ประพฤติตามที่เป็นไป


        อ.อรรณพ ประพฤติตามที่เป็นไป จะเป็นประโยชน์อย่างไร

        ท่านอาจารย์ คุณอรรณพพยักหน้าหรือเปล่าเมื่อกี้นี้ ตามที่เป็นไป ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย ปัจจัยมีพร้อมที่จะให้เป็นอย่างนั้นทุกขณะจิต เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ตามความเป็นจริงทุกย่างก้าว หรือทุกขณะที่เอื้อมไปทำอะไรก็แล้วแต่ คนที่เข้ามาในมูลนิธิ เราเดินตามหลังเขามา รู้ไหมว่า ใครเดินอยู่ข้างหน้า เห็นหลังไม่ได้เห็นหน้า แต่ว่าอยู่ข้างหลัง และเขาเดินอยู่ข้างหน้า ยังรู้เลยว่าใคร เพราะอะไรคะ ประพฤติตามที่เป็นไป จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่ แต่ละคนก็ประพฤติตามที่เป็นไป

        เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นธรรมะทั้งหมด กว่าจะกล่าวจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ เป็นธรรมะทั้งหมด ความละเอียดต้องมากแค่ไหน ที่จะไม่ลืมว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นอะไร และคิดอย่างนั้นคืออะไร แล้วยังรู้ว่า แม้จำได้ข้างหลังก็ยังรู้ว่าเป็นใคร ก็ตามที่ประพฤติ ประพฤติทุกอย่าง ทุกขณะ จะเคลื่อนไหว จะเดิน จะนั่งตามที่เป็นไป หรือตามที่สะสมมา

        เพราะฉะนั้น ตามปกตินี่แหละทำให้เข้าใจธรรมะว่า เป็นอนัตตา แต่พอไปผิดปกติ ไม่มีวันรู้ธรรมะตามความเป็นจริง

        เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้เราก็เห็น ได้ยิน คิดนึก สนทนากันสารพัดเรื่อง แล้วก็รู้ไหมว่า ขณะนั้นกำลังคุ้ยเขี่ยกิเลส ถ้าไม่สนทนากันเลย นั่งเฉยๆ กิเลสจะโผล่ไหมคะ แต่พอสนทนากัน คุ้ยเขี่ยกิเลสกันใหญ่ แล้วแต่หมกอะไรไว้มากมายแค่ไหน เห็นเลย แต่ว่าไม่เห็น กลับไปเห็นคนอื่น ทั้งๆ ที่ขณะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏกำลังคุ้ยกิเลสของแต่ละคนออกมาให้ดูว่า สะสมอะไรมามาก สะสมความเมตตา หรือสะสมความผูกโกรธ เพราะว่าบางคนบอกว่า อย่าไปพูดกับคนนั้นนะ แทนที่จะบอกว่าเป็นเพื่อน พอเป็นเพื่อนก็สงสัยอีกว่า ไหนบอกไม่ให้คบคนพาล ใช่ไหมคะ ช่างสงสัยไปหมดเลย แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจธรรมะ เมตตา คือ จะใช้คำว่า “เพื่อน” หรือจะแปลว่าอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นเป็นสภาพที่หวังดี หวังดีกับทุกคนได้ไหม เป็นโทษเป็นภัยอะไรกับการที่จะหวังดีกับใครๆ ไม่ว่าเขาเป็นใคร ไม่ได้ไปทำร้ายเลย ขณะนั้นไม่มีกิเลสที่จะคุ้ย แต่พอโกรธ อย่าไปพูดกับเขานะ เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คุ้ยกิเลสของตัวเองออกมาให้เห็นว่า หมกไว้แค่ไหน ลึกแค่ไหน ถ้าไม่มีอะไรปรากฏก็ไม่สามารถจะรู้ได้

        เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง วาจาสัจจะ เป็นประโยชน์ทุกคำ แต่ต้องไตร่ตรอง และเป็นประโยชน์มากขึ้นเมื่อรู้ว่า เป็นธรรมะฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี มี ๒ ฝ่าย


    หมายเลข 10071
    19 ก.พ. 2567