ให้อย่างไรกันแน่
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า บุญคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจ เราก็พูดสิ่งที่เราไม่รู้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น บุญคืออะไร
ผู้ฟัง ถ้าตามความเข้าใจก็คือเขณะที่เป็นกุศลจิต
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพจิตที่ดีงาม เพราะประกอบด้วยธรรมะที่เกิดกับจิต คือ เจตสิกที่ดีงาม เพราะฉะนั้น บุญเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นความหยาบ เป็นความต้องการ หรือขณะที่ไม่อยาก ไม่ติดข้อง ไม่ต้องการ
ผู้ฟัง ถ้าเป็นบุญ ก็ไม่อยากนั่นเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างตั้งแต่ต้นว่า ขณะใดก็ตามที่เป็นบุญ ขณะนั้นจิตผ่องใส ไม่ต้องการอะไรตอบแทน แต่ว่ามีปัจจัยทำให้สามารถเกิดอโลภะ การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นการสละสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น หรือว่าต้องการได้ผลเพื่อตัวเอง นี่ก็ต่างกัน ถ้าสละแล้วจะหวังอะไรไหม
เพราะฉะนั้น มีข้อความในพระไตรปิฎก “ให้โดยไม่ผูกพัน” หมายความว่า ให้แล้วไม่หวังอะไรเลย ไม่หวังจากคนที่ได้รับเลย ไม่มีมีความผูกพันว่า จะได้รับความสนิทสนม หรือว่าจะได้รับความคุ้นเคยต่างๆ นั่นจึงจะเป็นการให้โดยไม่ผูกพัน เพราะเหตุว่าเป็นการให้ที่แท้จริง เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลนั้น และอีกประการหนึ่งบางคนให้ เพราะหวังว่าบุคคลอื่นจะเป็นพวกตน นั่นคือการให้ที่เป็นบุญหรือเปล่า หรือหวังจะได้การตอบแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากคนนั้น ขณะนั้นเป็นบุญหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ก็ต้องคิดละเอียดมากว่า ขณะนั้นเป็นการให้โดยผูกพัน แล้วจะเป็นบุญหรือเปล่า บางคนก็คิดว่า เมื่อเราเป็นผู้ให้ เขาเป็นผู้รับ เพราะฉะนั้น เขาก็ควรจะเชื่อฟังเรา คิดได้หลายอย่าง โดยที่ขณะนั้นไม่ใช่จิตใจที่ปราศจากโลภะ เพราะเหตุว่าด้วยความต้องการจึงสามารถกระทำอย่างนั้นได้ คงไม่ลืมว่า โลภะ หรือความติดข้อง มีหลากหลายตั้งแต่ต้น คือ เริ่มเกิด แล้วก็แสวงหา
เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะได้บุญ บางทีไม่มีสิ่งที่จะให้ แต่อยากได้ ก็ไปแสวงหาเพื่อจะให้ อย่างนี้เป็นอย่างไรคะ ไม่ใช่มีสิ่งใดแล้วสามารถสละความติดข้องในสิ่งนั้น เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับเท่านั้น อย่างเดียว ถ้าไม่มีแล้วไปแสวงหาเพื่อจะให้ เป็นกุศลหรืออกุศล
ข้อความในชาดกหนึ่งมีว่า “ให้สิ่งที่มี” สิ่งที่ไม่มี ไม่ต้องไปขวนขวายมาที่จะให้ ไม่มี อยากมี แล้วก็อยากให้ ก็เป็นไปด้วยความอยากทั้งนั้น แต่ข้อความในพระไตรปิฎก ในชาดก “ให้เมื่อมี” ดีไหมคะ ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องไปแสวงหา
เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดโลภะ กิริยาอาการ ความประพฤติของโลภะ จะเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นไปในความไม่ติดข้อง แต่เป็นไปด้วยความติดข้องตั้งแต่ต้น เมื่อมีความต้องการแล้วมีการแสวงหา ไม่อยู่เฉยๆ เลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีได้มาเพราะแสวงหาด้วยความต้องการ ถ้าไม่ต้องการ จะไปหามาไหม ก็ไม่หา แต่เมื่ออยากจะได้ ก็ไปแสวงหาให้ได้ ได้มาแล้วก็ชื่นชมบริโภคว่า นี่ของเรา เรามีสิ่งนี้ตามที่เราต้องการ ตามที่เราอยากได้ บางคนก็บอกว่า อยากได้อะไรก็ได้อย่างนั้น เห็นไหมคะ อยากได้อะไรก็ได้อย่างนั้น ก็ติดข้องแล้วในสิ่งที่ได้มา
เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาแล้ว ยินดีพอใจในสิ่งที่ได้ ก็เก็บรักษาไว้อย่างดีในสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือพอใจ เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า แต่ก็ยังมีโลภะอีกระดับหนึ่งที่สละ แต่ไม่ใช่ด้วยกุศล ไม่ใช่ด้วยความไม่ติดข้อง แต่สละเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แม้ว่าจะเป็นเงินทองมากมายสักเท่าไรก็ตาม สามารถสละได้ อาจจะไปคิดว่า ไปสร้างสิ่งที่ใหญ่โตมาก แต่ขณะนั้นสละสิ่งนั้นเพื่อต้องการสิ่งโน้น จึงสามารถสละได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะเป็นสภาพธรรมะที่ลึกซึ้ง ถ้าไม่ลึกซึ้ง พระผู้มีพระภาคก็ไม่ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ความจริงว่า สภาพธรรมะที่เป็นทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว และฝ่ายที่เป็นผลของฝ่ายดีฝ่ายชั่ว เกิดดับสลับกันเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะเหตุว่าเพียงเห็นเป็นผลของกรรมจริง แต่ว่ามีความติดข้องในสิ่งที่เห็นแล้ว หลังจากเห็นแล้วหมดไปหรือแม้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นยังอยู่ แต่สะสมความติดข้อง ความยินดี ความพอใจถึงเวลาที่จะเกิด เกิดเร็วมาก ทันที ยับยั้งไม่ได้เลย
นี่แสดงให้เห็นว่าต้องพิจารณาโดยละเอียด ให้รู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ใช่ตามตัวหนังสือ ไม่ใช่ตามที่ใครบอก แต่ด้วยสติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่งจึงสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมะที่ปรากฏเพียงเล็กน้อย แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น ปัญญาจะเจริญขึ้นตามลำดับ คำตอบที่เพียงถามว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่สามารถจะทำให้เข้าใจได้ถูกต้องจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงคำเท่านั้น แต่สภาพธรรมะจริงๆ ซึ่งเกิดดับ บอกไม่ได้ว่า ขณะนี้เป็นวิบาก ผลของกรรม แล้วก็เป็นกรรม คือไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า เป็นความติดข้อง หรือเป็นฉันทะพอใจที่จะได้กระทำสิ่งที่ขณะนั้นเพราะจิตผ่องใส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะใดๆ จึงสามารถเป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้คำตอบใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้คนนั้นเข้าใจได้จริงๆ เพียงแต่รับฟังแล้วก็ตาดคะเน แต่ว่าสภาพธรรมะจริงๆ เกิดแล้ว ดับแล้ว จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้น รู้หนทางว่า แม้ขณะนี้เป็นธรรมะที่เกิดดับ แต่อะไรสามารถจะรู้ได้ และอะไรไม่สามารถจะรู้ได้ อวิชชา ความไม่รู้ ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ยังไม่ถึงระดับประจักษ์การเกิดดับ ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นเพียงปัญญาขั้นหนึ่ง แต่ก็มีปัญญาขั้นอื่นซึ่งสามารถรู้ความจริงนี้ได้