สวัสดี


        ท่านอาจารย์ พูดกันบ่อยๆ ว่า “สวัสดี” และเมื่อกี้คุณธิดารัตน์ว่าต้องการอะไรในขณะที่พูดคำว่า “สวัสดี”

        อ.ธิดารัตน์ ต้องการความสวัสดี

        ท่านอาจารย์ ต้องการความสวัสดี ดี ดี ดีๆ ทั้งนั้น ไม่ต้องการสิ่งที่ไม่ดีเลย แต่ก็ลืมว่า ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ขอให้สวัสดี โดยไม่มีเหตุที่จะทำให้สวัสดีเลย เพียงแต่ขอไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ทราบว่า สวัสดีก็คือมีแต่สิ่งที่ดีๆ ขอให้มีแต่สิ่งที่ดีๆ ก็เป็นความหวังดีของผู้พูด แต่ก็เป็นการทักทายจนกระทั่งเป็นคำธรรมดา เกือบจะไร้ความหมาย แต่เป็นเพียงการทักทายเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงความหวังดี

        เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วถ้าศึกษาธรรมะก็จะรู้ว่า ต้องมีเหตุ ไม่ใช่สามารถได้สิ่งที่ดี มีสิ่งที่ดีโดยไม่มีเหตุที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วสวัสดีก็คือว่า ทำดีซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่ดี สำหรับผู้ที่เข้าใจธรรมะ เวลาพบกัน แทนคำ “สวัสดี” หรือแม้จะใช้คำสวัสดี ความหมายก็คือ “ทำดี” ค่ะ ดีไหมคะ หมายความว่า ถ้าทำดีแล้วปลอดภัยแน่นอน ไม่มีสิ่งที่ทำให้เดือดร้อนใจด้วยประการใดๆ เลยทั้งสิ้น

        เพราะฉะนั้น บางคนพูดคำว่า “สวัสดี” โดยไม่เข้าใจ เป็นคำทักทาย แต่ถ้าเข้าใจว่า เป็นความปรารถนาให้มีในสิ่งที่ดี แต่ต้องมีเหตุ คือ ทำดี

        เพราะฉะนั้น เหมือนกับการเตือนสำหรับผู้เข้าใจธรรมะ อย่างขณะนี้ลืมอะไร หรือเปล่า เห็นไหมคะ ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา

        เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมะ สวัสดีค่ะ ก็คือทำดีค่ะ และศึกษาพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าทำดีโดยไม่ศึกษาพระธรรม ก็ดีได้เล็กๆ น้อยๆ ไม่เพิ่มขึ้น ทำดีค่ะ แล้วแต่จะใช้คำใดที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นความหวังดี เช่นบางประเทศ บางภาษาก็ใช้คำว่า อายุบวร อายุยืน อายุยืนไปทำไม ใช่ไหมคะ อายุยืนเพื่อเป็นคนชั่ว หรืออายุยืนเพื่อทำดี

        เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเข้าใจในคำที่กล่าว ไม่ใช่กล่าวคำดีๆ เป็นความหวังดี แต่ต้องมีเหตุด้วย ไม่ใช่จะมีผลโดยไม่มีเหตุ


    หมายเลข 10112
    18 ก.พ. 2567