ความเป็นผู้มีปกติ


    ผู้ฟัง อยากจะถามท่านอาจารย์สมพร ในเรื่องของศัพท์ คืออยากจะถามว่า กัมมัสสกตะ คำว่า กัมมัสสกตาปัญญา มันหมายความว่าอย่างไรครับ

    อ.สมพร กัมมัสสกตา เขามีบางแห่งมีญาณอีกตัวหนึ่ง กัมมัสสกตาญาณ หมายถึง ปัญญา ญาณ คือ ปัญญา ซึ่งบางครั้งก็ตัดออก กัมมัสสกตา แปลว่าความเป็นผู้มีกรรม เป็นของของตน คือ อันนี้ ธรรมนี้ แสดงโดยบุคคลาธิษฐาน คือ บัญญัติ แปลว่าพระองค์รู้ว่า คนนี้เมื่อแสดงโดยบัญญัติแล้วสามารถจะเข้าใจถึงปรมัตถ์ พระองค์ก็แสดง คือว่าเรื่องพระพุทธเจ้าแสดง เราไม่สามารถจะกำหนดได้ ท่านสามารถจะรู้ว่าคนนี้ควรแสดงธรรมะอย่างนี้ คนนี้ควรแสดงธรรมะอย่างนี้ แล้วจิตก็จะแล่นไปสู่ธรรมวินัยเอง ที่คำว่า กัมมัสสกตา ก็มีคำแปลเท่านี้ครับ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมีความเข้าใจบ้างในเรื่องกัมมัสสกตาปัญญา ก็จะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้ามีการพิจารณาละเอียดมากกว่านั้นลงไปอีกได้ไหมว่า กัมมัสสกตาปัญญา แล้วจริงๆ แล้ว ก็เป็นในขณะนี้เลย คือกำลังเห็นในขณะนี้เป็นผลของกรรม กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นโสตวิญญาณกุศลวิบาก เป็นการฟังธรรม หรือเสียงพระธรรมของท่านอาจารย์ ก็เป็นผลของกรรม เป็นลักษณะอย่างนี้ได้ไหมครับ เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ครับ

    ส. การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง เท่าที่เราเรียนมาทั้งหมด เรื่องกรรมเรื่องวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม เรารู้จักแต่ชื่อ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่ทรงแสดงต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งพิสูจน์ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้จริงๆ เช่นขณะที่กำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็สภาพธาตุรู้ที่เห็น ก็เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีใครจะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้ว เกิดความติดข้องหรือว่าเกิดปัญญา หรือว่าเกิดโทสะ หรือจะเกิดอะไรติดตามมาก็แล้วแต่ ผู้นั้นขณะนั้น เมื่อทราบว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมต่างชนิด เพราะขณะนี้ที่กำลังเห็น จริงๆ แล้วเป็นธาตุรู้เท่านั้น คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าไม่ได้ชอบหรือชังในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ว่าชอบหรือชังไม่มี หลังจากเห็น

    เพราะฉะนั้น เมื่อสติสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมต่างชนิด ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงชื่อ แต่ว่าสภาพจริงๆ นั้นมี คือ สภาพเห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว แต่ละคนสะสมมาต่างกัน คนหนึ่งเป็นอกุศลประเภทโลภะ อีกคนหนึ่งเป็นอกุศลประเภทโทสะ อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นกุศลประเภทเมตตา หรือกรุณาก็แล้วแต่

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกันได้ว่า สำหรับทางตาซึ่งเห็น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย มีเหตุปัจจัยก็เกิด แล้วก็เป็นนามธรรมประเภทซึ่งไม่ใช่กุศลหรืออกุศล

    เพราะฉะนั้น จึงรู้ความต่างกันว่า จิตมีหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตที่เป็นกุศล อกุศล เท่านั้น แต่จิตที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมก็มี ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้กรรม และผลของกรรม ซึ่งเป็นนามธรรมต่างชนิดในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นลักษณะอย่างนั้น ปัญญาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเห็น มีการที่ระลึกลักษณะสภาพรู้ทางตา หรือว่าจะเป็นทางหูแล้ว ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดยินดียินร้าย ถ้าสติปัฏฐานเกิดต่อเลย

    ส. จุดมุ่งของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จนกระทั่งไม่มีเรา สามารถที่จะดับความเห็นที่เคยยึดถือสภาพธรรมะนั้นๆ ว่า เป็นเราเห็น เป็นเราได้ยิน เพราะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธาตุที่เห็น หรือนามธาตุที่ชอบ หรือนามธาตุอื่นๆ ซึ่งเกิดต่างชนิดกัน

    ผู้ฟัง ก็คงเป็นนามธรรมชนิดต่างๆ กันซึ่งเราจะต้องศึกษา ระลึก

    ส. แน่นอน เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมทั่วขึ้น เพราะว่านามธรรมทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่กำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รูปก็ปรากฏทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีเท่านี้ ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง ทีนี้จะเรียนถามอีกว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย หรือว่ามีธรรมะใดที่จะเป็นปัจจัยให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม เป็นผู้ที่ อุชุปฏิปันโน

    ส. ความเข้าใจถูกว่า ปัญญารู้อะไร สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ปัญญารู้ และละได้ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ พร้อมกับปัญญาที่เกิดจากการฟัง การศึกษาที่จะทำให้สามารถค่อยๆ เข้าใจในลักษณะซึ่งเป็นธาตุแท้ๆ ของนามธรรม และรูปธรรมได้ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง คำถามสุดท้ายก็คือ บุคคลที่สามารถจะน้อมไประลึกสภาพที่เป็น อนัตตสัญญาได้ ต้องเป็นบุคคลที่เคยปรากฏสภาพที่ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่มี ปัจจัยเกิดทางมโนทวารมาแล้วเท่านั้น ใช่ไหมครับ

    ส. จริงๆ เรื่องของการเจริญเติบโตของปัญญา เป็นเรื่องที่ไม่เร็ว แล้วก็เป็นเรื่องช้าด้วย เพราะฉะนั้น จะมีความสงสัยอยู่เสมอว่า ปัญญารู้อะไร เมื่อไร แต่ความจริงในขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังเป็นห่วงกังวลถึงผลข้างหน้า จะทำให้เราไม่เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะใดที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญากำลังค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วปัญญาที่เจริญขึ้นก็จะนำไปสู่สติปัฏฐาน คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมะซึ่งขณะนั้นปัญญาที่ได้ฟังมาแล้วว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ไม่ตื่นเต้น ไม่เดือดร้อน ไม่กระวนกระวาย เมื่อสติเกิด ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ความเป็นผู้มีปกติ คำนี้ก็แสดงว่าต้องสำคัญมากๆ เลย

    ส. ค่ะ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ


    หมายเลข 10029
    22 ส.ค. 2567