สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด


    คุณอดิศักดิ์ ถ้าไม่มีใครถาม ผมมีคำถามที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ แต่ว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ คือขอประทานโทษที่ต้องออกชื่อ คือ ดร.พันทิพาถามคำถามเมื่อวันเสาร์ว่า คือ ดร.พันทิพาเป็นคนสนใจที่จะอ่านพระไตรปิฎกให้รู้เรื่อง ก็เลยตั้งคำถามนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจึงจะอ่านพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้เข้าใจ และรู้เรื่อง ท่านอาจารย์ช่วยตอบหน่อยครับ

    ส. ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณา ตามเหตุตามผลที่มีในข้อความนั้นๆ จนกว่าจะเข้าใจ อย่างจิตเป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้ แค่นี้ ฟังแค่นี้ เป็นธรรมะ แล้วก็กำลังมีจริงๆ ด้วย จนกว่าจะเข้าใจ แล้วการเข้าใจก็มีระดับขั้นด้วยว่า เข้าใจระดับพิจารณา หรือเข้าใจสภาพลักษณะที่แท้จริง

    ผู้ฟัง เรียนท่านวิทยากรที่เคารพ ทุกคนคงมีกระดาษที่เขาแจก คาถาธรรมบท ที่ระลึกจากชาววัง รู้สึกจะเป็นคาถาบทที่ ๓ สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด ในโลกนี้น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง น้อยคนนักจะไปสวรรค์ เหมือนนกหลุดแล้วจากข่ายฉะนั้น

    บางท่านรวมทั้งดิฉันด้วยฟังมาตั้งแต่ต้น ก็รู้สึกจะเหมือนคนบอด เลยเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ คำว่า สัตว์โลกนี้เหมือนคนบอด คนบอดหมายความว่าอย่างไร โลกนี้น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง เห็นแจ้งในที่นี้ คือเห็นแจ้งอะไร แล้วจะไปสวรรค์อย่างไร เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย ข่ายในที่นี้คืออะไร หลายคำถามนะคะ ดิฉันเอาคำถามแรกก่อน สัตว์โลกนี้เหมือนคนบอด คือท่านสมาชิกคะ ถ้าเผื่อท่านอ่านตาม แล้วฟังท่านอาจารย์สุจินต์จะเข้าใจ ท่านจะแปลคำว่า คนบอดออกไปอย่างไร เหมือนเมื่อกี้ที่เราฟังแล้ว ถ้าเรายังไม่ได้ศึกษาเราเป็นคนบอดอย่างไร ฟังแล้วรู้แจ้งอย่างไร เชิญเรียนท่านอาจารย์คะ

    ส. คนบอดคือคนที่ไม่รู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง ขณะนี้ทุกคนเห็น แต่ว่าไม่รู้ความจริงว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา เห็นในขณะนี้เป็นเราเห็น ตราบใดที่ยังเป็นเราเห็นอยู่ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมะ ขณะนั้นก็เป็นคนบอด ตั้งแต่เกิดจนตายหลายๆ ชาติ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว คนที่ไม่ได้เคยฟังพระธรรมเลยก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า การรู้แจ้งความจริง หรือปัญญาที่สามารถที่จะรู้จักโลกก็คือรู้ว่า โลกคืออะไร ถ้าไม่มีตาที่จะเห็น ไม่มีหูได้ยิน ไม่มีจมูกได้กลิ่น ไม่มีลิ้นลิ้มรส ไม่มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีใจที่คิดนึก โลกนี้ก็ไม่ปรากฏ โลกไหนๆ ก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น โลกก็คือทุกขณะจิตที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทุกขณะต้องมีปัจจัยเกิดขึ้น เช่นเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือไม่มีตาก็เห็นไม่ได้ ได้ยิน ถ้าไม่มีโสตปสาท การได้ยินก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจทุกๆ ขณะของชีวิต จากผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้วทรงแสดง ก็จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสภาพธรรมะที่มีจริงทีกำลังปรากฏต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น อีกความหมายหนึ่งของโลก ก็คือ แตกดับ สภาพธรรมะใดๆ ทั้งหมด ที่เกิดแล้วดับเป็นโลก มีคำ ๒ คำ ซึ่งตรงกันข้ามกันคือ โลก โล กะ อีกคำหนึ่งก็คือ โลกุตตระ หมายความว่า เหนือโลก หรือพ้นจากโลก ได้แก่สภาพธรรมะที่ไม่ได้ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่เป็นสภาพธรรมะที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ลักษณะของสภาพธรรมะนั้นคือนิพพาน ซึ่งเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมทำให้ดับกิเลสหมดสิ้น ก็ทรงแสดงสภาพธรรมะนั้นกับผู้ที่ได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจความจริงขึ้น เวลาที่เกิดความรู้ความเข้าใจ ขณะนั้นก็เหมือนกับว่า ตาค่อยมีการรักษา จนกว่าจะเห็นชัดในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง คนนั้นก็พ้นจากความเป็นคนตาบอด

    เพราะฉะนั้น ตาบอด บอดที่นี้คือไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง บอดหมายความว่าไม่มีปัญญา ทีนี้ ถ้าเห็นแจ้ง ก็หมายความว่า มีปัญญาแล้ว ทางที่จะมีปัญญาแล้ว อาจารย์มักจะพูดเสมอว่า ฝึกอบรมปัญญา ในขณะที่ฝึกอบรมปัญญา มีทางใดบ้างที่จะฝึกอบรมปัญญาให้เห็นแจ้งได้จากบอด

    ส. ไม่ใช่วันนี้ที่ทุกคนจะเห็นแจ้งได้ หรือว่าไม่ใช่การฟังครั้งแรกก็สามารถที่จะเกิดปัญญารู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แล้วก็รู้แจ้งอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเห็นพระปัญญาคุณว่า กว่าที่จะได้อมรมพระบารมีที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมะก็ต้องเป็นเวลาที่นานมาก เพราะเหตุว่าทุกคนไม่รู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏเลย แต่ว่าเมื่อมีการได้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่ ฟังแล้วไม่เกิดปัญญา แต่คำว่า “าพุทธะ” คือผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน เพราะว่ารู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นคนฟังพระธรรมจริงๆ ก็เริ่มที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แต่ว่าเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้โดยง่าย ต้องอาศัยความอดทน แล้วรู้ว่าเป็นสัจธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริงทุกๆ ขณะที่สามารถที่จะฟังเข้าใจ แล้วก็พิสูจน์ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่มีปัญญา แล้วทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นเรื่องที่สามารถจะรู้เหตุของปัญญาว่า การที่ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นแล้วมีได้โดยอาศัยการฟังพระธรรม ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่พระไตรปิฎกซึ่งสืบทอดจากพระเถระตั้งแต่ในครั้งโน้น ก็ยังคงครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่ผู้ที่มีศรัทธาแล้วก็เห็นประโยชน์ จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณได้ ด้วยการศึกษาพระธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเลยว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาอย่างไร แล้วก็ทรงแสดงธรรมอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเห็นประโยชน์ แล้วก็มีความอดทน แล้วก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ไม่ว่าจะได้ฟังอีก หรือว่าอ่านอีก ศึกษาอีก สนทนาธรรมอีกเมื่อไร ก็จะมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังได้ฟังเพิ่มขึ้น นี่คือการอบรมเจริญภาวนา หรือปัญญาซึ่งเป็นขั้นต้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น ไม่ได้อบรมไป ระดับที่เป็นปัญญาขั้นภาวนาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระธรรมจึงมี ๓ ขั้น คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ คือการฟังให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะมีเหตุปัจจัยทำให้ระลึกรู้ด้วยปัญญาค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ เมื่อไรสภาพธรรมะปรากฏตามความเป็นจริง โดยความเป็นอนัตตาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นก็เป็นระดับขั้นสูง คือ ขั้นปฏิเวธ

    เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนามีครบถ้วน ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขั้นฟัง ปริยัติ แล้วก็ขั้นอบรมเจริญปัญญาด้วยการที่ระลึกรู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งเมื่อไร ก็เป็นขั้นปฏิเวธเมื่อนั้น


    หมายเลข 10100
    18 ส.ค. 2567