อฐิษฐานคือความตั้งใจอย่างมั่นคง


    ผู้ฟัง ท่านวิทยากร ผมมีคำถาม ๒ คำถาม คำถามแรกเกี่ยวกับเรื่องอธิษฐานบารมี เมื่อพิจารณาแล้วเป็นเรื่องของความตั้งใจมั่นคง จริงๆ แล้วอธิษฐานบารมีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมเกิด ถ้าฟังอย่างนี้ ก็ค่อยข้างที่จะเกิดข้อสงสัยสำหรับกระผม เพราะว่าเวลากระทำการอะไรสักอย่าง อยากจะบอกเทวดาบ้าง อยากจะบอกพ่อแม่บ้าง อยากจะบอกใครต่อใครบ้างที่มีอยู่แล้วในภูมิที่กระผมเกิดอยู่ตรงนี้ ก็บอกว่าให้ท่านช่วย อะไรก็แล้วแต่ชี้แนะ หรือดลบันดาลอะไรต่างๆ เหล่านี้ ลักษณะอย่างนี้ก็ตั้งใจที่จะขอจากท่าน รู้ว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำขึ้นก็คือทำด้วยตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นอาการหนึ่งที่กระทำไปพร้อมกับความตั้งใจ อาทิเช่นยกมือขึ้นกราบพระแล้วก็นึกระลึกถึงท่านบ้าง หรือว่ากรวดน้ำบ้าง ต่างๆ เหล่านี้เป็นประเพณี อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า เป็นประเพณี หรือว่ามันเป็นส่วนประกอบอันหนึ่งในการที่จะทำให้เกิดความตั้งใจมั่น หรือเจตนามั่น ในการที่จะอธิษฐานทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ

    ส. อันนี้ต้องเข้าใจว่า ความตั่งใจมั่นในขณะที่กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล เป็นตอนหนึ่ง เป็นกุศลประการหนึ่งที่จะให้คนอื่นได้เกิดกุศลอนุโมทนา คนละเรื่อง แต่ว่าเวลาที่แต่ละคน เช่นการฟังธรรม ไม่ต้องอธิษฐานเลย แต่เราก็มีความมั่นคงที่จะฟัง หรือว่าคนที่เขาบอกว่า อธิษฐานขอให้ได้พบพระธรรมที่ถูกต้อง ตอนนั้นเขายังไม่พบ แต่เขามีความตั้งใจมั่นที่จะได้พบพระธรรมที่ถูกต้อง แต่เวลาที่พบแล้วยังต้องอธิษฐานต่อไหมคะ หรือว่าคุณวีระก็ได้มาสู่พระธรรม คุณวีระเคยอธิษฐานไว้ก่อนหรือเปล่า หรือว่าไม่เคย แต่ความตั้งใจมั่นในกุศลก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีโอกาสถึงกาลที่จะได้ยินได้ฟังธรรมะ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำพูด แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการขอ แต่ว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะรู้ว่ามีความมั่นคง แม้ว่าไม่พูดแต่ว่ามั่นคงในการที่ทุกคนศึกษาธรรมะ บางท่านก็ศึกษามาก บางท่านก็ฟังมาก บางท่านก็มีความต้องการที่จะเข้าใจโดยการสนทนากัน ก็เป็นความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมะโดยที่ไม่ต้องอธิษฐาน พอตื่นขึ้นมาก็ยกมือไหว้อธิษฐานขอให้ได้ฟัง หรืออะไรอย่างนั้น ก็ไม่ต้อง ใช่ไหมคะ แต่ความตั้งใจมั่นมีอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง คือเดิมคิดว่า ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าเราแสดงออกด้วยทางกายด้วยแล้วมันแสดงถึงความมั่นคงของเรา อันนั้นก็ไม่ประกอบด้วยเลย อย่างนั้นหรือ

    ส. บางคนขอเก่ง ขอเสร็จแล้วก็ไม่ทำ ก็มี ขอแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจมั่นอย่างที่ขอ ก็มี แต่คนที่แม้ไม่ขอแต่ทำ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าอันไหนที่จะมั่นคงกว่ากัน

    ผู้ฟัง ก็คงเป็นท่านที่ทำ อีกคำถามหนึ่ง ก็คือเกี่ยวกับเรื่องประเพณี การเชื่อถือ ที่อาจจะเป็นประเพณีที่เราสืบเนื่องต่อๆ กันมา อย่างอาทิเช่นการที่จะทำพิธีอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นสิริมงคล อาทิเช่น การวางศิลาฤกษ์อย่างนี้เป็นต้น ในประเพณีของผม คงจะไม่กล้าพูดว่า เป็นประเพณีของไทย แต่ว่าประเพณีที่ถือสืบๆ ต่อกันมา จะมีดูวันที่ ดูเวลาที่เหมาะสม ถ้าเผื่อเวลาไหนที่เหมาะสม ก็บอกว่าเอาละตรงนี้เป็นฤกษ์ดี เป็น การที่จะต้องกำหนดพิธี กำหนดที่จะทำพิธีอย่างนี้วันนี้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าสมมุติว่าเกิดเป็นเรื่องของความที่จะเชื่อถือในสิ่งที่ถูกหรือในสิ่งที่ผิด เรื่องของสีลัพพตปรามาส ความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องคือเชื่อในพระธรรมซึ่งมีสภาพจริง กับเรื่องที่จะทำตามประเพณีแล้ว จำเป็นหรือไม่ครับ ที่เราจะต้องระวังเรื่องของประเพณีให้ถูกต้องกับเรื่องของการศึกษาพระธรรม

    ส. เรื่องของเหตุผล ถ้าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นฤกษ์ดี ไม่ต้องคอยว่าพรุ่งนี้จะดี แต่ถ้าดีขณะนี้ก็เป็นฤกษ์ดี จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นกุศล ที่คุณวีระพูดถึงเรื่องฤกษ์งามยามดี อย่างเรื่องของการวางศิลาฤกษ์ ที่มูลนิธิกำลังสร้างอาคาร แล้วก็ใกล้ๆ กับวันวิสาขะ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ คิดว่าถ้าได้วางศิลาฤกษ์ในวันวิสาขะ ก็จะเป็นปัจจัยให้หลายๆ คนเกิดกุศลจิต น้อมระลึกถึงคุณของพระธรรม น้อมระลึกถึงคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังคงอยู่ซึ่งมีผู้ที่ศึกษา แล้วก็ทำงานเพื่อการเผยแพร่คำสอนให้คนอื่นได้เข้าใจ ได้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่หมายความว่า เพื่อที่จะถือฤกษ์ถือยามอย่างพราหมณ์ หรือคิดว่าถ้าไม่ใช่วันนั้น เวลานั้น เดือนนั้น แล้วละก็คงจะไม่ดี เพราะเหตุว่าหลายคนที่หาฤกษ์ต่างๆ แต่ว่าไม่ได้สำเร็จตามฤกษ์นั้นเลย หรือว่าในบั้นต้นดี แต่ตอนท้ายก็ไม่ดีได้ เป็นไปตามกรรมทั้งหมด แต่ในการซึ่งเราจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องมีเหตุผลว่า ถ้ามีการวางศิลาฤกษ์ในวันวิสาขะ หลายคนคงจะมีจิตน้อมระลึกถึงวันที่พระผู้มีพระภาคทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มิฉะนั้นแล้วคำสอนนี้จะไม่มีเลย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่หลายๆ ก็คงจะเกิดกุศลจิต ไม่ใช่ว่าต้องไปถือฤกษ์ถือยามอย่างอื่น


    หมายเลข 10123
    18 ส.ค. 2567