เดี๋ยวนี้ อย่างนี้ เป็นปกติ


    คุณศุกล ทางตาเห็น ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ลักษณะที่ปรากฏนี้จะพิจารณาในขณะนั้น จะมีความแตกต่างจากหลงลืมสติอย่างไรบ้าง

    ส. ทำไมคุณศุกลต้องพอเป็นสติปัฏฐาน ก็ฟังธรรมะให้เข้าใจ สติไม่เกิดก็ไม่เกิด สติเกิดก็คือสติระลึก ให้เห็นเป็นธรรมดา เป็นปกติ ไม่ใช่พอไปทำสติปัฏฐาน แล้วก็ทางตาจะเห็นเป็นอย่างไร ต่างกันเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องอย่างนั้นเลย เป็นเรื่องสติปัฏฐานไม่เกิดเพราะไม่มีปัจจัย ถ้าไม่มีความเป็นตัวตนอย่างมากอย่างนี้ก็จะไม่เดือดร้อน แต่ถ้ามีความเป็นตัวตน จะไม่รู้เลยว่า ความมีตัวตนพยายาม แอบพยายามก็ได้ที่จะให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ โดยที่ว่า ทั้งๆ ที่ฟังตั้งแต่ต้นด้วยความแยบคาย หรือฟังด้วยดีว่า ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าฟังอย่างนี้จริงๆ เราก็ฟังธรรมะไปอีก ให้เห็นความเป็นอนัตตาไปอีก แล้วไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องสติปัฏฐาน ถ้าสติเกิด สภาพธรรมะขณะนี้เป็นปกติอย่างนี้ นั่นคือสติระลึกลักษณะสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏตามปกติ

    คุณศุกล เพราะว่าสิ่งที่บอกว่าเป็นปกติ ทีนี้ความที่มันไม่เคยปรากฏ

    ส. อะไรไม่ปรากฏคะ

    คุณศุกล สติปัฏฐาน

    ส. มิได้ค่ะ สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏตามปกติ ตามปกติคือเดี๋ยวนี้ ถ้าสติจะเกิด สติก็ระลึกนิดหนึ่งก็หมดแล้ว สติก็ดับ ก็เป็นของธรรมดา ให้เห็นว่าเป็นธรรมดา แต่ค่อยๆ เข้าใจว่าสติปัฏฐานไม่ใช่รู้อื่น สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏตามธรรมดาทุกอย่าง ผิดธรรมดาไม่ได้ ถ้าผิดธรรมดา นั่นคือผิด เพราะเหตุว่ามีความเป็นตัวตนที่ทำให้คลาดเคลื่อน แต่ถ้าเป็นการละความเป็นตัวตน ธรรมะกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพปกติอย่างนี้ที่ปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะระลึกได้

    คุณศุกล เวลาสติเกิดไม่มีคำว่าไกล ใกล้ ใช่ไหมครับ

    ส. นึกอะไร นึกใกล้ไกลทำไม ก็ขณะนี้สภาพธรรมะเป็นอย่างนี้ เหมือนอย่างนี้ ไม่ต้องไปนึกไกลใกล้ ไม่ต้องไปทำอะไรอีก แม้แต่ไกลใกล้ก็ไม่ต้องคิด มีสภาพธรรมะปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ

    คุณศุกล เพราะว่าตามความเป็นจริงเดี๋ยวนี้ ทราบว่าสติไม่เกิด แล้วก็เห็นปุ๊บ มันมีความคิดในระยะขึ้นมา สมมุติเห็นพระพุทธรูป ก็มีระยะขึ้นมาทันทีเลย ทีนี้จริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณ.เท่านั้น ไม่มีระยะ

    ส. ก็เป็นเรื่องยาวอีก ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางจักขุวิญญาณเท่านั้น ไม่มีระยะ แต่สภาพธรรมะจริงๆ คือเดี๋ยวนี้ อย่างนี้ ปกติอย่างนี้ ไม่ต้องมีความคิดแทรกเข้ามา ว่าปกติมีความคิดถึงระยะยาวไกล นั่นคือนึกหมดเลย แต่ขณะนี้คือสภาพธรรมะเปลี่ยนไม่ได้ เป็นจริงอย่างนี้ คือเป็นจริงอย่างนี้ และเมื่อสติระลึก คือค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ คำว่าค่อยๆ เข้าใจ นานมากกว่าจะเข้าใจจริงๆ สำหรับคนที่อบรมเจริญมาแล้วไม่ยาก ไม่นาน แต่ว่าสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ก็ต้องเป็นจีรกาลภาวนาที่ต้องอาศัยกาลเวลา

    เพราะฉะนั้น คนที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องจะเข้าใจเลยว่า สภาพธรรมะเป็นปกติ แต่การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องของกาลเวลา เพราะว่าสภาพธรรมะไม่เปลี่ยน แต่ว่าความไม่รู้มีมาก เพราะฉะนั้น ที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น เปลี่ยนจากเดิมที่ไม่รู้ ก็ต้องอาศัยกาลเวลาอย่างเดียว ไม่ใช่อาศัยอย่างอื่น เมื่อมีความเข้าใจธรรมะถูกต้อง มีสัญญาความจำที่มั่นคงในเรื่องของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ธรรมะอย่างนี้กำลังปรากฏทางตา

    นี่คือความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น

    คุณศุกล เรื่องความคิดนี้มันก็เป็นของธรรมดา แต่ว่าเวลาที่สติเขาเกิด มันจะเกิดความสงสัยว่า เป็นสติ หรือเป็นเราคิดกันแน่ ในขณะนี้

    ส. ก็เป็นธรรมะหมดเลย ซึ่งกว่าปัญญาจะรู้ตลอดรู้ทั่ว รู้หมดว่า ไม่ใช่เรา ก็เป็นจีรกาลภาวนา

    คุณอดิศักดิ์ คุณศุกลเคยได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อย่าถือนิมิต และอนุพยัญชนะ เคยได้ยินไหม

    คุณศุกล ฟังจากคำบรรยาย

    คุณอดิศักดิ์ คำบรรยายก็มี และพระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเยอะไปหมด หรือคุณศุกลชอบถือนิมิต และอนุพยัญชนะมากกว่า

    คุณศุกล คือมันจะว่าถือก็ไม่ถือ แต่สิ่งที่มันปรากฏ มันก็เกิดจากการเห็น การได้ยิน นิมิต และอนุพยัญชนะก็เกิดตามมา เพราะเป็นจิตที่ต้องคิดอย่างนั้น ก็เลยคิดว่านั้นเป็นปกติของคนที่หลงลืมสติ อย่างนี้จะพอไปได้ไหมครับ

    คุณอดิศักดิ์ ก็ต้องอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ค่อยๆ

    คุณศุกล อันนี้ก็ไม่รีบร้อนอะไร มีหน้าที่ฟังก็ฟัง พิจารณา แล้วก็มีการสอบถาม เพื่อเราจะได้ไม่คิดเองแล้วก็ผิดมาก กับฟังคำอธิบายจากท่านอาจารย์ ก็ไปพิจารณาเพิ่มเติม

    ส. ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ค่อยๆ รู้นิดหนึ่งก็คือนิดหนึ่งจริงๆ และเมื่อรู้นิดหนึ่งจริงๆ จะไปเอามากๆ แล้วก็จะให้ทำอย่างไรได้มากๆ ก็ไม่ถูกต้อง ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมะเป็นจริงอย่างไร ปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรม จนกว่าจะรู้ตรงตามปริยัติที่ได้ เข้าใจ

    คุณอดิศักดิ์ ถ้ามีการสนทนาธรรมมากขึ้นก็จะเกื้อกูล เรื่องสนทนาธรรมผมว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งทีเดียว ที่ทำให้สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามปกติในชีวิตประจำวันได้เลย


    หมายเลข 10095
    22 ส.ค. 2567