นั่งสมาธิเพื่ออะไร
ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ ขอเรียนถามเรื่องการนั่งสมาธิ สรุปว่าถ้าเรายังไม่มีปัญญา ด้วยตัวรู้ของเราเอง ว่าถึงจุดที่เราจะนั่งสมาธิได้ ก็ควรจะมีแค่การฟังธรรม และพิจารณาเฉยๆ หรือ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะต้องทราบว่า สมาธิคืออะไร และเราจะทำสมาธิทำไม ถ้าเราตอบได้ ก็แปลว่าเรามีเหตุผล พอจะตอบได้ไหม ว่านั่งสมาธิทำไม
ผู้ฟัง นั่งสมาธิ เพื่อฝึกจิตที่ไม่เคยอยู่นิ่ง ให้หยุดนิ่ง
ท่านอาจารย์ แล้วมีประโยชน์อะไร จิตที่อยู่นิ่ง
ผู้ฟัง การที่จิตหยุดนิ่ง จะทำให้เราพิจารณาเห็นความจริงต่างๆ
ท่านอาจารย์ ความจริงอะไร ขณะที่จิตกำลังอยู่นิ่ง
ผู้ฟัง สภาพตามความจริงที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ จิตอยู่นิ่งหรือยัง
ผู้ฟัง ไม่นิ่ง
ท่านอาจารย์ ไม่นิ่ง แต่มีสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะ เวลาที่จิตอยู่นิ่ง ปัญญารู้อะไร ถ้าบอกว่ารู้สภาพธรรมมากขึ้น ก็จิตอยู่นิ่ง ขณะนั้นมีคำตอบกำกับชัดเจนแล้วว่าจิตอยู่นิ่ง แสดงว่าไม่มีสภาพธรรมอะไร นอกจากจิตอยู่นิ่ง แล้วปัญญารู้อะไรขณะนั้น ถ้าไม่มีปัญญา แล้วเราจะทำ ทำไม เพราะว่าโดยมาก คนจะทำสมาธิ ก็เพราะเหตุว่า เขาอยากให้จิตของเขา ไม่คิดเรื่องอื่น ต้องทราบว่าสภาพธรรม ๒ อย่าง ซึ่งตรงกันข้ามกัน ก็คือโลภะกับปัญญา สภาพที่ติดข้อง ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ปัญญา คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นขณะนี้เราทราบได้เลย ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไร เมื่อตาเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อเสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏ ก็ปรากฏในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะคิดนึก ปัญญารู้อะไร ปัญญารู้หรือเปล่า ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เราไปนั่งทำให้จิตสงบนิ่ง ปัญญาไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แล้วจะทำ ทำไม เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีความต้องการจะทำ จึงไม่มีปัญญา
ผู้ฟัง อาจจะเป็นเพราะว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของคนพุทธ คือ การนั่งสมาธิ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ พุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงแก่สาวก สาวโก คือ ผู้ฟัง ผู้ฟัง ก็คือ ผู้ศึกษาคำสอน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเอาหนังสืออื่นมาทั้งหมด โดยที่ไม่ศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นลูกศิษย์ใคร เรานับถือศาสนาอะไร ถ้าเรานับถือพุทธศาสนา เราก็ศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีขณะนี้พระไตรปิฏกก็ยังอยู่ครบถ้วน อรรถกถาก็มี ฎีกาก็มี คำอธิบายขยายความของพระไตรปิฎกก็ยังมี ให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้
เพราะฉะนั้นเมื่อเรานับถือใคร มีพระธรรมเป็นสรณะ พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราก็ศึกษาคำสอนให้เข้าใจ และก็จะเกิดปัญญา แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เราจะไม่มีปัญญา เพราะว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะสอนให้เราเกิดปัญญาได้ บางคนอาจจะบอกว่า เขาเรียนมาตั้งเยอะ ใช่ไหม จบปริญญาเอกหลายสาขาก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามีปัญญาต้องรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือปัญญา แต่ถ้าเพียงรู้เรื่องราว นักวิทยาศาสตร์มีสูตรต่างๆ สามารถที่จะคิดคำนวณ แล้วก็เดินทางไปโน่น ไปนี่ ไปถึงโลกไหนก็ได้ แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก
เพราะฉะนั้นในศาสนา หรือในคำสอนอื่น หรือจะไม่ใช้คำว่าศาสนาหนึ่ง ศาสนาใดก็ได้ ไม่มีคำสอนที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่าการเห็น มี จึงได้เกิดสุขทุกข์ โลภะ โทสะ ถ้าไม่เห็นสิ่งนั้น ก็ไม่มีโลภะ โทสะ เรื่องราวของสิ่งนั้น เมื่อไม่ได้ยินเสียง เรื่องนั้นก็ไม่รัก ไม่ชัง เรื่องนั้น แต่ว่าเมื่อมีทุกสิ่งทุกอย่าง และมีความไม่รู้ ก็ทำให้เรามีอกุศลเพิ่มพูนขึ้น
เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาที่เราคิด หรือเราเข้าใจ แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริง แล้วก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงระดับนั้น ก็ต้องอาศัยคำสอนของผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว เพราะว่าเราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นถ้าจะมีปัญญาเกิดขึ้น ก็เมื่อฟังคำสอน แล้วพิจารณาว่า คำสอนของพระองค์ เป็นสัจธรรม เป็นคำจริง พูดเรื่องจริง ในสิ่งที่มีจริง ที่พิสูจน์ได้
อ. สมพร สมาธิ มีในสติปัฏฐานแล้ว เมื่อเราเจริญสติปัฏฐาน สมาธิก็เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปฝึกสมาธิต่างหาก ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ศาสนายังไม่เสื่อมไป ยังมีพระธรรมวินัยอยู่ ควรฝึกสติปัฏฐาน หรือเจริญสติปัฏฐาน ไม่ควรฝึกสมาธิ ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาสิ้นไปแล้ว เราควรฝึกสมาธิ ตามแบบโยคะต่างๆ เพราะไม่มีพระศาสนา แต่เดี๋ยวนี้พระศาสนายังอยู่ เราควรเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งไม่มีอยู่ตลอดกาลเป็นนิจ เพราะว่าสติปัฏฐานนั่นเอง เป็นเหตุให้สมาธิเกิด ถ้าเราเจริญสมาธิอย่างเดียว สติปัฎฐานไม่เกิดก็ได้ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน สมาธิก็เกิดด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรจะเจริญสติปัฏฐาน