ขณะที่รู้ก็ละความไม่รู้


    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ว่า คำว่า “รู้ แล้วละ” ให้ละสิ่งที่รู้ คือรู้ว่าสิ่งนี้เป็นเก้าอี้ เก้าอี้นี้แข็ง เก้าอี้ไว้นั่ง ละความติดข้องว่ามันเป็นเก้าอี้ ใช่หรือไม่คะ

    ท่านอาจารย์ รู้ แล้วละ หมายความว่า ก่อนรู้ไม่ละ เพราะว่ามีความไม่รู้อยู่ แต่เวลาที่รู้ แล้วก็ละ ความไม่รู้

    ผู้ฟัง อย่างที่เคยฟังเทปว่า นางวิสาขา รู้สภาพความเป็นจริงของธรรมะ แต่ทำไม ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าวิสาขามิคารมารดารู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ แสดงว่าให้เห็นว่า โลภะมีหลายระดับขั้น ที่จะดับโลภะหมด ไม่เกิดอีกเลย ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

    ที่ว่า รู้ แล้วละนี้ ก่อนอื่น อาจจะมีคำถาม อย่างที่ถามเมื่อกี้นี้ว่า รู้อย่างวิสาขามิคารมารดา แล้วก็ยังมีโลภะอยู่ โทสะอยู่ พวกนี้ก็เหมือนกับว่ายังไม่ได้ละ แต่ความจริง แล้วขณะใดที่รู้เรื่องอะไร ก็ละความไม่รู้ในเรื่องนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย

    เพราะฉะนั้น จึงมีปัญญาหลายระดับขั้น ไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นฟังเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็เทียบได้ว่าเราฟังธรรมะมานาน แล้วเราก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้ของเราระดับไหน ระดับที่ฟัง แล้วไม่เคยรู้มาก่อนในความหมายในลักษณะของธรรมะว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความรู้อันนี้ เราก็ละความซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเท่านั้น จนกว่าความรู้นั้นจะเพิ่มขึ้น สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท โดยการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรม กิเลสยังไม่ได้ดับ แต่ว่าความไม่รู้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเคยไม่รู้ ก็ค่อยๆ ละไป จากการรู้ขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

    เท่าที่ได้ฟังมา ก็ขอให้ทุกคนได้พิจารณาว่า ปัญญามีหลายระดับ นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะละเลยไม่ได้เลย ไม่ใช่ว่าปัญญามีเพียงนิดเดียว แล้วก็ไม่ไปถึงไหน แต่ว่าจริงๆ แล้วปัญญาหมายความถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรมะตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จะต้องมาจากการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะก็คือการที่ความรู้ความเข้าใจของเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ตามลำดับ แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดสิทธิที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะเพียงการฟังสั้นๆ ครั้งเดียว แต่ว่าทุกคนต้องเป็นผู้ตรง ตรงที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเคยเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราไปหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความจริง แล้วก็คือสภาพนามธรรมกับรูปธรรม ฟังอย่างนี้ ก็เหมือนเข้าใจ แล้วก็เหมือนว่าเรามีปัญญา แล้ว เพราะเหตุว่าเราสามารถที่จะฟังได้ว่า ขณะนี้มีนามธรรมกับรูปธรรม แต่ความจริงขอให้คิดว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงการฟัง แล้วก็ได้ยินเสียง แล้วก็สามารถจะเข้าใจความหมายของคำที่ได้ยินเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราเข้าใจจริงๆ ในลักษณะที่ต่างกันของนามธาตุกับรูปธาตุ เพียงแต่ว่ามีการได้ยินเสียง แล้วก็มีการเข้าใจความหมายเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ธรรมะต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณา แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่า ปัญญาหลายระดับนี้เริ่มจากไหน แล้วแต่ละปัญญาแต่ละขั้น ผ่านพ้นไปแต่ละขั้นสู่ขั้นต่อๆ ไปด้วยการอบรมเจริญอย่างไร ไม่ใช่พอรู้ว่า มีนามธรรมกับรูปธรรม อะไรๆ ก็เป็นนามธรรมกับรูปธรรมไปหมด แล้ว อย่างนั้นไม่มีการเจริญของปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นระดับขั้นจริงๆ แม้แต่ขั้นการฟังว่า นามธรรมกับรูปธรรม ฟังเข้าใจเรื่องธรรมะ ไม่ใช่ของใคร ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าฟังเรื่องนามธาตุกับรูปธาตุ คิดถึงความหมายเพิ่มขึ้นว่า ไม่ใช่เพียงแต่ธรรมะที่มีจริง เพราะว่าถ้าพูดถึงธรรมะที่มีจริง เข้าใจได้ มีจริงๆ เวลานี้ เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เสียงมีจริง เข้าใจได้ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมะ เข้าใจได้ แต่ถ้าคิดถึงความเป็นธาตุ นานาธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุ เราจะต้องรู้เลยว่า ที่เราฟังว่า นามธรรม รูปธรรม แล้วเราเข้าใจ เราเข้าใจแค่ไหน หรือระดับไหน หรือว่าเข้าใจเพียงความหมายของคำ แต่จะต้องมีการศึกษา มีการอบรมอีกมากทีเดียว จนกว่าลักษณะของสภาพนั้นๆ จะปรากฏกับปัญญาที่ได้อบรม แล้ว ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นฟังเท่านั้น แต่จะต้องเป็นปัญญาที่อบรมจนปรากฏลักษณะความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม


    หมายเลข 10017
    22 ส.ค. 2567