กิเลสที่ไม่อยากมีกิเลส


    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ เพราะที่ได้มาจากการปฏิบัติที่วัด ท่านก็บอกว่าให้ทำสมาธิ จนถึงขั้นอุปจารสมาธิ แล้วก็ค่อยถึงวิปัสสนา แต่ว่าจะต้องถอนออกจากอุปจาระก่อน ถึงจะทำคำวิปัสสนา ตอนนี้ไม่เข้าใจว่า จะทำอย่างไร ท่านบอกว่าให้พิจารณา รูปหรือนาม ก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นข้อข้องใจว่า จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถึงอุปจาระแล้วหรือ

    ผู้ฟัง ยังไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ถึง ก็ยังไม่ถอน

    ผู้ฟัง อยากจะทราบล่วงหน้า คือว่า นี้เป็นคำสอนของพระ แต่ดิฉันทำไม่ได้ถึงหรอก แต่ก็อยากจะทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบท่านสอนว่าอุปจารสมาธิ คือ อะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็บอกว่าเป็นขั้นสูงสุดของสมาธิ

    ท่านอาจารย์ แล้วสมาธิ เป็นสมาธิระดับไหนที่ทำ

    ผู้ฟัง ธรรมระดับไหน หมายความว่า

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงอุปจาระ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ดิฉันยังไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ เมื่อยังไม่ถึง แล้วเป็นสมาธิอะไร

    ผู้ฟัง ก็มี ๓ ขั้น ๑.ขณิกะ ๒.อุปจาระ และ ๓.อัปปนาสมาธิ ขั้นสูง ดิฉันก็ทำได้แค่ขั้นที่ ๑. เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ขั้นที่ ๑

    ผู้ฟัง ตามที่รู้สึกตัว กำหนดจิต นี่ก็ทำได้อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ขณิกะ มาจากคำว่า ขณะ คือขณะหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นแสดงว่า ทุกขณะมีสภาพของธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ภาษาบาลีจะใช้คำว่า สมาธิ แต่ถ้าเราใช้คำภาษาไทย เพราะว่าเราคนไทย ถ้าฟังธรรมด้วยภาษาไทยนี้ จะทำให้เราเข้าใจ เหมือนคนฟังในครั้งนั้น ซึ่งฟังด้วยภาษาบาลี ถึงจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใช้คำ ซึ่งฟังแล้วอาจจะไม่เข้าใจเลย อย่างคำว่า สมาธิ หรือสติ หรือปัญญา แต่เราคิดว่าเราเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดเป็นภาษาไทย ก็คือว่า ขณะใดที่จิตตั้งมั่น นั่นคือลักษณะของสมาธิ ที่อารมณ์ทีละขณะๆ ในขณะที่เห็น ก็จะต้องมีการตั้งมั่น มีเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสมาธิที่เป็นขณิกสมาธิ เกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรเลย และข้อสำคัญที่สุด ก็คือว่า สมาธิมี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถ้ายังไม่มีใครอธิบาย หรือบอกเราให้ทราบ ถึงความต่างกันของสมาธิ ๒ อย่าง สิ่งที่เราทำด้วยความไม่รู้ ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ คือ ผิด เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ในพระพุทธศาสนา ทรงแสดงธรรมทุกอย่างที่มีจริง แม้แต่ในเรื่องสมาธิ ที่ในครั้งโน้น บุคคลที่อบรมเจริญสมถภาวนา จนกระทั่งบรรลุถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ เป็นกุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตาม ที่ไม่มีปัญญา แล้วก็จะไปทำสมาธิให้ถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ เป็นไปไม่ได้เลย ก่อนอื่นทั้งหมดต้องด้วยปัญญา การกระทำใดๆ ทั้งหมด ถ้าไม่ทำด้วยปัญญา ก็ต้องผิด คือ ทำด้วยความไม่รู้ ปัญญาตรงกันข้ามอวิชชา เพราะว่าปัญญานั้นเป็นวิชา ต้องเป็นความรู้ แม้แต่การอบรมเจริญสมถภาวนา ก็ไม่ใช่การทำสมาธิ แต่ภาษาไทยเรา ใช้คำที่เราอยากจะใช้คำไหนก็ใช้ เวลาที่บอกว่าสมาธิหรือสมถภาวนา ก็คิดว่าเป็นสัมมาสมาธิ ขอยืมคำมาใช้ทั้งหมด สมถภาวนา แต่ถ้าเราศึกษาความหมาย สมถะ คือ ความสงบ เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าสงบ สงบจากอะไร สงบจากอกุศล

    เพราะฉะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ต้องเป็นปัญญาระดับหนึ่ง จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่สงบ เพราะว่าจิตไม่ใช่ว่าเป็นแต่เพียงชื่อที่เราเอามาเรียงไว้ในหนังสือ ว่ามีประเภทเท่าไร จำนวนเท่าไร แต่ขณะนี้เอง เป็นจิตประเภทต่างๆ ที่มีกล่าวไว้ในตำรา เพราะฉะนั้นแม้แต่จิตที่เป็นกุศล กับจิตที่เป็นอกุศล ก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมในชีวิตจริง

    เพราะฉะนั้นคนที่จะมีปัญญา รู้ลักษณะของจิต ซึ่งต่างกัน ขณะที่เป็นอกุศลก็อย่างหนึ่ง ขณะที่เป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็เรียกชื่อเอา คิดเอา คะเนเอา แต่ว่านั่นไม่ใช่ความรู้จริงๆ แต่ปัญญาไม่ใช่อย่างนั้น ปัญญา เป็นการไตร่ตรองขั้นการฟัง มีความเข้าใจ จนกระทั่งถึงระดับที่สามารถจะเกิด แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างสภาพของจิตที่เป็นอกุศล ต่างกับสภาพของจิตที่เป็นกุศล แล้วจึงจะอบรมเจริญความสงบของจิต คือ กุศล เกิดบ่อยๆ ไม่ใช่เกิดชั่วครั้งชั่วคราว จนกระทั่งสามารถที่จะสงบถึงระดับขั้นที่เป็นสมาธิ ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิ ก่อนที่จะถึงอุปจารสมาธิ

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ต้องฟัง ฟังให้เข้าใจ ก่อนที่จะทำอะไร ถ้ามีคนบอกให้ทำ โดยที่ไม่ให้เข้าใจ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ท่านก็บอกว่าทำสมาธิ ก็เหมือนกับว่า เราจะหมดกิเลสเพียงชั่วขณะ ไม่ตลอดไป แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาแล้ว เราจะพ้นจากกิเลสโดยตลอด

    ท่านอาจารย์ เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า แต่ปัญญาของเรายังไม่เกิด

    ผู้ฟัง ยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ที่จะรู้ว่าทุกข์ทั้งหมด เพราะกิเลส และกิเลส จะไม่กลัวอะไรเลย มีทางที่จะเกิดได้ตลอด เว้นปัญญาอย่างเดียว ถ้าปัญญาเกิดเมื่อไร กิเลสทั้งหลายจะเกิดไม่ได้ โลภะจะเกิดไม่ได้ แต่ถ้าปัญญาไม่มี อกุศลทั้งหลายก็เจริญขึ้นได้ แม้แต่เพียงอยากที่จะไม่มีกิเลส ขณะนั้น ก็คือ กิเลสที่อยากไม่มีกิเลส ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงเลย ว่าขณะไหนเป็นอกุศลจิต แล้วก็มีกิเลสชนิดไหนเกิดร่วมด้วย และขณะไหนเป็นกุศล และขณะไหนเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ที่ปลอดภัยที่สุด ก็คือว่า มีปัญญาของเราเองก่อน ก่อนที่จะทำตามคำบอกเล่าของใครทั้งสิ้น เหมือนอย่างที่ว่า จะชวนดิฉันไปปฏิบัติ ถ้าดิฉันบอกว่า ขณะนี้สติระลึก เข้าใจสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ แล้วจะให้ดิฉันไปที่ไหน ทำไมต้องไป ในเมื่อขณะนี้สติเกิดได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แล้วทำไมต้องไป แล้วจะให้ไปทำอะไร ในเมื่อสติเป็นสภาพที่ฟังแล้ว มีความเข้าใจ และก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องสอบถามคนที่พูด ว่าเข้าใจอย่างไร

    ผู้ฟัง ดิฉันก็อยากจะขอความกรุณาอาจารย์ว่า ช่วยกรุณาแนะนำว่า คือการปฏิบัติง่ายๆ อย่างอยู่ที่บ้าน ว่าทำอย่างไรถึงจะทำวิปัสสนาได้

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนา คือ ปัญญา ที่เห็นแจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งต้องอาศัยขั้นการฟังให้เข้าใจก่อน ปัญญาระดับนั้น ถึงจะ ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ดิฉันก็อ่านหนังสือของอาจารย์ด้วย อยากจะทราบว่าเราจะปฏิบัติตนอย่างไร เวลาอยู่บ้าน อยู่ในที่ประจำวัน ที่จะให้เรา ได้เดินทางเข้าสู่วิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ คุณวีรยุทธก็เปลี่ยนแปลงภายในหนึ่งเดือน โดยยังไม่ได้ไปสำนักไหนเลย แต่ว่าเพราะเข้าใจธรรม เข้าใจเรื่องกรรม ผลของกรรม ก็ทำให้รักษาศีล ๕ และก็ไม่ทำอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยไปปฏิบัติ ที่สำนักวิปัสสนา ก็ได้ความรู้ว่า ให้เรารู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเราจะเดิน จะนั่ง จะยืน จะนอน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็ดับ ถ้าปัญญาเข้าใจถูก ก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวเราที่เห็น แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ทุกครั้งที่เห็นก็ยังเป็นเรา ทุกครั้งที่คิดก็ยังเป็นเรา ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เป็นเรา ก็เป็นเราไปตลอด ไม่สามารถที่จะหมดการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเราได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่เป็นความต้องการ ที่จะรู้ ที่จะเห็น แต่ว่าไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร ถ้ารู้ว่าปัญญา รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ฟังจนกระทั่งเข้าใจ แล้วปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น ทำหน้าที่ของปัญญา เหมือนกับขณะนี้ จิตกับเจตสิก ก็กำลังทำหน้าที่ของจิต เจตสิก เจตสิกทุกชนิดมากมายกำลังเกิดขึ้น แต่เราไม่รู้ ไม่รู้เลย ก็เป็นเรา แต่ถ้ารู้ก็เป็นเจตสิก ไม่ใช่เรา เป็นจิต ไม่ใช่เรา แม้แต่ความรู้สึก ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา คือ ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เราทั้งนั้น ต้องค่อยๆ เข้าใจจะเข้าใจดี หรือว่าจะไปทำดีกว่า

    ผู้ฟัง อยากจะทั้งเข้าใจ และอยากทำได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้ว จะไม่ทำ มีแต่เข้าใจขึ้นๆ แล้วละความคิดที่จะทำ เพราะว่าไม่มีเราอีกเลย ที่จะทำ ยิ่งเข้าใจ ก็ยิ่งไม่มีเรา เมื่อไม่มีเรา ก็ไม่มีความคิดที่จะทำ

    ผู้ฟัง ฟังอาจารย์อยู่ ขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังต่อไป

    ผู้ฟัง อาจเป็นเพราะว่า เพิ่งจะมาเป็นครั้งแรกก็ได้

    ท่านอาจารย์ มีหลายท่านที่ฟังมาแล้วยี่สิบ สามสิบปี ก็ยังคงฟังต่อๆ ไปอีก


    หมายเลข 10049
    2 ก.ย. 2567