ใจเย็นๆ สะสมความรู้ไปเรื่อยๆ


    ขณะจิตแรกคือปฏิสนธิจิต อารมณ์ใดๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ซึ่งปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวแล้วก็ดับ นี่แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมะซึ่งเกิดดับเร็วมาก จิตขณะเดียว ซึ่งขณะนี้มากมายหลายขณะแล้ว ทางตา ทางหูก็นับไม่ถ้วน แต่พระองค์ทรงทราบความจริงของสภาพธรรมะว่า จิตขณะแรก ๑ ขณะซึ่งแสนสั้น ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ใช่จิตขณะต่อไปซึ่งทำกิจสืบต่อจากจิตขณะก่อนดำรงภพชาติไว้ที่เป็นภวังคจิต ทั้งปฏิสนธิจิต และภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าโลกนี้ยังไม่ได้ปรากฏ ไม่มีการรู้สึกตัวที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิถีจิต ก็หมายความว่าจิตนั้น เกิดดับ สืบต่อ รู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เพราะว่าจิตต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่จิตรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หรืออารมณ์ของจิต

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การนึกคิด เป็นเรื่องของจิตทั้งหมด ไม่มีตัวตนหรือไม่มีเรา ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น การเห็นก็มีไม่ได้ การคิดว่าเป็นเราเห็นก็มีไม่ได้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ก็จะไม่มีความคิดว่า เราได้ยิน เราคิดนึกต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบจริงๆ ว่า การฟังพระธรรม ฟัง ได้ยินเสียง เข้าใจความหมาย แต่ว่าจะรู้ถึงอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรมะนั้นจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งก็จะต้องอาศัยการฟังอีกมาก แล้วผู้นั้นเองก็จะรู้ว่า ปัญญามีหลายระดับขั้นจริงๆ ปัญญาขั้นฟัง จากการศึกษา ขั้นอ่าน ขั้นจำ จากหนังสือ ก็เป็นแต่เพียงเรื่องราวของสภาพธรรมะ แต่ขณะใดก็ตามที่หลงลืมสติ สติไม่ได้เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมะ ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้อรรถ หรือความหมายที่แท้จริงที่ทรงแสดงโดยสภาพธรรมะ โดยประเภทที่เป็นธาตุ หรือว่าจะเป็นขันธ์ หรือว่าจะเป็นอายตนะ หรือว่าจะเป็นธรรมะใดๆ ทั้งหมดที่ทรงแสดง เพราะเหตุว่าผู้ที่เพิ่งจะศึกษาธรรมะ หรือว่าเพิ่งที่จะฟังธรรมะ เข้าใจเรื่องราวเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นของแปลก เพราะว่าทุกคนรู้ภาษา แล้วก็มีเสียงปรากฏ ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้ แต่ที่จะหยั่งรู้ถึงอรรถของสภาพธรรมะจริงๆ แม้แต่คำว่านามธรรม นามธาตุซึ่งต่างกับรูปธาตุ เพียงเท่านี้ จะเห็นได้ว่า ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง คือ นามรูปปริเฉทญาณ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นเข้าใจ หรือขั้นพอสติระลึก ก็มีเรื่องราวของสภาพธรรมะซึ่งจำไว้จากการเรียน นึกคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ไมใช่ปัญญาระดับขั้นที่เป็นการอบรมการที่จะเข้าถึงอรรถ หรือลักษณะของสภาพธรรมะ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ใจเย็นๆ ดิฉันเคยพูดเรื่องนี้กับคนหนึ่ง แล้วเขาก็บอกว่า หมายความว่าอย่างไร ใจเย็นๆ ไม่ให้ทำอะไรเลยหรือ ก็บอกเขาว่า ใจเย็นๆ ก็คือว่าไม่ต้องไปรีบด่วนทำอะไร เพราะว่าอยากจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะ เพราะเหตุว่าไม่ได้หมายความว่า คนนั้นมีความตั้งใจ มีความพากเพียร แล้วก็สามารถจะประจักษ์สภาพธรรมได้ แต่เป็นเรื่องการอบรมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็มีผู้ที่ฟังธรรม ก็หลายท่านที่มาบอกว่าเขาเชื่อเลย พอบอกว่าไม่ต้องทำอะไร หรือว่าใจเย็นๆ ปล่อยหมดเลย ไม่ต้องทำอะไรจริงๆ แต่ภายหลังก็มาคิดได้ ก็ไม่เห็นมีปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องไม่ใช่แน่นอน การที่ฟังธรรมะ ต้องฟังด้วยความแยบคาย ด้วยการพิจารณาในเหตุผลให้ถูกต้องจริงๆ ใจเย็นๆ ก็คือว่าไม่ต้องใจร้อน แล้วก็ไม่ใช่ไปรีบด่วนทำอะไรโดยไม่เข้าใจ แต่หมายความว่ารู้ในเหตุ และในผล ถ้าเหตุไม่มีผลมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะใจเย็นๆ ไม่ฟังธรรมะ ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ปัญญาเกิด แต่ใจเย็นๆ ที่จะไม่ต้องรีบเร่งไปทำสิ่งที่ผิด แต่ว่าต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ


    หมายเลข 10018
    22 ส.ค. 2567