เชือกโลภะ
ส. โลภะเปรียบเหมือนเชือก หรือเป็นเชือก ถ้าโลภะเกิดครั้งเดียว น้อย นิดหน่อย รู้ไหมคะว่าเป็นเชือก
ผู้ฟัง ไม่รู้ค่ะ
ส. แต่ว่าสิ่งนั้นแหละทำให้จิตใจผูกพัน ไม่ยอมพราก ทั้งๆ ที่เกิดแล้ว พอใจแล้ว ก็ยังเหนียวแน่นอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมทิ้งไป
เพราะฉะนั้น ลักษณะของความยินดีติดข้องก็เหมือนเชือกที่ผูกไว้ ไม่ยอมทิ้งสิ่งนั้น จะรู้ต่อเมื่อยินดีระดับไหนที่ผูกไว้แน่น เมื่อวานนี้ก็ผูก วันนี้หายไปหรือเปล่า ยังผูกอยู่ ยังเป็นเรื่องที่พอใจที่จะคิด หรือว่าที่จะยึดมั่น พรุ่งนี้ก็มาอีกแล้ว วันหนึ่งๆ อะไรผูก โลภะ ผูกไว้ที่ไหน ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นพอใจในสิ่งใด จะรู้ไหมว่า ถูกผูกไว้ที่สิ่งนั้น ไม่ยอมทิ้ง ไม่ยอมจากสิ่งนั้นไปเลย
เพราะฉะนั้น แต่ละคำจะรู้ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมะนั้นปรากฏ แล้วเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมะนั้น ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงเป็นสุตตพุทธะ ท่านผ่านทุกอย่าง ไม่มีข้อความใดในพระไตรปิฎกที่สงสัย เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นได้เกิดขึ้น และเป็นความจริง จนกระทั่งสามารถเข้าถึงความหมายของพระพุทธพจน์ได้ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแต่คิดเฉยๆ
อ.ธิดารัตน์ ก็คือถูกผูกในอารมณ์นั่นเอง ใช่ไหมคะ
ส. มีใครไม่ถูกผูกบ้างคะ ไม่มี รู้เมื่อไร ไม่ใช่เมื่ออ่าน แต่พอฟังแล้วเข้าใจเวลาที่สภาพธรรมะนั้นเกิด ห้ามทันไหม อย่าคิด อย่าผูกพัน ไม่ได้ ก็เข้าใจความหมายของคำว่า “ถูกผูกแล้ว” ชาติก่อนถูกผูกมาแล้ว จากอะไร รู้ไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ แล้วชาตินี้ที่รู้ได้ แต่อีกไม่นานก็ไม่ถูกผูกด้วยอารมณ์ของชาตินี้ แต่ว่าโลภะที่สะสมอยู่ในจิต ก็จะผูกต่อในอารมณ์ใหม่ของชาติหน้า
เพราะฉะนั้น ถ้าจะย้อนไป เราไม่รู้เลยว่า ชาติก่อนเราเป็นใคร แต่โลภะมีแน่นอน และโลภะที่เหนียวแน่นที่ผูกไว้อาจจะเป็นบุตรธิดา อะไรก็ได้ สำหรับพ่อแม่ ผูกไว้มั่นคงเหลือเกิน ตลอดชาติด้วย แต่พอถึงชาตินี้ ความเหนียวแน่นของโลภะยังมี แต่สิ่งที่ถูกผูกไว้ก็ต่างกับชาติก่อน
เพราะฉะนั้น ก็เห็นความไม่แน่นอน เห็นความไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาที่สามารถรู้ว่า ทุกอย่างชั่วคราวจริงๆ ค่อยๆ มีอาวุธที่จะตัดข่าย หรือที่จะออกจากข่ายได้ แต่ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วดูเหมือนว่า สิ่งนั้นผูกเราไว้แน่น แต่แน่นเพียงชาติเดียว ก็จะต้องผูกกับสิ่งที่ปรากฏในชาติต่อไป