โลกของความคิดคือคิดเท่านั้น


    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามอาจารย์สุจินต์ว่า ในพระพุทธศาสนา จะมีโหราศาสตร์เกี่ยวข้องในลักษณะใดได้บ้าง เพราะว่าที่ส่วนใหญ่ ที่ชาวบ้านเข้าวัดเข้าวากัน ก็มีส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่อการดูดวง ไม่ทราบว่าสมัยพุทธกาลจะมีอย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงโหราศาสตร์ ใช้คำว่าศาสตร์ ก็หมายถึงเป็นวิชาหนึ่งซึ่งเหมือนวิชาอื่นๆ แต่ว่าต่างกับวิชาอื่นๆ ที่ว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับดวงดาว หรือว่าแล้วแต่สถิติของการศึกษา ในสมัยพระพุทธกาลก็มีดาบสที่ทำนายพระพุทธเจ้าด้วย แม้แต่ท่านอัญญาโกณฑัญญะก็เป็นผู้ที่ทำนายว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ก็คงจะมีศาสตร์อย่างนี้ตั้งแต่สมัยก่อนมาแล้ว เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพิ่งมีตั้งแต่สมัยนั้น แต่ว่าศาสตร์นี้ไม่ได้รู้เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนา แล้วก็สามารถที่จะพยากรณ์ หรือทำนายอนาคตของคนอื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ก็ไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ คนที่เป็นชาวพุทธ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เขาจะศึกษาอะไรไม่ได้ แต่ละคนมีการสะสมมาที่จะเป็นแต่ละ ๑ คน สับเปลี่ยนกันไม่ได้เลยด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ซึ่งตามความเป็นจริงก็คือโลก ๖ โลก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะคิดนึกเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นการแพทย์ การวิทยาศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ หรืออะไรแล้วก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่คิดนึก มิฉะนั้นแล้วจะหวั่นไหวมาก คิดว่าอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ได้ ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า ไม่มีความต่างกันเลยในโลกของแต่ละโลก เช่น โลกของความคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ หรือว่าวิทยาศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ ขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่กำลังคิด

    เพราะฉะนั้น จะไม่มีการเลือก หรือจะไม่มีการเกรงกลัว จะไม่มีการหวั่นไหว ขณะใดที่มีการหวั่นไหว ขณะนั้นเพราะอวิชชา ทำให้คิดว่า นี่ไม่ใช่ธรรมะ นี่ปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ว่าทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด

    เพราะฉะนั้น สำหรับคนหนึ่งๆ มีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดเรื่องอะไรตามการสะสม ตามวิชาการที่ศึกษามา ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ก็ตามแต่ หรือโหราศาสตร์ก็ตามแต่ ขณะนั้นปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ขณะที่คิดก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้คิดอย่างนั้น แล้วจิตที่คิดก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทุกอย่างของทุกคนที่เกิดมาแต่ละชีวิต ปัญญาสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งรู้ความจริงในขณะนั้นโดยไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ความจริง แล้วก็ละการยึดถือสภาพธรรมะนั้นว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าผมจะเข้าใจถูกต้องตรงประเด็นหรือเปล่าครับว่า ก่อนที่เราจะถูกท่วมทับด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ ถ้าเกิดสติเกิดก่อนหน้านั้นจะสามารถละคลายจากอารมณ์ ความพึงพอใจที่เข้ามาท่วมทับเราได้ อย่างนั้นถูกหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ จิตขณะที่ก่อนสติเกิดเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอะไร ตอนนั้นเราไม่สนใจ แต่ว่าขณะก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คะ ต้องชัดเจนว่า เป็นกุศลหรืออกุศลระดับไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นอกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิดแล้วก็ดับ ใครจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนละขณะ

    ผู้ฟัง แล้วหลังจากนั้นก็ความพึงพอใจในอารมณ์เกิด

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะเกิดขึ้นสลับกัน

    อ.นิภัทร ชีวิตประจำวัน ไม่รู้ว่าอกุศลจะเกิดท่วมทับ หรือไม่เกิดท่วมทับ ก็แล้วแต่ อกุศลเกิดท่วมทับก็เป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน เพราะอกุศลเกิดมากกว่ากุศล

    ทีนี้อกุศลเกิดท่วมทับ ถ้าเรารู้สภาพธรรมในขณะนั้น คือ อกุศลเกิดเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้แล้ว เราก็รู้ว่า อกุศลก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมะชนิดหนึ่ง มันก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ไม่ได้หมายความว่าสติมันเกิดก่อนหน้านั้นแล้วอกุศลเกิดไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ขณะใดที่จิตเป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม ถ้าเราระลึกรู้ว่า จิตเป็นอกุศลคืออย่างนี้ จิตเป็นกุศลคืออย่างนี้ รู้ชัดเจนว่า เป็นสภาพธรรมะแต่ละอย่าง ไม่เหมือนกัน มันก็เป็นความรู้ที่สภาพธรรมชีวิตประจำวันของเราตามที่เป็นจริง


    หมายเลข 10107
    27 ส.ค. 2567