พระปัจฉิมวาจา
ส่วนใหญ่ในวันวิสาขบูชา ทุกคนจะคิดถึงการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพานของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ลืมคิดให้ละเอียดคำสุดท้ายไหมที่ผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปจะกล่าวถึงพุทธบริษัทหลังจากได้ทรงแสดงพระธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ๔๕ พรรษา คำนั้นจะสำคัญยิ่งเพียงใด เพราะทุกคนก็รู้ว่า เราเกิดมาแล้วเราพูดเรื่องต่างๆ มากมาย แต่พูดคำสุดท้ายก่อนจะจากโลกนี้ไปของแต่ละคนก็ต้องต่างกัน โดยเฉพาะผู้ที่ได้บำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป และได้ทรงตรัสรู้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกถึง ๔๕ พรรษาด้วยธรรม ด้วยประการทั้งปวงที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่ง
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะดับขันธปรินิพพาน ไม่มีอะไรเหลือเลยทั้งสิ้น หลังจากที่เกิดในสังสารวัฏนับไม่ถ้วน นานแสนนาน แล้วคำสุดท้าย ปัจฉิมวาจาของพระองค์จะสำคัญมากน้อยเท่าไร เพราะเหตุว่าบางคนผ่านไปเลย ได้ยินบ่อยๆ “เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลาย” เธอทั้งหลายซึ่งเป็นพุทธบริษัท “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” คือ ต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ถึงสามารถรู้ว่า แต่ละคำหมายความถึงอะไร
เพราะฉะนั้น แม้คำที่ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีการแปรปรวน เกิดแล้วดับไปเป็นธรรมดา” ก็แสดงให้เห็นว่า ลืมหรือเปล่า คือทุกคำที่ได้ฟังต้องทราบว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เกินจะประเมินค่าใดๆ ได้ เพราะเหตุว่าเป็นรัตนะล้ำค่าที่สามารถทำให้ทุกคนพ้นทุกข์ได้จนกว่าจะถึงที่สุด จนกว่าจะถึงวันที่ทุกคนตายเป็นครั้งสุดท้าย อย่างที่บำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ควรลืม “พวกเธอยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” แค่นี้ค่ะ กำลังประมาทหรือเปล่า ปัจฉิมวาจาครั้งสุดท้าย แม้แต่ขณะนี้เอง เตือน ประมาทหรือเปล่า ประมาทในการฟังพระธรรมหรือเปล่า ยังไม่ต้องไปถึงไหนเลย แม้แต่เพียงว่า จะได้ยินได้ฟังพระธรรม ประมาทในฟังพระธรรมหรือเปล่า เพราะว่าสิ่งที่ได้ยินมาในสังสารวัฏ ก็คือสิ่งที่ผ่านอากาศมากระทบกับโสตปสาท แล้วแต่ละคนไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ชาติไหน อย่างไร ก็เข้าใจคำซึ่งเป็นรัตนะอย่างยิ่งในภาษาของตนๆ
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงดับขันธปรินิพพาน แต่พระปัจฉิมวาจาก็ยังเตือน “จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” แม้ในขณะที่กำลังฟัง จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นไม่สนใจจริงๆ ฟังหรือเพียงได้ยิน ถ้าได้ยินก็ผ่านไป แต่ว่าแต่ละคำที่ได้ฟังแล้วไม่ผ่าน ไม่ประมาทในขณะที่ฟังธรรมด้วยความเคารพยิ่งในความจริงซึ่งเป็นวาจาสัจจะแต่ละคำ ไม่เผิน เพราะเหตุว่าถ้าเผินก็จะไม่ได้สาระอะไรจากพระธรรมเลย เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ เช่นคำว่า “ฟังธรรมะ” แล้วไม่รู้จักว่า ธรรมะคืออะไร ไม่รู้จักว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะที่เกิดแล้วดับ สังขารทั้งหลายมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เราก็ลืมที่จะคิดถึงขณะนี้ แต่บางทีเราก็อยากฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ในพระสูตร เรื่องนั้นเรื่องนี้มีกี่ข้อ มีเรื่องอะไรบ้าง แต่แม้คำเดียวที่ว่า “ธรรมะ” ถ้าไม่เข้าใจคำว่า “ธรรมะ” ในขณะนี้ ก็ไม่รู้เลยว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้
นี่คือไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ขณะนี้มีธรรมะ ธรรมะกำลังปรากฏ แล้วฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงของธรรมะที่มีจริงๆ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ แสดงว่าถ้าไม่ได้ฟังบ่อยๆ ก็เผินมาก ก็พูดไปตลอดชีวิตเหมือนบ่นเพ้อธรรมะ ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตาก็พูดไป แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้เอง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้เกิดแล้วดับไป กว่าจะเข้าใจได้ถูกต้องโดยไม่ประมาทที่จะรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนความจริงไม่ได้เลย กำลังฟังความจริง
เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนพระภิกษุในการแสดงธรรม ก็คือให้ตั้งใจฟัง เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตามเพียงคิดเรื่องอื่นนิดเดียว ไม่เข้าใจคำที่ได้ยินนี้แน่นอนที่สุด และไม่รู้ด้วยว่า พูดอะไร ฟังอะไร และต้องถามกันว่า เมื่อกี้ว่าอะไร บ่อยไหมคะที่ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้น หรือคนอื่นชวน
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ประมาทตั้งแต่ต้น คือ ประมาทตั้งแต่การฟังพระธรรม