มีตัวเรามาเรียนธรรม


    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ คือฟังมาบอกว่าลึกซึ้งโดยอรรถ ก็คือพระสูตร ถ้าลึกซึ้งโดยกิจ ก็คือ พระวินัย ลึกซึ้งโดยสภาวะ คือ พระอภิธรรม ทีนี้ถ้ามาคิดดู ท่านอาจารย์ ถ้าเผื่อว่าเราเรียนพระสูตร หรือเรียนพระวินัย มันก็ไม่เข้าถึงตัว สภาวธรรม เพราะฉะนั้น จะคิดไหมว่าการเรียนอภิธรรมเป็นสิ่งที่สูงที่สุด

    ส. ถ้าไม่มีธรรมะ จะมีพระสูตร พระวินัยได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ส. เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมะแล้ว ในพระวินัยมีธรรมไหม

    ผู้ฟัง มี

    ส. ในพระสูตรมีธรรมะไหม

    ผู้ฟัง มี

    . เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของธรรมที่จะต้องรู้

    ผู้ฟัง ต้องเกื้อกูลกันทั้ง ๓ ปิฎก อีกเรื่องหนึ่ง คือเวลาที่มาศึกษา คือศึกษาถึงการละไม่มีตัวมีตน แต่เมื่อ ๒ - ๓ วันนี้ ได้ยินท่านอาจารย์กล่าว ท่านอาจารย์บอกว่า มีตัวเรามาเรียนธรรมะ อันนี้เป็นจริง คือถ้าเผื่อเมื่อไรมีตัวเรามาเรียนธรรมะแล้ว แล้วเราจะมาละได้อย่างไร ขออาจารย์อธิบายตรงนี้

    ส. เรียนแล้วรู้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ค่อยๆ รู้

    ส. ก็ค่อยๆ ละ

    คุณศุกล คือฟังเรื่องตัวตน เรื่องไม่มีตัวตน ฟังแล้วก็ยิ่งงงเข้าไปอีก เพราะเหตุว่าโดยการศึกษาทราบว่า มีสภาพธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง มีจิต เจตสิก มีรูป และนิพพาน แต่พอมากล่าวโดยเรื่องของคำว่าตัวตนเป็นที่พึ่ง หรือว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ถ้าจะให้เข้าใจแล้วไม่สับสน หมายความว่าคำว่า “ตัวตน” เป็นคำที่จะใช้สื่อเพื่อความเข้าใจสำหรับการพูดการแสดงในแต่ละครั้งแต่ละโอกาส และว่าถ้าจะเข้าใจจริงๆ แล้ว ต้องกล่าวว่าไม่มีตัว ไม่มีตน จึงจะไปสงเคราะห์กับคำว่า ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่างนี้ใช่หรือเปล่าครับ ขอเรียนอนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์

    ส. ก็เป็นเรื่องอย่างที่คุณศุกลว่า เพราะว่าถ้าเราไม่ใช้คำ เราจะรู้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมะ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้คำให้เข้าใจ

    คุณศุกล เพราะฉะนั้น ก็เป็นความเข้าใจที่ควรจะต้องทราบว่า จริงๆ แล้วไม่มีตัวตน แต่เพราะความที่เรามีอวิชชา จึงยึดถือขันธ์ ๕ หรือว่าจิต เจตสิก รูปนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน อันนี้ก็เข้าใจว่าคงจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นบ้างเล็กน้อย

    แต่ทีนี้ คำว่า กุศลก็ดี อกุศลก็ดี หมายความว่าถ้าจะกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ อย่างนั้นใช่ไหมครับ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างถ้าจะกล่าวโดยการเกิดดับแล้ว ก็ไม่น่าจะไปยึดถือว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ เพราะกุศลก็เป็นจิตที่ดีงาม อกุศลก็เป็นจิตที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีคำว่า เป็นเรา เป็นเขา อะไรเลย อย่างนั้นใช่ไหมครับ

    ส. นี่เป็นเหตุที่การศึกษาธรรมะต้องละเอียดว่า กำลังศึกษาส่วนไหน ข้อความไหนในพระไตรปิฎก ถ้าเรื่องของตนเป็นที่พึ่งของตน ก็แสดงให้เห็นว่า คนอื่นช่วยเราไม่ได้อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งทรงแสดงถึงธรรมะที่เป็นที่พึ่งจริงๆ เพราะเหตุว่าจะทำให้ออกจากสังสารวัฏได้

    คุณศุกล เพราะว่าท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ในเทปคำบรรยายว่า ที่พึ่งที่แท้จริงนั้น คือธรรมะ เพราะฉะนั้น ธรรมะในที่นี้ก็ต้องเป็นธรรมะที่เรากำลัง.เรียน กำลังศึกษาอยู่ เพื่อที่จะได้ค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คำว่า “เป็นเกราะ” หมายความว่า คงเป็นเครื่องป้องกันจะได้ทำให้เราไม่เกิดความเห็นผิด แล้วก็มีการศึกษาเท่าที่พอจะเป็นประโยชน์ได้ อันนี้ก็คงจะต้องมีการฟังธรรมะต่อไปจนตลอด

    อ.นิภัทร ไม่ใช่เป็นเกราะ คุณศุกล เป็นเกาะ หมายความว่า เป็นที่ที่น้ำไม่ท่วม เกาะในที่นี้ หมายความว่า สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะน้ำไม่ท่วม ท่านถึงได้เอามาเปรียบเทียบ แบบนี้ ไม่ใช่เกราะป้องกัน แบบยันต์ แบบอะไรอย่างนั้นนะ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ คำว่าเป็นเกาะหมายถึงว่าเป็นที่ๆ น้ำไม่ท่วม สามารถจะอยู่ได้อย่างสบาย

    คุณอดิศักดิ์ เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่อย่างอื่น

    คุณศุกล คือหมายความว่า ในคำอธิบายต่อไปก็คือ ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง


    หมายเลข 10092
    22 ส.ค. 2567