ต้องเป็นไปกับการอบรมเจริญปัญญา
ผู้ฟัง กราบเรียนถามว่า ที่เคยฟังมาทราบว่า สัมปชัญญะ คือ ปัญญา แล้วก็ทราบว่าปัญญามีหลายระดับ เริ่มต้นตั้งแต่การฟัง ก็มีปัญญาจากความเข้าใจ และเมื่อมาฟังวันนี้เรื่องของสัมปชัญญะ ๔ รู้สึกว่าจะเกี่ยวกับสติปัฏฐานอย่างเดียว เวลาเราใช้คำว่าสัมปชัญญะ คงจะไม่เหมือนกับการใช้คำ เวลาเราใช้คำว่า ปัญญาหรือปัญญาเจตสิก มีความรู้สึกว่า ถ้าจะใช้คำว่าสัมปชัญญะ จะต้องใช้กับขณะที่สติปัฏฐานเกิดเท่านั้น แต่ในขณะที่เรียน และเข้าใจ หรือมีความเข้าใจถูกต้อง ว่าธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นอย่างไร สติปัฏฐานยังไม่เกิด ขณะนั้นเรามีปัญญาเจตสิกขั้นต่ำๆ แต่ว่าสัมปชัญญะไม่มี ใช่ไหม ยังไม่มีสัมปชัญญะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญา ที่เป็นสัมปชัญญะ ๔ ก็เป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขาดสัมปชัญญะ ๔ ไม่ได้
ผู้ฟัง การอบรมเจริญปัญญานั้น ก็จะเริ่มต้นจากการคิดนึก เริ่มต้นจากการพิจารณาก่อน ขณะนั้นสติปัฏฐานยังไม่มี คือ ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ ขณะนั้นจะเรียกว่าสัมปชัญญะ ได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ เรียกว่า ปัญญาดีกว่า
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสัมปชัญญะ จึงใช้ในขอบเขตที่จำกัด
ท่านอาจารย์ ที่เกี่ยวกับการอบรมเจริญปัญญา ภาวนา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ
ท่านอาจารย์ การควร การไม่ควร คือ สัปปายะ ก็ต้องตั้งแต่รู้การควรไม่ควร ในชีวิตประจำวันในความเป็นอยู่ เพราะว่าบางคนก็สงสัย เพียงแต่เนื้อตัวสะอาด เสื้อผ้าสะอาด จำเป็นอย่างไรในการที่จะปัญญาเกิด ก็ลองคิดในมุมกลับ แม้แต่เรื่องที่ควรจะสะอาดก็ยังไม่รู้ และจะไปรู้อะไรยิ่งกว่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของการฟังธรรม ก็ต้องเป็นเรื่องของการที่จะไตร่ตรองในเหตุในผลด้วยว่า เมื่อรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ สาตถกสัมปชัญญะ ก็ยังรู้ความควรไม่ควรของชีวิต ที่จะดำเนินไป แต่ต้องเป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา มิฉะนั้นแล้วทุกอย่างของเรา ก็กลายเป็นสัปปายะ แล้วก็ใช้คำว่า สัมปชัญญะ ก็เป็นปัญญาที่ฉลาดมาก ทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเลยก็ได้ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องเพียงเหตุผล ความเข้าใจด้วยมนสิการ ที่แยบคายเท่านั้นเอง