า เป็นความโลภมากเลย น่าเกลียด ถ้าใช้คำว่าคนโลภ หรือคนมีโลภะ แต่ถ้าเราเข้าใจว่า สภาพของโลภะเป็นลักษณะที่ติดข้อง จะทำให้เราเข้าใจลึกลงไปอีกว่า ทางตาที่กำลังเห็น หลังจากที่เห็นแล้วติดข้องหรือเปล่า เราก็ใช้คำว่าโลภะเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น หลังจากเห็นก็เกิดโลภะ หลังจากได้ยินก็เกิดโลภะ คือเป็นการติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่มีการติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินมาตั้งแต่เล็ก โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ให้ชัดเจนขึ้นจากการศึกษา ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิด แล้วเข้าใจเอาเอง แล้วก็บอกว่ายาก แล้วก็เป็นคำที่ไม่รู้เรื่อง คำนั้นมีอยู่ สามารถที่จะเข้าใจได้ แล้วก็ง่ายกว่าการที่จะไปศึกษาภาษาต่างประเทศเสียอีก
ผู้ฟัง ขอบคุณอาจารย์มาก