กัมมัสสกตาปัญญา
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ กัมมัสสกตาปัญญา เป็นปัญญาขั้นสัมปชัญญะหรือเปล่า ถ้าไม่เป็น เป็นปัญญาขั้นไหน
ท่านอาจารย์ อย่างระดับอ่อนๆ คนที่เชื่อเรื่องกรรม รู้ว่ากรรมเป็นเหตุที่จะต้องมีผล คือ วิบาก ขณะนั้นก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง เหมือนกับฟังเรื่องราวของจิต ก็รู้ว่ากรรมเป็นกุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนา เกิดกับจิตประเภทไหน นี่คือระดับความรู้ขั้นฟัง แต่ว่าถ้าจะรู้จริงๆ ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เป็นของจริง โดยการศึกษาทราบว่า เป็นวิบากจิต ทราบจากการศึกษา ว่าเป็นวิบากจิต แต่ว่าถ้าขณะนี้มีจิตหลายอย่าง จิตเห็นก็มี จิตได้ยินก็มี จิตคิดนึกก็มี ที่เป็นโลภะก็มี ที่เป็นมหากุศลมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี มีจิตตั้งหลายอย่าง
เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ เรื่อง เท่านั้นแต่เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน แม้แต่การจะเชื่อเรื่องกรรม ก็จะต้องมีความมั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงระดับที่ เมื่อรู้ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ก็รู้ได้ ว่าจิตประเภทนี้ไม่ใช่จิตประเภทนั้นๆ เพราะฉะนั้นจิตประเภทนี้ เป็นผลของกรรม
อ.สมพร กัมมัสสกตาปัญญา กว้างขวาง เราจะแยกย่อยออกไปก็มากมาย เช่น ปัญญาที่รู้ว่า ผู้นี้เคยทำอุปการะก่อน ที่เรียกว่าบุพการี เช่น วันนี้เป็นต้น สมเด็จท่านก็ทำอุปการะก่อน เรียกว่าบุพการี ถ้ามีปัญญาอย่างนี้ เราก็สามารถที่จะรู้คุณ แล้วก็ตอบแทนได้ การตอบแทนอาศัยปัญญาเหมือนกัน แต่ว่าปัญญานั้นเกิดทีหลัง ต้องคิดถึงว่าผู้นี้เคยกระทำอุปการะก่อน แล้วก็ตอบแทนทีหลัง นี่ก็เป็นปัญญาส่วนหนึ่ง ที่เรามาสนทนากันวันนี้
อ.นิภัทร อาจารย์สมพรครับ ผมอยากจะให้อธิบายศัพท์ กัมมัสสกตา มันแยกอย่างไร
อ.สมพร กัมมะ หมายถึง การกระทำ ก็คือกรรม กำมะสะกะตาปันยา รู้การกระทำของตน สะ ก็แปลว่าของตนได้ การกระทำของตน ทุกวันนี้บางทีเราไม่รู้สึกตัวเลย โมหะเข้าตลอดเวลา ขณะนั้นไม่มี กัมมัสสกตาปัญญา การเจริญสติปัฏฐาน หรือกระทำกุศลทุกอย่างต้องมีปัญญา ระลึกถึงการกระทำของตน ไม่ได้มุ่งถึงว่าคนอื่น มุ่งถึงตนเป็นใหญ่ เพราะถ้าตนไม่กระทำแล้ว ใครอื่นเล่าจะทำ ตนต้องเป็นผู้กระทำก่อน คนอื่นก็กระทำทีหลัง กัมมะก็แปลว่า กรรมคือการกระทำ โดยปรมัตถ์จริงๆ กัมมะก็คือเจตนาที่จะทำ กัมมัสสะ เราก็แยกศัพท์ว่า สะ เป็นของๆ ตน ปัญญาที่รู้การกระทำของตน กว้างขวาง ได้ทั้งพระสูตร ทั้งพระอภิธรรม คำว่า กัมมัสสกตาปัญญา กตา แปลว่า กระทำ