รู้จักศรัทธาแต่เพียงชื่อ
ผู้ฟัง ที่ดิฉันจะถามนี้ คือหมายความว่าลักษณะสภาพธรรมมันเป็นอย่างไร ท่านจึงบัญญัติว่า ศรัทธานำไปสู่กุศลในทุกๆ ทาง อยากจะให้อาจารย์ขยายตัวนี้ เพราะว่าตัวดิฉันเองก็อยากจะรู้ว่า เต็มใจมา ไม่มีใครไม่เต็มใจมา ที่นั่งอยู่ในที่นี้ ทุกคนเต็มใจมา ก็เรียนรู้เท่านั้นเอง พูดตามเท่านั้นเอง ว่านี่เป็นศรัทธา เรามีศรัทธา เราถึงมา ก็เลยอยากจะรู้ลักษณะที่แท้จริง ความจริงว่า ศรัทธามีลักษณะเป็นอย่างไร
ส. ก่อนที่จะศึกษาธรรมะก็เป็นตัวคุณสุรีย์ แล้วก็เป็นตัวคนโน้นคนนี้ เป็นทุกตัวทุกคน มีความเป็นตัวตน นั่นคือก่อนศึกษาธรรมะ แล้วเวลาที่ศึกษาธรรมะก็เริ่มเข้าใจว่า แท้ที่จริงที่เคยยึดถือว่าเป็นเราก็คือจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป จะไม่มีเราหรือไม่มีสภาพธรรมะใดๆ เลย
เพราะฉะนั้น ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราก็คือจิต เจตสิก รูป แต่ว่าเราไม่สามารถจะรู้ จิต แต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นว่า จิตประเภทนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร นี่ไม่ใช่ปัญญาของเรา แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง จึงทรงแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า การที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรโดยเจตสิกนี้เป็นปัจจัยโดยสถานใด เจตสิกนั้นเป็นปัจจัยโดยสถานใด เกื้อกูลอุปการะกันอย่างไรที่จะให้จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ แล้วก็ดับไป นี่คือปัญญาของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ แล้วทรงแสดง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มฟัง ก็เริ่มเข้าใจเพียงว่าปรมัตถธรรม ธรรมะที่มีจริง ก็คือจิต เจตสิก รูป จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อ จะเปลี่ยนชื่อหรืออะไรก็ตาม รู้หรือไม่รู้ก็ตาม อย่างจักขุวิญญาณ คือจิตที่เห็นขณะนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง รู้หรือไม่รู้ เจตสิก ๗ ดวงนี้ต้องเกิด ทำหน้าที่พร้อมกับจักขุวิญญาณจิต
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปรู้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เราอบรมความเข้าใจว่า ไม่มีเรา แต่ว่ามีจิต เจตสิก รูป เท่าที่สติจะระลึกจนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เราจริงๆ
เพราะฉะนั้น ที่คุณสุรีย์บอกว่า เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตในทาน ในศีล ในการฟังธรรม ไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครจะรู้หรือไม่รู้ศรัทธาเจตสิกก็เกิด โสภณเจตสิกอื่นๆ ก็ต้องเกิด เป็นเรื่องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจว่ามีจริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ลักษณะของสภาพธรรมะนั้นไม่ปรากฏ เช่น ลักษณะของศรัทธาไม่ปรากฏ เราก็ไปรู้ว่า มีศรัทธา แล้วก็ศรัทธาเกิด แต่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกที่ศรัทธา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของศรัทธาได้ ต่อเมื่อใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมะใด เมื่อนั้นจึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง ที่ดิฉันถามก็คืออยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายว่า ศรัทธา ลักษณะสภาพธรรมะเป็นอย่างไร แม้ว่าสติเราจะยังไม่ระลึกรู้ คือพูดเป็นเรื่องราว เพื่อเข้าใจไปสู่สติปัฏฐาน หรือไปรู้ตอนสุดท้าย แต่ตอนต้นควรจะทราบก่อนว่าลักษณะของศรัทธา ซึ่งทุกคนเกิดแล้ว ก่อนจะมานั่ง เขาก็ต้องมีตัวนี้แล้ว ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่มานั่ง แม้ว่าเราจะไม่ระลึกถึงลักษณะอันแท้จริง เรารู้เป็นเรื่องราวก่อนว่า ลักษณะของศรัทธา ทำไมท่านถึงแสดงว่า กุศลจิต ศรัทธาต้องเกิด ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ส. ถึงจะแสดงอย่างไร ถ้าลักษณะของศรัทธายังไม่เกิด ก็เป็นเพียงชื่อ หรือการเข้าใจโดยเงาๆ ซึ่งศรัทธาเป็นสภาพซึ่งผ่องใส ไม่มีลักษณะของอกุศลใดๆ ที่จะเกิดในขณะที่ศรัทธาเกิด ถ้ายังไม่รู้ว่าลักษณะของอกุศลจิตต่างกับกุศลจิต ก็ยากที่จะเห็นลักษณะของศรัทธา เพราะเหตุว่าทุกคนพอใจในความรู้สึกสบายๆ หรือความรู้สึกเฉยๆ ที่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่เดือดร้อน
เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า นั่นแหละคือความเบาสบาย ขณะใดที่ไม่เดือดร้อนด้วยปัญหาต่างๆ ในชีวิต ขณะนั้นก็อาจจะคิดว่าเบาสบาย หรือขณะที่กำลังเพลิดเพลิน ดูหนังดูละคร ไปเที่ยว ก็อาจจะคิดว่าขณะนั้นเบาสบาย แต่ความจริงลักษณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศล ไม่ใช่กุศล
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า ขณะใดซึ่งไม่ติดข้อง แล้วก็ไม่ได้มีการขุ่นเคือง ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ผ่องใสจากอกุศล คือ ขณะที่เป็นกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง ถ้าเกิดหงุดหงิด ขณะนั้นไม่ใช่ศรัทธา ขณะใดที่เข้าใจ ไม่ได้หงุดหงิด ขณะนั้นก็มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
อ.สมพร ศรัทธาไม่ใช่จิต คนละอย่าง ศรัทธาเมื่อเกิดกับจิตก็ทำให้จิตผ่องใส แต่พวกเราจิตผ่องใสมีระยะสั้นไม่เกิน ๗ ขณะ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าเป็นศรัทธา เหมือนเราให้ทาน ให้ทานไปแล้ว ขณะให้ ต้องเป็นกุศล ต้องเป็นกุศลก็มีศรัทธาร่วมด้วย เพราะว่ามันระยะสั้น รู้ยาก ถ้ามีปัญญาจึงจะรู้ได้ คือการที่เราจะมีปัญญาที่จะรู้ก็คือหมั่นเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ ก็สามารถที่จะรู้ว่า จิตขณะนี้ประกอบด้วยศรัทธา เพราะว่าศรัทธาไม่ใช่จิต
ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า ศรัทธามีลักษณะผ่องใส คือสงสัย บางอย่างเหมือนกับว่าเป็นศรัทธา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ศรัทธาก็ได้ ใช่ไหมครับอาจารย์
ส. เพราะเราไม่ได้รู้ตัวจริงของศรัทธา เราได้ยินแต่ชื่อ
ผู้ฟัง อย่างเช่น ยกตัวอย่างที่คุณป้าสุรีย์ยกว่า มาที่นี่บางท่านหรือส่วนใหญ่ก็ตาม มาด้วยจิตที่มีศรัทธาต่ออาจารย์ ก็อยากถามว่าศรัทธามีรูปแบบใด เพราะศรัทธามันต้องมีขอบเขตของมันว่า อะไรที่เป็นศรัทธา อย่างเช่นบางคนเขาไปกราบไหว้ต้นไม้ เขาบอกเขาศรัทธาในต้นไม้ คือใช้คำพูดอย่างนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่แท้จริงก็ เห็นว่ามันเป็นศรัทธา แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นความหลงงมงายก็ได้
เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่า การให้อาจารย์ทุกท่าน ใครก็ได้ ขยายความ คำว่า ศรัทธา เรามีขอบเขตอย่างไร เป็นศรัทธาที่เป็นกุศล
ส. ทุกคนจะเห็นความยากของธรรมะ เพราะว่าขณะนี้แม้มีศรัทธาก็ไม่เห็น ทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เป็นกุศลจิต ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ยังไม่เห็นลักษณะของศรัทธา
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมะเป็นเรื่องที่ยากที่จะเห็นได้ แม้ว่าในขณะนี้ศรัทธามี สติมี เจตสิกอื่นๆ ก็มี แต่ว่าลักษณะเจตสิกเหล่านั้น แต่ละอย่างก็ไม่ได้ปรากฏเลย แต่ถ้าอบรมเจริญขึ้น และสภาพธรรมะทั้งหลายเจริญขึ้น เห็นศรัทธาในศรัทธาของพระโสดาบัน มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย ลักษณะของศรัทธาจะปรากฏเมื่ออบรมเจริญแล้ว
เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็จะมีกุศล แล้วก็มีเจตสิกที่เกิดดับ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันที่จะรู้สภาพของกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นโสภณทั้งหลายก็ดับหมดไปแล้ว
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราพยายามที่จะไปรู้ในสิ่งซึ่งยังไม่สามารถจะรู้ได้ หรือแม้แต่เพียงเข้าใจ ที่ทรงใช้พยัญชนะว่า ศรัทธาอุปมาเหมือนกับสารส้มที่ทำให้น้ำใส น้ำก็เหมือนกับจิต สภาพของจิตที่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นสภาพที่ผ่องใส คือไม่มีอกุศลใดๆ มารบกวน หรือมาเจือปนเลย ในขณะนี้เป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้ เพราะว่าเร็วมาก แล้วก็น้อยมาก จนกว่าศรัทธานั้นจะเจริญเติบโตมั่นคงปรากฏให้รู้ได้ แม้แต่ลักษณะของสติก็เหมือนกัน พูดเรื่องสติ แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ปรากฏ เวลาที่เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ เวลาที่สติระลึกในการที่จะวิรัติทุจริต ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ เวลาที่สติเกิดที่จะมีความเมตตา แทนโทสะ ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ แต่ว่าถ้ามีลักษณะของสติมากปรากฏขึ้นลักษณะของสติก็ปรากฏได้ หรือเวลาที่สัมมาสติเกิด ผู้นั้นก็รู้ลักษณะว่า สติเป็นสภาพระลึก ไม่มีใครเลยที่จะไปทำอย่างไร ต่อเมื่อใดมีปัจจัยที่สติเกิดระลึก ขณะที่ระลึกนั่นเอง คือลักษณะของสติ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมะแต่ละอย่าง ซึ่งต้องค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่พยายามไปรีบร้อน ที่จะเป็นอย่างที่ไม่สามารถจะเป็นได้ แต่ว่าต้องค่อยๆ อบรมไป
ผู้ฟัง ขออนุญาตท่านอาจารย์ครับ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้บรรยายว่า ในขณะที่ฟังพระธรรม ในขณะที่มีความเข้าใจในพระธรรม แม้กระทั่งเล็กน้อย เราก็พอรู้สึกตัวได้นี่ครับท่านอาจารย์
ส. รู้ว่ามีศรัทธา รู้ว่าศรัทธาเป็นอย่างไร หรือคะ
ผู้ฟัง เรารู้สึกตัวว่า ในขณะนั้นที่เข้าใจก็เป็นกุศลแล้ว ใช่ไหมครับ
ส. เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะรู้เพียงเล็กน้อยว่า เป็นจิตที่เป็นกุศล เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ไปทำอย่างอื่น แล้วขณะนั้นเมื่อเป็นความเข้าใจถูก ก็ต้องเป็นจิตที่ดีงาม รู้เท่านี้แต่ไม่สามารถจะไปรู้ลักษณะของศรัทธา ของหิริ ของโอตตัปปะ ของตัตรมัชณัตตา ของสภาพธรรมที่เป็นโสภณอื่นๆ
ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของกระผมในขั้นศึกษา ถ้าหากว่าเราพูดถึง ศรัทธาเจตสิก หรือหมายถึงเจตสิกใดก็ตาม หมายถึงปรมัตถธรรม ถ้าหากว่าเราจะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นได้ ปรมัตถธรรมนั้นจะต้องปรากฏกับเราในขณะจิตใดขณะจิตหนึ่ง ในขณะใดที่ศรัทธาเจตสิกไม่ปรากฏ ในขณะนั้นเราก็ต้องรู้ความจริง ใช่ไหมครับว่า ตัวเราเอง เรามีความรู้แค่นี้ มีความเข้าใจแค่นี้ ศรัทธาเจตสิกถึงไม่ปรากฏกับเรา ครับ ท่านอาจารย์ ความเข้าใจในขั้นการฟัง ขั้นการศึกษา
ส. ก็ตอบเหมือนเดิม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น คือไม่สามารถจะรู้ก็ไม่รู้ สติไม่ระลึกก็ไม่ระลึก
คุณอดิศักดิ์ อาจารย์ถามเมื่อกี้บอกว่า ศรัทธาจะรู้ได้ตอนไหน ในขณะที่เป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา ขณะนั้นมีศรัทธาแน่นอน แต่ยังไม่เป็นอริยทรัพย์ แล้วก็ยังไม่เป็นสัทธินทรีย์ ยังไม่เป็นศรัทธาพละ แต่รู้ได้ในขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องมีศรัทธาเกิดร่วมด้วย
ส. ถ้าจะพูดเผินๆ ก่อนที่จะฟังธรรมะเป็นอกุศล กำลังฟังธรรมะเป็นกุศล เห็นศรัทธานิดหน่อย ฟังบ่อยๆ ศรัทธาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถจะมานั่งที่นี่ได้ ก็คือศรัทธา แต่ว่าตัวศรัทธาไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าความรู้ รู้ได้ว่า เราเปลี่ยนแปลงมีศรัทธาเพิ่มขึ้นโดยเพียงแต่ว่ารู้ว่า ความประพฤติทางฝ่ายกุศลมากขึ้น