สัมปชัญญะ ๔


    ผู้ฟัง เรื่องสัมปชัญญะรู้สึกเข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ คำว่า สัมปชัญญะ คงไม่ได้ใช้ในที่ทั่วไป เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎก ก็มีคำที่จำแนกไว้ว่า สัมปชัญญะมีอะไรบ้าง เช่น สัมปชัญญะ ๔ สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายะสัมปชัญญะ โคจรสัมปะชัญญะ อสัมโมหะสัมปชัญญะ ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะใช้สัมปชัญญะทั่วไปได้ไหม ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นอย่างแม้แต่คำว่า สาตถกสัมปชัญญะ ถ้าเราจะแปลว่า ปัญญาที่รู้ประโยชน์ ถ้าเราคิดเอาเองก็คงจะง่ายๆ รับประทานอาหารชนิดนี้ แล้วก็จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง อย่างนี้จะเป็นปัญญาที่รู้ประโยชน์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่แน่นอน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ในการศึกษาธรรม ต้องละเอียด และต้องรู้ว่า การใช้คำแต่ละแห่ง ไม่ได้ใช้ทั่วไปทั้งหมด ว่าปัญญาแล้วจะต้องเป็นสัมปชัญญะทั้งหมด แต่เวลาที่กล่าวถึง สัมปชัญญะในสติปัฎฐาน หรือว่าสัมปชัญญะ ๔ โคจรสัมปชัญญะ ก็ต้องทราบว่าต้องเกี่ยวกับปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าถ้าขณะนี้ที่เราฟัง แล้วก็ไม่เห็นประโยชน์

    เพราะฉะนั้นเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดว่าจะต้องมารู้ เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องมารู้เรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน การที่จะต้องมีความเห็นถูก ก็ดีกว่ามีชีวิตวันๆ หนึ่ง โดยไม่รู้อะไรไปจนตาย และในวันๆ หนึ่งอะไรบ้าง ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ซึ่งกุศลก็คงจะน้อยมาก แต่อกุศลนั้นก็มาก พร้อมทั้งความไม่รู้ในสภาพธรรม ซึ่งจะไม่เห็นพระปัญญาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ก็ไม่มีทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็ยังคงมืดบอด เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร และปัญญารู้อะไร ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น สาตถกสัมปชัญญะ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญญาระดับนี้ ที่จะต้องรู้ประโยชน์ แม้แต่ขั้นฟัง ที่รู้ประโยชน์จนถึงที่สุด ก็คือ การออกจากสังสารวัฏฏ์ หรือการที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนประจักษ์แจ้งได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ก็ไม่มีการที่จะฟังต่อไป หรือว่าพิจารณาต่อไป หรือเห็นประโยชน์ต่อไป หรือคิดว่าชีวิตในชาตินี้ ควรจะดำเนินไปอย่างไร นี่ก็คือ สาตถกสัมปชัญญะ

    บางท่านจะได้ยินคำว่า สัปปายะสูตร นอกจากสัปปายะสัมปชัญญะ สัปปายะสูตร เป็นข้อความเรื่องการเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ เป็นสัปปายะ เป็นสิ่งที่สามารถที่จะพิจารณาเห็นจริง ว่าสภาพธรรมทุกอย่างไม่เที่ยง เพียงเกิดขึ้น และก็ดับไป เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ว่าฟังแล้วต้องพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความรู้ ความเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จนกระทั่งเห็นประโยชน์ แล้วก็จะทำให้เข้าใจคำที่มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เช่น สัปปายะสัมปชัญญะ กับสัปปายะสูตร ถ้าสัปปายะสัมปชัญญะก็สามารถรู้ว่า สิ่งใดเหมาะควรกับสิ่งใด เป็นประโยชน์ในการที่จะเป็นสัปปายะ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอุตุ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แต่เพื่ออะไร ต้องมีจุดมุ่งหมายด้วย ถ้าเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ศึกษาเรื่องอาหาร และคุณภาพของอาหาร เพื่อที่จะมีชีวิตยืนยาว อย่างนี้ก็ไม่ใช่สัปปายะสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสัปปายะสูตร ให้รู้ว่านอกเหนือจากนั้น ก็คือว่า สภาพธรรมที่เกิดดับในขณะนี้ สามารถจะพิจารณาเห็นได้จริงๆ ได้ยิน ไม่มี แล้วมี แล้วก็หามีไม่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างเกิดขึ้น แต่ว่าไม่ได้พิจารณาเห็นความดับไป และก็ไม่ได้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นด้วย แต่ตามความเป็นจริง ทุกขณะเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจ ทั้งสัปปายะสัมปชัญญะ และสัปปายะสูตร เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้อง ในโคจรสัมปชัญญะ โคจร ก็คือ อารมณ์ ซึ่งเมื่อมีจิตแล้ว จะไม่มีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือว่าเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ไม่ได้ เมื่อมีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งทุกคนเกิดมา จะมีปัญญาหรือไม่มีปัญญา แต่เมื่อจิตเกิด จิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งกำลังถูกจิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต แต่ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะฟังพระธรรม แล้วเข้าใจอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ ว่าอารมณ์ใด เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพของอารมณ์นั้นได้ และบางขณะ ก็เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้นก็จะแยกได้ ว่าอารมณ์มีอะไรบ้าง และอารมณ์ใดมีลักษณะจริงๆ ที่จะทำให้ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ถ้าเราฟังเผินๆ อย่างบางคนบอกว่า เวลาเดินก็ให้รู้ว่าเดิน เพียงเท่านี้ ปัญญารู้อะไร อะไรเป็นโคจรสัมปชัญญะ เป็นอารมณ์ที่ปัญญาจะต้องประจักษ์ สามารถที่จะรู้แจ้ง ลักษณะที่เกิดดับของอารมณ์นั้น

    ถ้าไม่มีการศึกษาพระอภิธรรม ทุกคนก็เพียงอ่านพระสูตร แล้วก็ต่างคนก็ต่างคิด ต่างคนก็เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ความละเอียดของพระอภิธรรม ก็ทำให้ความเห็นผิดหมดสิ้นไป แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ความเห็นอย่างใดถูก ความเห็นอย่างใดผิด ลักษณะของรูป ต้องปรากฏโดยทวารหนึ่งทวารใด เช่น ทางตา สีสันวัณณะขณะนี้ ต้องอาศัยจักขุปสาทกระทบ จึงสามารถที่จะเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ได้ นี่เป็นอารมณ์หนึ่ง ซึ่งสติระลึกแล้วก็รู้ และก็อบรมความรู้ความเข้าใจ จนกว่าจะเห็นว่าเป็นธรรม นี่คือ ภาวนา การอบรมเจริญปัญญา ทางหูก็มีเสียง เสียงก็เป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งต้องกระทบกับโสตปสาท ถ้าใครที่ไม่มีโสตปสาท ไม่มีทางที่เสียงนี้จะเป็นอารมณ์ คือ จะปรากฎได้ เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมด ก็จะต้องมีทางที่ปรากฏแต่ละทาง และเมื่อปรากฏก็จะเห็นความเกิดขึ้น และดับไป

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ไม่ว่าจะอ่านมหาสติปัฏฐาน หรืออะไรก็ตาม ก็จะไม่มีความสงสัย หรือข้องใจ ระหว่างพระสูตรกับพระอภิธรรม ซึ่งจะเกื้อกูลต่อการที่จะอบรมปัญญา ที่สามารถจะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะต้องเป็นปรมัตถธรรม ที่สามารถจะกระทบทวารหนึ่งทวารใด แล้วก็ปรากฏ นี่คือ โคจรสัมปชัญญะ ซึ่งถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว แล้วสติเกิดระลึก ค่อยๆ อบรม อสัมโมหสัมปชัญญะ มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นสัมปชัญญะ ซึ่งไม่ใช่อย่างที่เราจะเอาไปใช้ทั่วๆ ไปได้ แต่ต้องเข้าใจว่า สัมปชัญญะ ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

    ผู้ฟัง เรื่องสัมปชัญญะ ผมคิดว่าผมเข้าใจดีแล้ว มาวันนี้รู้สึกว่าไม่ธรรมดา สัมปชัญญะ ไม่ใช่ว่ามาฟังเรื่องการบรรยายธรรมแล้ว เรื่องนั้นมีกี่ข้อ มี ๕ ข้อ ๑๐ ข้อ ไม่ใช่เสียแล้ว ฟังไปฟังมาเป็นเรื่องของธรรม ที่กำลังปรากฏให้เราศึกษา ระลึกศึกษาได้ตลอดเวลา ในขั้นต้นที่ผมจับความ หรือทำความเข้าใจได้ จะเป็นแนวทางที่ผมพอเข้าใจได้หรือไม่ รู้สึกเข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ จะเข้าใจทันทีทั้งหมด ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าของจริงก็คือว่า เป็นธรรมที่พิสูจน์ได้ คงทนต่อการพิสูจน์ ถ้าศึกษา และพิจารณาเทียบเคียง ก็จะทำให้เข้าใจได้เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด ที่จะรู้ว่าสัมปชัญญะไม่ใช่อย่างที่เราคิด

    ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างที่เราคิด แล้วไม่ใช่คิดว่า ธรรมข้อนั้นมีกี่ข้อๆ ควรพิจารณาว่าในขณะนี้ที่ได้ฟังพระธรรมนั้น ธรรมอะไรกำลังปรากฏกับเรา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นข้อ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะฟังข้อไหนก็เข้าใจ สิ่งที่กำลังได้ฟัง ข้อไหนก็ได้ทุกข้อ เรื่องของพระธรรม เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา จากการฟัง และไตร่ตรอง เป็นปัญญาของผู้ที่ฟังเอง เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็เป็นผู้ที่ทราบ ว่าฟังเผิน ฟังแล้วจบ หรือว่าฟังแล้วก็ยังไตร่ตรอง เทียบเคียงกับลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนความละเอียด ความเข้าใจ จากการไตร่ตรองนั้นเพิ่มขึ้น


    หมายเลข 10039
    12 ก.ย. 2567