ภวังค์ ทวาร วิถีจิต


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ในปัญจทวารวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนจิต อาศัยทวารแล้วก็รูป ตอนที่อารมณ์กระทบปสาท แล้วก็กระทบภวังค์ ตรงนั้นจะเป็น อดีตภวังค์ ก็ทำให้ภวังคจลนะไหว แล้วก็ ภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น ตัดกระแสภวังค์ แต่ในมโนทวารวิถี ไม่มีอดีตภวังค์ เพราะว่าไม่มีการกระทบของรูป ทีนี้ มโนทวาราวัชชนจิต จะอาศัยอะไรเกิดขึ้น ต้องเกิดแล้ว คือหมดกระแสภวังค์แล้ว

    ส. ต้องเข้าใจคำว่า มโนทวาร หมายความถึงจิตซึ่งเป็นทวารของวิถีจิต เพราะว่าถ้าเราแบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ขณะปฏิสนธิ แล้วขณะที่เป็นภวังค์ สืบต่อจากปฏิสนธิ และจุติ ๓ ขณะนี้ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นต่างหากไปจากอารมณ์ของปฏิสนธิ อารมณ์ของภวังค์

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เรานอนหลับสนิท คือขณะนั้นจิตเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ภวังค์ รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้เลย ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ใช่เสียงที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่เรื่องราวคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่แม้แต่ฝัน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อย่างเวลาที่ฝัน เรารู้ ใช่ไหมคะว่าฝัน ฝันเรื่องอะไร หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้น ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น จิตนั่นเอง เป็นทวาร แต่จิตไหน คือ จิตขณะสุดท้าย ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด เพราะว่าวิถีจิตแรกทางใจ ต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ จะไม่ใช่วิถีจิตเลย เพราะฉะนั้น จิตอื่นนอกจากจิต ๓ ขณะ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้วเป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น แม้มโนทวารวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้น ภวังค์ขณะสุดท้าย ที่เป็นที่สิ้นสุดของกระแสภวังค์นั่นเอง เป็นทวาร เป็นทางที่ให้มโนทวาราวัชชนจิตเกิด

    ผู้ฟัง ในจิตปรมัตถ์ อาจารย์ได้พูดถึงว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มีวิริยเจตสิก แต่ในมโนทวาราวัชชนจิตมี เหมือนกับว่ามโนทวาราวัชชนจิตจะอาศัยวิริยเจตสิกด้วยหรือเปล่า ถึงจะมีความเพียรที่จะเกิดขึ้น

    ส. สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ อเหตุกจิต ส่วนใหญ่ คือ ๑๖ ดวง จะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากมโนทวาราวัชชนจิตกับหสิตุปปาทจิต หสิตุปปาทจิตเป็นชวนวิถี เพราะฉะนั้น ก็มีวิริยะ แต่สำหรับมโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่ไม่ใช่สิ่งที่กระทบตา แล้วจิตเห็นก็เกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเห็น แต่ มโนทวาราวัชชนจิต คิดหรือนึก เพราะฉะนั้นจึงมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นจิตขณะแรกแล้วแต่ว่าจะคิดอะไร ชวนวิถีซึ่งเกิดต่อก็เป็นกุศล และอกุศลตามมโนทวาราวัชชนจิตที่คิดเรื่องนั้น

    อ.สมพร มโนทวาราวัชชนจิตกับโวฏฐัพพนจิต เป็นจิตประเภทเดียวกัน ท่านกล่าวว่า อาวัชชชนะ มี ๒ อย่าง คือ ๑ ปัญจทวาราวัชชน ๒ มโนทวาราวัชชน อันนี้บางคนก็ไม่เข้าใจ ไปเอาโวฏฐัพพนจิต โวฏฐัพพนจิตนั้นก็คือมโนทวาราวัชชนจิต แต่ว่าไปทำกิจทางปัญจทวาร เลยเรียกว่า โวฏฐัพพนะ ไม่ได้ทำกิจทางมโนทวาร ถ้าทำกิจทางมโนทวารเรียกว่า มโนทวาราวัชชนะ เป็นอันว่า อาวัชชนจิต มี ๒ อย่าง คือ ๑ ปัญจทวาราวัชชนะ ๒ มโนทวาราวัชชนะ

    ส. ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตามความจริง คือขณะนี้เอง เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อ แล้วใช้คำบัญญัติให้เข้าใจว่า ขณะไหนชื่ออย่างนี้ แล้วขณะต่อไปชื่ออะไร เพราะเหตุว่าทำกิจต่างๆ กัน แต่ว่าเป็นขณะนี้เอง อย่างเวลาที่ทุกคนกำลังคิด เป็นจิตชนิดหนึ่ง ไม่เห็นก็คิด ไม่ได้ยินก็คิด ไม่ได้กลิ่นก็คิด หรือว่าเห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น จิตคิดจะคิดอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มากระทบตาแล้วปรากฏให้เห็น สั้นมาก แต่ว่าโลกของความคิดจะสืบต่อแล้วก็คิดสิ่งที่ปรากฏติดต่อกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเรื่องเป็นราวซึ่งเหมือนกับเที่ยง ถาวร คิดถึงคนโน้น คิดถึงสิ่งนี้ เหมือนกับว่าไม่เกิดดับเลย แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว โลกของความคิดจะเกิดบ่อยมาก แล้วก็เวลาที่คิดควรจะได้ทราบด้วยว่า ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่ได้กลิ่น เพราะว่าอาศัยแต่ละทาง เวลาที่คิดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องเป็นจิตที่ต่างกับขณะที่ไม่คิด ขณะที่ไม่คิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติชั่วขณะหนึ่ง เพื่อต่อไปจะได้มีวิถีจิตเกิดขึ้น ก็เป็นขณะนี้เอง ขณะที่เห็น วิถีจิตที่เป็นการรู้อารมณ์ทางตาดับ ต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วต่อจากนั้นก็เป็นวิถีจิตที่ได้ยิน เมื่อดับหมดไปแล้วก็เป็นภวังคจิตเกิดคั่น แล้วความละเอียดคือว่า มีสภาพที่คิดนึกแทรกคั่นอยู่ทุกวาระที่เห็น ทุกวาระที่ได้ยิน แต่ว่าเราไม่เคยรู้เลย แล้วเราก็คิดว่าเป็นเรื่องชื่อ เป็นเรื่องยาก แต่ความจริงคือชีวิตจริงทุกขณะ แต่ต้องใช้ชื่อแสดงให้เห็นความต่างกันของจิตแต่ละชนิด

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ชวนะในวิถีทางปัญจทวาร จะเรียกว่าเป็นชวนะที่จิตนั้นคิดด้วยหรือเปล่าคะ เพราะว่ามีความรู้สึกว่า จิตในชวนะ ของปัญจทวารวิถีเขารับรู้อารมณ์หนึ่ง เช่น จิตเห็นก็รับรู้สีจากจิตดวงก่อนๆ มา ไม่ทราบว่าตรงนั้นเป็นจิตคิดด้วยหรือเปล่าคะ

    ส. ขณะนี้ที่กำลังเห็น ยังไม่ทันรู้เลยว่า ทางปัญจทวารดับไปเมื่อไร เพราะว่าขณะที่เห็นเหมือนกับว่าเห็นคน เห็นสิ่งต่างๆ ทันที เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่รวดเร็วมาก เราจะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า จิตทั้งหมดที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น ถ้าโดยความละเอียดในพระอภิธรรม ไม่ได้แสดงแต่เฉพาะจักขุวิญญาณจิตซึ่งเห็น แต่ว่าแสดงถึงจิตที่ ต้องเกิดก่อน จิตเห็น และจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดหลังจากที่เห็นแล้ว แต่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏยังไม่ดับ แสดงให้เห็นว่าสั้นแค่ไหน แล้วหลังจากนั้นถึงจะเป็นภวังคจิต แล้วมโนทวาราวัชชนจิตวาระแรกก็รู้ปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ทางจักขุทวารที่เพิ่งดับไป

    เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็แสนเร็ว แยกไม่ออก แต่ว่าถ้าโดยนัยยะของพระสูตรจะแสดงเท่าที่คนสามารถจะเข้าใจได้ คือเมื่อเห็นแล้วเกิดรักหรือชัง แล้วแต่ว่าจะเป็นวาระไหน แต่ว่าตามความเป็นจริง เพียงชั่วขณะที่ทางตาเห็นสิ่งที่ยังไม่ดับไป ขณะนั้นก็มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วแต่ว่าเป็นจิตของใคร ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามคำถามนี้ เพราะว่าเนื่องจากมโนทวาราวัชชนจิตมีกิจอยู่ ๒ อย่าง คือมี โวฏฐัพพนกิจ กับ มโนทวาราวัชชนกิจ แล้วเมื่อสักครู่อาจารย์ก็ได้ตอบคำถามกับน้องที่ว่าทำไมจึงมีวิริยเจตสิกเกิดอยู่ในมโนทวาราวัชชนจิตด้วย ก็เลยคิดไปถึงโวฏฐัพพนกิจของจิตดวงนี้ว่า ถ้าเขาเกิดในปัญจทวารวิถีจิตแล้ว ถ้าจิตในชวนะของวิถีทางปัญจทวารไม่ได้คิด โวฏฐัพพนกิจก็ไม่น่าจะมีวิริยเจตสิกด้วย ก็คิดลึกไปหน่อย แต่ว่าอยากทราบเหตุผลค่ะ

    ส. คือว่ามโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต และกิริยาจิต ทำกิจชวนะ

    ผู้ฟัง ก็เลยมีปัญหาต่อนิดหนึ่ง คือ ถ้าเป็นทางปัญจทวารแล้ว โลภะที่เกิดตรงชวนะก็จะต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ด้วย ใช่ไหมคะ

    ส. ตลอดหมด ระหว่างที่รูปยังไม่ดับ ที่ว่าจักขุทวารวิถีจิตไม่ใช่ขณะเดียว

    ผู้ฟัง โลภะมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เช่นเห็นก็คือมีรูป ถ้าจบจากปัญจทวารแล้ว มโนทวารที่เกิดต่อก็ยังมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์อีก

    ส. วาระแรก

    ผู้ฟัง แม้เป็นโลภะที่เกิดที่ชวนะตรงนี้ แต่หลังจากนั้นก็เป็นบัญญัติหมดเลย ใช่ไหมคะ

    ส. ก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง แปลกใจที่ว่า โลภะมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ด้วย

    ส. ทำไมล่ะคะ

    ผู้ฟัง ก็เขาไม่น่าจะรู้ปรมัตถ์

    ส. ไม่ค่ะ คุณบงชอบอะไร

    ผู้ฟัง ชอบสี

    ส. สีเป็นอะไร สีเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่คะ มาเรียนวิถีจิต

    ส. คุณบงชอบกลิ่นอะไร กลิ่นก็เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่หมายความว่า จิตรู้กลิ่นแล้วก็ไม่มีความชอบไม่ชอบ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์เวลาที่ได้กลิ่น ลิ้มรสแล้วก็ต้องมีโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศลจิตเกิด แต่ยากที่กุศลจิตจะเกิด


    หมายเลข 10111
    18 ส.ค. 2567