อย่าเพิ่งคิดว่ารู้แล้ว


    สำหรับอริยสัจธรรม ทุกคนก็คงจะทราบ สัจจะที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะได้แก่การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมะในขณะนี้ ซึ่งจะต้องรู้ด้วยการประจักษ์ มิฉะนั้นไม่ชื่อว่ารู้ทุกข์ ที่เป็นทุกขอริยสัจ อริยสัจที่ ๒ คือ สมุทยอริยสัจจะ ต้องเห็น และต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าอะไรเป็นสมุทัย คือ โลภะ ความติดข้อง ซึ่งความติดข้อง ถ้าปัญญาไม่เกิด ผู้นั้นไม่สามารถที่จะละได้เลย เพราะว่าเป็นนายช่างเรือนที่ฉลาดที่สร้างภพชาติใหม่อยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ไม่หมดสังสารวัฏ แต่ว่าโลภะไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นได้ง่ายๆ เพราะเหตุว่ามีหลายรูปแบบ ถ้าโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็สามารถจะรู้ได้ แต่กว่าจะรู้ได้ก็ต้องศึกษา เพราะว่าบางคนก็บอกว่า เขาไม่มีโลภะ วันๆ ไม่ได้อยากได้อะไรเลย เฉยๆ แต่เขาไม่เข้าใจเลยว่า ลักษณะของสภาพธรรมะที่เป็นปรมัตถธรรม มีตั้งแต่อย่างละเอียดยิบจนกระทั่งถึงอย่างซึ่งสามารถที่จะเห็นได้ชัดๆ

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น ใครสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นหลังจากเห็นแล้วติดข้องในสิ่งที่เห็นเป็นประจำตลอดชีวิต แล้วชีวิตหนึ่ง จิตเกิดดับเท่าไร แล้วก็กี่ชาติมาแล้วในแสนโกฏิกัป เพราะฉะนั้น ความรู้ที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมะก็คือว่าค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ แล้วเป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผล แล้วไม่ว่าจะมีการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่กระทำ อันนั้นจะเป็นความถูกต้อง แต่ถ้าเป็นเราตราบใด ขณะนั้นก็จะมีความเป็นตัวตน แล้วก็ไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมะตามความเป็นจริงได้ เพราะเหตุว่าอกุศลธรรมทั้งหมดไม่สามารถจะเห็นสภาพธรรมะตามความเป็นจริง แต่ปัญญาเป็นปัญญินทรีย์ เป็นใหญ่ สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจ เมื่อได้อบรมแล้ว สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้น จะรีบร้อนไหมคะ เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะไปนั่งทำอะไรแล้วก็ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะ โดยที่ไม่มีความรู้ในธาตุซึ่งต่างกัน ซึ่งเป็นนามธาตุ และรูปธาตุเสียก่อน

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ซึ่งเหมือนกับมีลักษณะของสติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ใช้คำว่า “เหมือน” เพราะอะไรคะ เพราะเหตุว่าแข็งขณะนี้ มีใครไม่รู้บ้าง แสดงว่าทุกคนรู้ว่าแข็งมี แล้วก็มีความคิดเรื่องแข็งได้ไหม ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมะ ทั้งๆ ที่แข็งกำลังปรากฏ อย่างนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าขณะที่เป็นสติปัฏฐานต้องหมายความว่า ขณะนั้นกำลังศึกษา ใช้คำว่า “ศึกษา” ซึ่งคนไทยอาจจะคิดว่า ต้องหยิบปากกามาเขียนสิ่งที่ได้ฟัง จำไว้ อ่าน ท่อง แต่ความจริงศึกษาคือค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าฟังมามาก ไม่ทราบกี่ชาติ บางคนก็อาจจะเพิ่งเริ่ม แต่บางคนก็อาจจะฟังมามากแล้ว แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม เครื่องพิสูจน์ก็คือว่า ขณะที่สภาพธรรมะปรากฏ ลักษณะของนามธาตุซึ่งไม่ใช่เราเลย ปรากฏหรือเปล่า หรือว่ายังเป็นเราซึ่งมีสติ แล้วบางคนก็จะใช้คำว่า “ใช้สติ” หรือว่า “ทำสติ” หรือ “เอาสติ” ไว้ตรงนั้น ตรงนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงว่าไม่เข้าใจสภาพธรรมะตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องไม่ละเลยความหมายของคำว่า “อนัตตา” แล้วความหมายของอนัตตานั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้เท่านั้น แต่ว่ามีลักษณะซึ่งเป็นอนัตตา นามธรรมก็เป็นอนัตตา รูปธรรมก็เป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่จะเข้าใจลักษณะความเป็นอนัตตาจริงๆ ก็จะต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และลักษณะที่เป็นรูปธรรมซึ่งต่างกัน ซึ่งไม่ใช่โดยขั้นการฟังเท่านั้น แล้วก็เอาไปคิด แล้วก็เอาไปจำ แล้วก็เอาไปคิดว่า ขณะนี้สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมะนั้น แล้วก็รู้ว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม แต่ที่ไม่ลืมก็คือว่า ตราบใดที่ลักษณะของนามธาตุไม่ปรากฏ รูปธาตุยังไม่ปรากฏความต่างกันตามความเป็นจริง ขณะนั้นต้องอบรมปัญญาต่อไปอีก อย่าเพิ่งไปคิดว่ารู้แล้ว เพราะเหตุว่าถ้ารู้แล้วก็ตัน แล้วจะรู้อะไรอีก ก็ไม่มีการที่จะรู้อะไรอีก แต่ถ้ารู้ว่าขณะนั้นยังไม่ใช่รู้แล้ว ยังจะต้องมีการประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธาตุ และรูปธาตุ ก็จะทำให้คนนั้นค่อยๆ เข้าใจ ลักษณะซึ่งเป็นนามธรรม ของนามธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมด้วย


    หมายเลข 10019
    22 ส.ค. 2567