นกที่หลุดจากข่าย
ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามท่านวิทยากรอีกครั้งหนึ่งว่า ที่เข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ ที่ว่าสัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด ก็คือปุถุชนคนทั่วไป ถึงแม้ว่าจะศึกษาแล้วอย่างพวกเรา ก็คิดว่า พวกเราก็ลำบากอยู่ในระดับหนึ่ง คงจะมีปัญญาที่ยังไม่ถึงขั้นเห็นแจ้ง อย่างที่ท่านอาจารย์สมพร และอาจารย์สุจินต์ว่า เห็นแจ้งนั้น คือต้องรู้ถึงอริยสัจธรรม นั้นเลย
ทีนี้พอมาถึงคาถาตอนช่วงหลัง ที่บอกว่า น้อยคนนักจะไปในสวรรค์ได้ มองดูแล้วพยายามที่จะโยงไปถึงประโยคแรกที่ว่า น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง ก็คิดว่าน้อยคนนักที่จะไปสวรรค์นี้ ก็คงจะต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คืออย่างน้อยก็คงจะต้องเป็นพระโสดาบัน เพราะว่าพระโสดาบันนี้จะไม่ไปทุคติภูมิแล้ว ไปสวรรค์อย่างเดียว เพราะว่าพระโสดาบันไม่ล่วงกรรมบถแน่นอน แล้วก็ประโยคต่อไปก็คงอาจจะช่วยเสริมว่าน้อยคนนักจะไปสวรรค์ ก็คือเหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย ฉะนั้น ก็คิดว่า คงจะพระโสดาบันซึ่งเข้าสู่กระแสแล้ว จึงเป็นนกที่หลุดจากข่ายแน่นอน ถึงแม้ว่าพระโสดาบันต้องกลับมาเกิดอีกอย่างน้อย ๗ ชาติ แต่อย่างไรก็ต้องหลุดจากข่ายแล้วแน่นอน อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่าคะ
ส. คงจะไม่สับสน คือแต่ละคำในคาถาบทนี้ เรื่องของสวรรค์เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจเหตุที่ทำให้ทุกคนเกิดในโลกนี้ ก็จะคงหมดความสงสัยในเรื่องของสวรรค์ เพราะว่าถ้าเราอยู่ในโลกนี้ เราก็เห็นโลกนี้ หมดความสงสัยในโลกนี้ ใครพูดเรื่องโลกนี้เราก็เข้าใจได้ แต่ถ้าเราอยู่ในโลกนี้ แล้วใครพูดถึงเรื่องนรก พูดถึงเรื่องสวรรค์ เพราะเหตุว่าเราไม่เห็น เราก็เลยไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า โลกอื่นมี แต่ถ้าเข้าใจสภาพธรรมะเรื่องของจิตซึ่งเป็นกุศลจิตก็มี เป็นอกุศลจิตก็มี จิตที่ดีก็มีหลายระดับ แล้วจิตที่เป็นอกุศล ไม่ดี ก็มีหลายระดับ การกระทำที่ไม่ดีก็มีหลายระดับ การกระทำที่ดีก็มีหลายระดับ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องเหตุกับผล ก็คงจะหมดความสงสัยว่า ถ้าเป็นเหตุดีก็ต้องให้ผลที่ดี และเหตุที่ไม่ดีก็ต้องให้ผลที่ไม่ดี
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเกิดในโลกนี้โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่า เป็นผลของกุศลหนึ่งที่ทำให้เราเกิดในโลกนี้ ในโลกนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ สัตว์ก็มี เพราะฉะนั้น การที่เกิดเป็นสัตว์ กับการที่เกิดเป็นมนุษย์ ก็แสดงให้เห็นเหตุที่ต่างกัน คือถ้าเกิดเป็นสัตว์ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้เกิดไม่ดี เป็นสัตว์ แต่ว่าผลของกุศลหนึ่งทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ฉันใด เวลาที่ตายจากโลกนี้ไป เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ต้องเกิดแน่ แต่ว่าจะเกิดที่ไหน จะเกิดในโลกนี้อีกก็ได้ หรือว่าจะเกิดในโลกอื่นก็ได้ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้
เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่สับสนเรื่องของสวรรค์ว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะเกิดในสวรรค์ แต่ว่าเมื่อเป็นผลของกรรมดี ไม่ว่าจะเป็นกรรมใดก็ตาม ใครผู้ใดก็ตามที่ทำ ไม่เลือกเชื้อชาติด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมะเป็นธรรมะ จิตไม่มีชาติไทย ชาติจีน จิตที่เป็นกุศลเป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร จิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร
เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุที่ดีเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดในโลกอื่น ซึ่งไม่ใช่โลกนี้ เมื่อเกิดในโลกนั้นก็หมดสงสัยอีกว่า โลกนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ ตามที่ได้อยู่ที่นั่น แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึง ก็ยังสงสัยอยู่ แต่หนทางมี หนทางที่จะไปสู่นรก หนทางที่จะไปเกิดเป็นสัตว์ หรือว่าหนทางที่จะไปสวรรค์ก็แล้วแต่กรรม
เพราะฉะนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ แน่นอนที่จะเข้าใจได้ โดยที่ว่าเมื่อพิจารณาในเหตุในผล แม้ว่ายังไม่เห็นด้วยตัวเอง