ปัญญาเป็นหัวหน้าของบารมี
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ คำว่า “บารมี” ขออนุญาตใช้ศัพท์ก็แล้วกัน โดยอรรถจะหมายความว่าอย่างไร จะต่างกันอย่างไรกับการเจริญบารมีของปุถุชนกับการเจริญบารมีของพระโพธิสัตว์
อ.สมพร บารมีก็หมายความว่า ธรรมะที่ให้ถึงฝั่ง ฝั่งอันนี้หมายความถึงพระนิพพาน บารมี มี ๑๐ อย่าง
ส. ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือความดี ความดีทุกอย่างที่จะทำให้ดับกิเลสได้ หมายความว่าผู้นั้นต้องมีความเข้าใจว่า ถ้ายังมีกิเลสมากๆ อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่การที่จะมีปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมะจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณความดีเหมือนกับคนที่มีร่างกายแข็งแรง ก็สามารถจะเดินทางไกลได้ เพราะว่าหนทางนี้ไกลมาก จากฝั่งนี้ไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่แข็งแรง อย่างไรๆ ก็ไปไม่ไหว เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยความดี ถ้าแปลง่ายๆ ก็ความดีที่จะทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม
สำหรับความดีก็มีหลายขั้น ถ้าระดับของสาวก ก็ไม่ต้องถึงกับขั้นที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้สภาพธรรมะด้วยพระองค์เองว่า ในขณะนี้สภาพธรรมะกำลังเกิดดับ แต่ว่าผู้ที่เป็นสาวกอาศัยบารมีขั้นที่ฟังแล้วอบรม จนกระทั่งถึงกาลที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมะได้ ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่ต้องถึงระดับขั้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ทีนี้ พูดถึงบารมีทั้ง ๑๐ นี้มันก็จะต้องมีปัญญากำกับอยู่ทั้ง ๑๐ อย่าง เมื่อเป็นทั้ง ๑๐ อย่างมีปัญญา เหตุใดท่านจึงแยกปัญญาออกมาอีกต่างหากเป็น ๑ ใน ๑๐ ทำไมท่านไม่ผนวกเข้าไปใน ๑๐ อย่าง
ส. เพราะว่าบารมีอื่นเป็นบริวารของปัญญาบารมี
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อสมมุติว่า คนที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาก็บำเพ็ญบารมีไม่ได้
ส. อย่างคนที่ให้ทาน แต่ไม่มีปัญญา คือหวังผลที่ได้รับจากทาน แสดงว่าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่หวังเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ให้ไปหวังไป ให้ไปมีโลภะไป แล้วจะดับโลภะได้อย่างไร
ผู้ฟัง อันนี้ก็หมายความว่า ถ้าเราจะเห็นชัดๆ อย่างที่เขาบอกว่า พอผ่านวัดก็เจ้าประคุณ ขอให้ถูกล็อตเตอรีที่ ๑ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็คล้ายๆ กับว่าเป็นคำขอ ซึ่งคนทั่วไปก็ใช้คำว่าอธิษฐาน ซึ่งก็อธิษฐานอยู่ในเรื่องของอธิษฐานบารมี ขออาจารย์ขยายความคำว่าคำ ขอ กับ อธิษฐาน เพราะว่าส่วนมากจะใช้คำว่าอธิษฐาน ไม่ใช้คำว่า ขอ แต่พอเข้ามาอยู่ในบารมีแล้ว กลายเป็นว่าอธิษฐาน อันนี้มันจะสับสนอย่างไร
ส. อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดีเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเพื่อที่จะขัดเกลาละกิเลส
ผู้ฟัง เฉพาะทางธรรมเท่านั้น ใช่ไหมคะ ถ้าเผื่อเป็นทางอื่นเราไม่เรียกว่าเป็น อธิษฐาน
ส. อธิษฐานคือความตั้งใจมั่น ที่จะเป็นบารมีได้ ก็ต้องให้ถึงฝั่ง
ผู้ฟัง เฉพาะเรื่องของทางธรรมะเท่านั้น ใช่ไหมคะ ถ้านอกธรรมะแล้วจะไม่เรียกคำว่าอธิษฐาน ก็เป็นคำขอไป หรืออย่างไร
ส. คนที่อยากได้อะไร อยากได้มากๆ และไม่รู้เหตุผล ก็คิดว่า ขอคงจะได้ ไหว้นิดเดียว ยกมือขึ้นหน่อยหนึ่ง ขอตั้งเยอะ นั่นสมเหตุสมผลไหมคะ ขณะนั้นไม่มีปัญญา และไม่เข้าใจความตั้งใจมั่นด้วย เพียงแต่เป็นความอยากมั่น
ผู้ฟัง ถ้าความตั้งใจมั่นก็หมายความว่า นั่นเป็นความตั้งใจของผู้นั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอ่ยคำ
ส. ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน คุณสุรีย์ฟังธรรมะหลายรายการวิทยุ แล้วก็ยังถอดเทปด้วย แล้วก็ยังพิมพ์ด้วย ด้วยความตั้งใจมั่น ไม่มีใครขอร้อง แต่ว่าทำเองด้วยฉันทะที่เป็นกุศล ขณะนั้นมีความมั่นคงที่จะทำอย่างนั้น