บารมี ๓๐ ทัศ


    คุณกฤษณา กราบวิทยากรที่เคารพทุกท่าน พูดถึงเรื่องบารมี มีปัญหาที่ดิฉันขอเรียนถามต่อจากที่อาจารย์สุรีย์สักครู่นี้ เพราะว่าได้ยินได้ฟังได้เรียนมา มีคำว่า บารมี อุปบารมี แล้วก็ปรมัตถบารมี แล้วท่านก็จัดเป็นบารมี ๑๐ ทัศ ๓๐ ทัศ เท่าที่ได้ยินได้ฟังได้เรียนมา ยังเป็นแบบนี้ ยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมต้องมีคำว่า “ทัศ” ทำไม ๑๐ ไม่พอ ต้องเป็น ๓๐ แล้วมีบารมีเฉยๆ แล้วมีอุปบารมี อุปบารมีนี่จะหมายวามว่าอย่างไร ปรมัตถบารมีโดยเนื้อหาแล้วหมายความว่าอย่างไร ก็ขอกราบเรียนถาม โดยความหมาย ท่านอาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายก่อน ขอบพระคุณค่ะ

    อ.สมพร บารมี ๑๐ ทัศ คำว่าทัศ ทศ ภาษาบาลี เป็น ท ศ บอกว่า ทศ แปลว่า ๑๐ บารมี ๑๐ อย่าง ถ้าพูดเป็นภาษาไทย บารมี ๑๐ อย่าง ทีนี้ท่านพูดเป็นภาษาบาลี บารมี ๑๐ ทัศ ทัศมาจาก ทศ ใส่ไม้หันอากาศก็เป็นทัศ ทศนี้แปลว่า ๑๐ ยกตัวอย่างว่า ๑๐ อย่างนี้เป็นบารมี ถ้าหากมีกำลังกล้ากว่านี้ เรียกว่า อุปบารมี ถ้ามีกำลังประณีตที่สุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี ยกตัวอย่างสักนิด เช่นเราให้ทาน วัตถุทานภายนอกทั้งหมดเลย เรียกว่า ทานบารมี ถ้าให้อวัยวะส่วนใหญ่ส่วนหนึ่ง เรียกว่าอุปบารมี มีกำลังกล้ากว่า ใช่ไหมครับ ร่างกายเราสำคัญกว่าวัตถุภายนอก ถ้าให้ชีวิต สละชีวิตเป็นปรมัตถบารมี นี่ยกตัวอย่าง เกี่ยวกับทาน อย่างสั้นๆ นะครับ

    คุณกฤษณา ถ้าบาลี ทศ แปลว่า ๑๐ ทำไหมเราต้องมาเพิ่มว่า ๑๐ ทัศ เหมือนกับว่า สิบ สิบ ตั้ง ๒ ครั้ง อย่างนี้ น่าจะพูดว่าบารมี ๑๐ หรือ ๑๐ อย่างก็คงจะเพียงพอ

    อ.สมพร นั่นเป็นภาษาพูดต่อๆ กันมา เราก็ไม่รู้อรรถที่ลึกซึ้ง เขาพูดกันมาอย่างนั้นก็ พูดกันไปอย่างนี้ แท้จริงบารมี ๑๐ อย่าง ทศ แปลว่า ๑๐

    คุณกฤษณา สรุปว่า บารมีธรรมดาก็ในระดับธรรมดา แล้วก็อุปบารมีก็เป็นบารมีที่มีกำลังแรงกล้าขึ้น แล้วก็ปรมัตถบารมีก็เป็นบารมีที่มีกำลังประณีตยิ่งที่สุด ทีนี้อาจารย์สุรีย์ถามว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี จะเป็นบารมีประเภทไหนประเภทธรรมดา หรือว่าอุปบารมี หรือว่าปรมัตถบารมี

    อ.สมพร ทั้ง ๓ อย่างเลย พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ทั้ง ๓ อย่างเลย เช่น ให้ทานให้ทรัพย์นับประมาณไม่ได้ไม่รู้ว่ากี่แสนโกฏิ ทรัพย์ภายนอกซึ่งเป็นทานบารมี แล้วสละอวัยวะให้เป็นทาน ก็นับประมาณไม่ได้ ให้ชีวิตเป็นทาน สละชีวิต สละชีวิตเป็นทานในพระสูตรก็กล่าวไว้มาก ยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง ครั้งหนึ่งพระองค์เห็นเสือมันหิวจะกินลูก ตอนนั้นพระองค์เป็นดาบสก็พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร ถ้าหากว่าขาดอาหารก็วุ่นวาย จะกินแม้ลูกตัวเอง พระองค์ก็ให้พระสารีบุตรซึ่งเป็นดาบสด้วยกัน ออกอุบายให้ไปหาเศษอาหาร หากระดูกอะไรๆ ให้สัตว์ ให้เสือกิน เมื่อดาบส คือว่าพระสารีบุตรเกิดเป็นดาบส ไปแล้ว ท่านก็กระโจนลงไปสละชีวิตของท่านให้เป็นอาหารของเสือ สละชีวิตให้เป็นทาน

    คุณกฤษณา ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์สุจินต์ มีคำแนะนำอะไรเกี่ยวกับบารมี ๓ อย่างนี้ไหมคะ ขอความกรุณาให้ความรู้ด้วย

    ส. ค่ะ ก็คือว่า ความดีเป็นสิ่งที่ควรอบรมให้มีมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่าดีแล้ว หรือพอแล้ว เพราะว่าดีเท่าไรก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น คนที่จะเป็นคนดี ถ้ารู้ว่าบารมี ๑๐ มีอะไรบ้าง แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาตัวเองได้ว่า แต่ละอย่างเรามีพอหรือยังหรือว่ามากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไร เรื่อยๆ เพิ่มขึ้น

    คุณกฤษณา โดยที่ไม่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะบำเพ็ญอุปบารมี ปรมัตถบารมี ไม่ต้องมีเป้าหมายอย่างนี้ ใช่ไหมคะ

    . นั่นเป็นเรื่องความคิด ถึงเวลาจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกันเลย แล้วแต่สภาพธรรมะขณะนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศลอย่างไร

    คุณกฤษณา ขอบพระคุณค่ะ


    หมายเลข 10122
    18 ส.ค. 2567