ครึ่งๆ กลางๆ


        ท่านอาจารย์ ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ใช่ทำไม่จริง ครึ่งๆ กลางๆ หรือเปล่า รู้จักว่า เพียรไม่ใช่เราหรือเปล่า เพียงได้ยินว่า เพียร ครึ่งๆ กลางๆ ไหมคะ ยังเป็นเราหรือเปล่า ถ้าถามว่า ความเพียร เพียรแล้วก็ล่วงทุกข์ได้จริงๆ ไม่ใช่ไม่จริง แต่รู้ไหมว่า เพียรไม่ใช่เรา

        ผู้ฟัง ถ้าไม่ฟังก็ไม่รู้ค่ะ

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ครึ่งๆ กลางๆ ไหมคะถ้าได้ยิน และจริงด้วย ไม่ใช่ไม่จริง เพราะฉะนั้น ธรรมะต้องเข้าใจโดยตลอดที่ไม่ลืมเลย เป็นอนัตตา ผู้ที่จะได้รับมรดกก็คือ เข้าใจความเป็นอนัตตา เพราะว่าใครก็พูดสิ่งที่จริงได้ ขยันแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่ดีแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พูดได้ แต่จะมีใครบอกว่า นั่นไม่ใช่เราเลย เป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง มีปัจจัยเกิดขึ้นตามการสะสม บังคับบัญชาไม่ได้ ทุกคนอยากดี ไม่อยากเลว ไม่อยากให้อกุศลเกิด ไม่อยากทำชั่ว แต่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพราะอะไร เข้าใจหรือเปล่าว่า ขณะนั้นที่มีลักษณะนั้นๆ แสดงความเป็นธรรมะแต่ละหนึ่งชัดเจน แต่ปัญญาไม่สามารถเข้าใจพอที่จะรู้ว่า นั่นไม่ใช่เรา

        เพราะฉะนั้น มรดกจริงๆ ก็ค การเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา เพราะว่าใครก็สอนได้ให้ขยันหมั่นเพียร แต่ว่าเป็นเรา หรือเป็นธรรมะ ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ใช่โดยตลอด บางคนก็ศึกษาพระอภิธรรม ใช้คำว่า ศึกษาพระอภิธรรม บอกได้ว่า ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป จำนวนเท่าไร แต่ก็ไปปฏิบัติธรรมะ ครึ่งๆ กลางๆ หรือเปล่า แต่ว่าไม่ได้เข้าใจเลยว่า ธรรมะอยู่ที่ไหน ความหมายของ “อภิธรรม” ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้กำลังเห็นก็ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรมะอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไปอย่างเร็วจนกระทั่งไม่เหลือ ก็ยังหลงคิด ข้องใจ หลงพอใจ หลงโกรธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่หมดไปทุกขณะ ว่างเปล่า ถ้าจิตไม่คิด ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าคิดก็คิดได้สั้นมาก คือ ชั่วขณะที่เกิดขึ้นคิดแล้วก็ดับไป

        นี่คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเหตุว่ามีผู้สามารถจะเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่สามารถจะเข้าใจได้ก็เหมือนบุตรที่ประพฤติไม่ดี ไม่มีโอกาสได้รับมรดกแน่นอน

        เพราะฉะนั้น คำจริงเป็นคำอนุเคราะห์คนที่เข้าใจผิดให้เข้าใจถูก คนที่ไม่ตรงเป็นผู้ที่ตรง เพราะว่าเป็นคำจริง ปฏิเสธได้ไหม พิจารณาไตร่ตรองถูกหรือผิด ไม่ใช่เป็นคำที่บังคับให้เชื่อหรือบอกให้ทำ แต่ให้เกิดความเห็นถูกหรือเข้าใจถูกว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงไหม คนพูดพูดอะไรก็ได้ เขาเรียกว่า อาจารย์ พูดอะไรก็พูดไป แต่ผู้ฟังมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่า พูดผิดหรือพูดถูก

        เพราะฉะนั้น ไม่มีความสำคัญว่า ใครจะเป็นครูอาจารย์หรือจะเป็นลูกศิษย์ ฟังอะไรก็ตามแต่ ความจริงเป็นความจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมะ ทรงแสดงธรรมะว่า สิ่งที่มีจริงมีจริงๆ แต่เป็นอนัตตา คำนี้เปลี่ยนได้ไหม มีความจริงอื่นจากนี้พอที่จะเปลี่ยนหรือ และในขณะที่กำลังเข้าใจ ไม่มีความเพียรหรือคะ วิริยเจตสิกเกิดแล้ว ไม่มีใครทำอะไรเลย ใครจะไปทำเพียรอีก ก็เพียรผิด

        เพราะฉะนั้น หนทางผิดมีมาก โดยเฉพาะอันตรายของการรู้ครึ่งๆ กลางๆ


    หมายเลข 10077
    19 ก.พ. 2567